วันเสาร์ ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 13:28 น.

กีฬา » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันศุกร์ ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 10.32 น.

การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี (Montessori)

การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี (Montessori)

 

ดร.ปทุมรัตน์  สีธูป

ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 2

การพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ ถือเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่สำคัญ โดยเฉพาะการเรียนในช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงชั้นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทุกประเทศนั้น ต่างให้ความสำคัญ ยิ่งในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ที่การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นสิ่งสำคัญที่สถานศึกษาหรือระบบการการศึกษาของแต่ละประเทศต้องให้ความสำคัญ การศึกษาที่ดีนั้น จะต้องเป็นการศึกษาที่มุ่งที่การพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิต และขีดความสามารถของผู้เรียนที่เมื่อจบการศึกษาแต่ละระดับไปแล้วนั้น จะสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตได้ ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เหล่านี้ เป็นคุณลักษณะที่ที่ผู้บริหารการศึกษาทุกระดับต่างให้ความสำคัญ

แต่ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ภายใต้ความทันสมัยที่เป็นพลวัตทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขณะนี้ ส่งผลให้ผู้บริหารสถานศึกษาในระดับปฐมวัยในปัจจุบันกำลังถูกท้าทายในการขับเคลื่อนการศึกษาของชาติในมิติที่หลากหลายและเป็นการท้าทายศักยภาพในการเป็นองค์กรการศึกษาที่เป็นแกนกลางในการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพของคนในสังคมไทย ที่ถือว่ามีความยากลำบากค่อนข้างมาก หากมองในด้านบุคลากร การบริหารจัดการด้านการศึกษาด้วยเทคนิคและนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนการได้รับงบประมาณในการมาดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก ที่อยู่ในการดูแลของเขตการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศขณะนี้

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 2 ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในทุกมิติ ดังนั้น จึงได้ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะการเรียนการสอน ผ่านโครงการและกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นกึ่งการเรียน และการทำ workshop โดยนำเทคนิคและวิธีการในการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี(Montessori) มาจัดเป็นกิจกรรมเสริมแก่บุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 2  กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกจากสนุกและได้รับความรู้เต็มอิ่มแล้วยังจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาการเรียนการสอนแก่ครูผู้สอนและผู้เรียน ได้ในระยะยาวอีกด้วย

สำหรับโครงการการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี(Montessori)เป็นกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะและยกระดับความสามารถการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ ด้วยเทคนิคและแนวคิดมอนเตสซอรี่ให้มีศักยภาพในการเป็นเครื่องมือหรือเป็นรูปแบบในการเรียนรู้แก่เด็กๆ เยาวชนในกลุ่มการเรียนประถมวัยให้มีศักยภาพเพียงพอและเป็นกลยุทธ์ในการสร้างการเรียนรู้แก่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่น่าสนใจหลายข้อ อาทิเช่น เป็นโครงการและกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์มีความรู้ความเข้าใจการจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัยตามแนวคิดมอนเตสซอรี่เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถวางแผนพัฒนาการจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัยตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ตลอดจนเพื่อให้ครูผู้เข้ารับการอบรมฝึกปฏิบัติบทเรียน 4 หมวด ผลิตสื่ออุปกรณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่สามารถนําความรู้ไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ได้ที่น่าสนใจคือลักษณะหรือรูปแบบการจัดการประชุม มีการบรรยายให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ มีการปฏิบัติการจัดทำแผนและนำเสนอแผนพัฒนาการจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัยตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ ตลอดจนได้มีโอกาสในการฝึกปฏิบัติบทเรียนสาธิตการนำเสนอบทเรียนผลิตสื่ออุปกรณ์

ผู้จัดประชุมมีความคาดหวังว่าผลการดำเนินกิจกรรมนี้ จะสามารถสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจ การจัดประสบการณ์ระดับปฐมวัยตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนำหลักสูตรมอนเตสซอรี่สู่โรงเรียนบทบาทหน้าที่ของครูที่จัดประสบการณ์ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่แนวคิด หลักการ ทฤษฎี การสอนแบบมอนเตสซอรี่หลักสูตรการสอนแบบมอนเตสซอรี่การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่การจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมและบทบาทหน้าที่ของครูที่สอนมอนเตสซอรี่และคุณลักษณะเด็กโดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะสามารถพัฒนาการสอนระดับปฐมวัยด้วยการสอนแบบมอนเตสซอรี่ มีรายละเอียดหลายอย่าง อาทิเช่น เริ่มจากการสังเกต ศึกษาพัฒนาการของเด็กแต่ละคนการสอนแบบมอนเตสซอรี่จะไม่เน้นการเรียนรู้แบบท่องจำการสอนจะเน้นการเล่น หรือการทำกิจกรรมเป็นหลักโดยการให้เด็กเลือกทำกิจกรรมต่างๆที่หลากหลายตามความสนใจและตามวุฒิภาวะของเด็กที่แตกต่างกันจัดทำอุปกรณ์ที่หลากหลายตามความสนใจและตามวุฒิภาวะของเด็กที่แตกต่างกัน

แนวการสอนแบบมอนเตสเซอรรี่ จะใช้วิธีการที่เริ่มจากการเรียนรู้แบบรูปธรรมไปสู่รูปแบบนามธรรมอุปกรณ์มอนเตสซอรี่สามารถนำมาใช้ได้หลายรูปแบบช่วยควบคุมตัวเด็กในการทำงานการจัดเก็บอุปกรณ์จะต้องมีพื้นที่เฉพาะสำหรับวางอุปกรณ์ช่วยส่งเสริมให้เด็กรู้จักการเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ร่วมกัน

หลักการสอนของมอนเตสซอรี่นี้ จะเห็นได้ว่า เด็กได้รับการยอมรับนับถือซึ่งตามหลักการแล้ว ครูผู้สอนควรจัดกิจกรรมพัฒนาให้เด็กแต่ละคนตามความสามารถ และพัฒนาการความต้องการตามธรรมชาติของเด็กในแต่ละช่วงวัยจิตซึมซับเด็กมีจิตแห่งการหาความรู้ที่เปรียบเสมือนฟองน้ำ โดยเด็กจะซึมซับเอาข้อมูลต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมเข้าไปในจิตของตัวเองช่วงเวลาหลักของชีวิต เด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของการพัฒนาด้านสติปัญญาและจิตใจ ในช่วงเวลานี้ เด็กควรมีอิสระในการเลือกกิจกรรมที่ตัวเองสนใจการเตรียมสิ่งแวดล้อม เด็กจะได้รับการพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุดจัดสภาพแวดล้อมที่มีความพร้อมอย่างมีระบบและมีจุดมุ่งหมายไปตามขั้นตอนโดยมีสื่ออุปกรณ์มอนเตสซอรี่เป็นตัวกำหนดขอบเขตในการทำงานการศึกษาด้วยตัวเอง เด็กได้รู้จักเรียนรู้ระเบียบวินัยของการอยู่ร่วมกันภายในสังคม และมีอิสระในการทำงาน รู้จักเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบ และมีความภาคภูมิใจต่อความสำเร็จในการทำงาน จนทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในตัวเองการวัดประเมินผล คุณครูในชั้นเรียนจะเป็นผู้ประเมินผล โดยใช้วิธีการสังเกตและวิเคราะห์เด็กเป็นรายบุคคลสังเกต จดบันทึก และวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้เรียน

จุดเด่นของการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ ประกอบด้วยเทคนิคที่น่าสนใจ หลายอย่างเช่น  เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เหมือนบ้านคุณครูเป็นผู้ให้การสนับสนุน ให้คำปรึกษา และกระตุ้นให้เด็กคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองใช้จิตซึมซับกับสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความสนใจความต้องการของเด็กในการเรียนรู้ยึดความแตกต่างระหว่างบุคคล และส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระจัดสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ให้เด็กได้ฝึกทักษะด้านกลไกผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าเพราะจะช่วยให้เด็กรู้จักควบคุมการทำงานด้วยตัวเองจัดพื้นที่ว่างสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อที่เด็กจะได้นั่งทำงานทั้งบนเก้าอี้และบนพื้นเพราะเด็กจะได้มีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการจัดเก็บหรือวางอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบการจะใช้อุปกรณ์แต่ละชนิด คุณครูจะต้องเป็นผู้สาธิตการใช้อุปกรณ์ให้เด็กดูก่อน

หลักการที่สำคัญที่สุดของการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ สำหรับเด็กปฐมวัย คือ คุณครูต้องคำนึงถึงความต้องการของเด็ก ปลูกฝังให้เด็กเจริญเติบโตตามความต้องการตามธรรมชาติ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างอิสระเมื่อเด็กได้รับผลสำเร็จตามความต้องการ จะทำให้เด็กเกิดความพึงพอใจ มีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ คือการเน้นฝึกปฏิบัติจริงและการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมจะส่งผลดีต่อครูผู้สอนและผู้รับผิดชอบในชั้นเรียน คือครูสามารถนำไปปรับปรุงใช้ในโรงเรียน  คือ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสอนแบบมอนเตสซอรี่ทั้งในภาคทฤษฎีและได้ฝึกปฎิบัติทุกขั้นตอน ทั้งหมด 4 หมวดการเรียนรู้คือ หมวดชีวิตประจำวัน หมวดประสาทรับรู้ หมวดภาษา หมวดคณิตศาสตร์ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตสื่อ ลงมือผลิตสื่อ การจัดเตรียมสื่อ จัดหาสื่อในท้องถิ่นของตนเอง และการนำสื่อไปใช้กับเด็ก  ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเป็นหมวดหมู่ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเรียกชื่อกิจกรรม อุปกรณ์ วัตถุประสงค์ และขั้นตอนการสอนแบบมอนเตสซอรี่อย่างละเอียด

สำหรับสิ่งที่คุณครูจะเริ่มต้นทำที่โรงเรียน นั้น จะสามารถดำเนินการวางแผนร่วมกับทีมผู้สอน อาจจะให้การเริ่มต้นที่ตัวครู ซึ่งต้องกลับไปทบทวนบทเรียนที่ได้เรียนรู้ตามคู่มือจากการอบรมฯ ได้แก่ ปรับเปลี่ยนตนเอง เตรียมความพร้อม ฝึกซ้อมตนเองก่อนเปิดเทอม เพื่อเตรียมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่ ครูกลับไปสำรวจห้องเรียนวางแผนการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมในห้องเรียนให้เหมาะสมกับการสอนแบบมอนเตสซอรี่ครูเตรียมจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนและเตรียมสื่ออุปกรณ์ให้พร้อมเพียงพอกับความต้องการของเด็กในการจัดห้องเรียนและการจัดการเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่ประชุมผู้ปกครองให้ความรู้1และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการปรสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดมอนเตสซอรี่

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการศึกษาไทย จะได้มีโอกาสเห็น การนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ไปส่งเสริมคุณลักษณะที่สำคัญแก่เด็กๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ตนเอง (Self-education / Auto-education) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเข้าใจตนเองในการเลือกวิธีการเรียนรู้ เป็นผู้ใฝ่รู้ ช่วยให้เด็กสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี เพราะหลักสูตรมอนเตสซอรี่ออกแบบโดยการเลียนแบบชีวิตจริงการเรียนด้วยความสุข เพราะเป็นจัดการเล่นปนเรียน สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กการที่เด็กได้เข้าสังคมกับเพื่อน ให้เด็กที่มีความแตกต่างกันเรียนรู้ที่อยู่ร่วมกัน ให้ความช่วยเหลือกัน เพราะการเรียนแบบจัดกลุ่มเด็กหลายอายุ รวมกลุ่มกันการเรียนที่มุ่งให้เด็กทำกิจกรรมจนสำเร็จด้วยตนเอง ไม่มีการแข่งขันเปรียบเทียบ การที่เด็กจะรู้สึกท้าทายตนเอง ไม่เครียด ไม่เบื่อหน่ายการเรียนการที่เด็กมีสมาธิจากการทำงาน จิตเด็กสงบไม่กระวนกระวาย จะเป็นเด็กอดทน ใจเย็นและมีความสุขจากงานจะเจริญเติบโตตามธรรมชาติ เพราะการสอนแบบมอนเตสซอรี่ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาหลักของชีวิต การเจริญเติบโตทั้งทางสติปัญญาและจิตใจได้รับพลังอย่างเหมาะสม เกิดทักษะได้อย่างดี เช่น การเรียนรู้ภาษา การนับ การจัดของอย่างมีระเบียบ การขึ้นลงบันได เป็นต้นการมีบุคลิกภาพที่ดี คือ เป็นผู้กล้าคิดและตัดสินใจด้วยตนเอง เป็นผู้ที่รู้จักการแก้ปัญหาด้วยตนเอง เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นผู้รู้จักเข้าสังคม มีทัศนคติเชิงบวก และเป็นผู้มีสติปัญญาเหมาะสมตามวัยเด็กมีทักษะการเรียนที่จะเข้าสู่ระดับประถมได้ดี เพราะได้รับการเตรียมตัวจากหลักสูตรมอนเตสซอรี่ที่ครอบคลุมทางด้านประสบการณ์ชีวิต ด้านประสาทสัมผัส และทางด้านวิชาการคือ การอ่าน การเขียนและคณิตศาสตร์เด็กมีความเข้าใจธรรมชาติ เพราะได้รับการฝึกการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต เขาจะมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติเด็กจะรู้จักคิดสร้างสรรค์ เพราะได้รับการส่งเสริมการคิดอย่างอิสระและการได้รับการยอมรับนับถือจากผู้ใหญ่

โดยการขับเคลื่อนโครงการนี้ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ปรึกษาโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญทางการศึกษา ท่านได้ให้เกียรติเดินทางไกล มาเยี่ยมให้กำลังใจผู้เข้ารับการอบรมและท่าน ดร.วีรยุทธ  ภูเขา ผู้อำนวยการศึกษานิเทศก์สพป.อุทัยธานี เขต 2 ต่างก็ให้ความสำคัญและเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งนอกจากจะเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรทางการศึกษาที่เข้าอบรมในครั้งนี้แล้วยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและจิตวิญญาณของความเป็นครูให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เป็นการอบรมและทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยความอบอุ่น ตลอดจนจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้และสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเป็นคนดีแก่เด็กๆ ได้มากและจะเป็นโครงการที่มีความยั่งยืนต่อไปๆด้วย

หน้าแรก » กีฬา » คอลัมน์