วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 01:37 น.

ภูมิภาค » คอลัมน์

แวดวงทรัพยากรธรรมชาติ

ประเสริฐ ตะระสาน : วันพฤหัสบดี ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2563, 10.24 น.

แวดวงเกษตรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วไทย

ข่าวแรก…นายวราวุธ  ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมการดำเนินการเพื่อสนับสนุนศูนย์ป้องกันและเฝ้าระวังภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโดโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีหัวหน้าส่วนราชการในสังกัด ทส. เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับมาตรการเตรียมความพร้อมการรับมือและควบคุมการระบาดของ COVID-19 โดย คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปิดสถานบันเทิง สนามมวย โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานศึกษา อาบอบนวด สนามม้า โรงภาพยนตร์ และสถานที่ที่มีการรวมกลุ่ม ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 50 คนขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และมากกว่า 100 คนในเขตต่างจังหวัด สำหรับแนวทางในการดำเนินงานตามภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม พิจารณาตามความเหมาะสม อาจมีการทำงานโดยการเหลี่อมเวลา การประชุมโดยใช้วีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ หรือการทำงานจากที่บ้าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องมีผลงานและตัวชี้วัดการทำงานที่ชัดเจนและมีความก้าวหน้า การดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเบิกจ่าย เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อพัฒนาสังคมและกระตุ้นเศรษฐกิจ ขอให้ดำเนินงานตามความเหมาะสมและมีศักยภาพ
เรื่องดีๆ...นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดงานมหกรรมยางพาราภาคใต้ “เปิดประตูสู่เมืองยาง นวัตกรรมนำการผลิต” ณ ลานเอนกประสงค์ สำนักงานเทศบาลตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า กระทรวงเกษตรฯ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางตลอดมา จะเห็นได้จากการออกมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ โครงการประกันรายได้ และการร่วมมือกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันสินค้ายางพารา อีกทั้งยังส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าของยางพารา โดยการแปรรูปไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นเครื่องมือสร้างมูลค่าให้กับยางพาราอันจะส่งผลถึงการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วยคณะทำงานฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม โดยในส่วนของกรมป่าไม้ นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล รอง อปม. นายคงศักดิ์ มีแก้ว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยการจัดการป่าไม้ นายสุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการส่งเสริมการปลูกป่า และผู้แทนสำนักที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม อธิบดีกรมป่าไม้ มอบแนวทางการทำงานของคณะทำงานฯ ว่าต้องทำงานโดยยึดผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับเป็นสำคัญ พร้อมทั้งไม่ให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ต้องช่วยกันพิจารณาจัดทำข้อตกลงด้วยความรอบคอบ พิจารณาองค์ประกอบการทำงานให้ครบทุกมิติ และดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้คณะทำงานพิจารณาการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเรื่องการกำกับดูแล และอำนวยความสะดวกให้มีการดำเนินการด้านอุตสาหกรรมไม้ทั้งระบบ ตั้งแต่การเพาะชำ การปลูก การดูแล ไปจนถึงการตัด การแปรรูป และการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ที่รัฐอนุญาตให้ใช้ประโยชน์
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนายอภิชัย เอกวนากุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และนายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 นำคณะลงพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังและร่วมพูดคุยเพื่อหารือกรณีพบคราบน้ำมัน บริเวณหาดหน้าด่าน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีผู้นำชุมชน และผู้ประกอบการโรงแรม เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้น พบคราบน้ำมัน ซึ่งสาเหตุเกิดจากน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วจากเรือขนส่งสินค้าและเรือประมง ไหลผ่านลงมาบริเวณพื้นที่ดังกล่าว จึงทำให้เกิดคราบน้ำมันเกยตื้น ทั้งนี้ กรม ทช.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมกับให้คำแนะนำและสั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการหามาตรการจัดการคราบน้ำมัน เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งต่อไป
 
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า การจัดกิจกรรมปล่อยคาราวานรถบรรทุกน้ำ ก็สืบเนื่องมาจากเมื่อปลายปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2563 มีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เคยตกเป็นปกติถึง 1,500 มิลลิเมตรต่อปี จะมีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเพียง 800 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น และปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว จำนวน 22 จังหวัด ซึ่งจังหวัดอุทัยธานีก็เป็น 1 ใน 22 จังหวัดดังกล่าว ที่กำลังประสบกับปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดสรรงบประมาณให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี รวม 52 แห่ง หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะมีประชาชนได้รับประโยชน์รวม 400 ครัวเรือน หรือ 1,190 คน มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 300 ไร่ และจะมีปริมาณน้ำต้นทุนรวม 1,170,300 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
ปิดท้ายข่าว...นายศักดิ์ชัย จงกิจวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และ ควบคุมไฟป่า (หน.หน่วยพญาเสือ) เข้มทำตามนโยบายของผู้บริหารระดับสูง ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่บุกรุก ยึดถือครอบครอง เผาทำลายป่า โดยเปิดยุทธการปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายป่าไม้ การบุกรุก ยึดถือครอบครอง เผาทำลายป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อย่างเฉียบขาด โดยมี นายจงคล้าย  วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้เดินทางมา ควบคุมการปฎิบัติการและลงพื้นที่ด้วยตนเอง ขอปรบมือดังๆให้ครับทั่น
 
 
ประเสริฐ  ตะระสาน
Prasert_tarasan@yahoo.com