วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 19:02 น.

สัมภาษณ์

ผู้การฯไอทีแนะเทคนิคสุดง่ายตรวจสอบ “แก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์”

วันอังคาร ที่ 08 มีนาคม พ.ศ. 2565, 12.43 น.

 

ทำยังไงดี ? เมื่อถูก "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" โทรมาหลอกให้โอนเงินเพื่อแลกกับการช่วยเหลือคดี ฟังแนวทางป้องกันการเสียรู้จากปาก พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) แนะนำให้รู้เทคนิคการตรวจสอบย้อนกลับ รู้ทันกลโกง รู้ทันวิธีการของขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อจะได้ไม่เสียทรัพย์ไปแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์

 

พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ตอท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “บ้านเมืองออนไลน์” กับสถานการณ์มิจฉาชีพในรูปแบบ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ที่กำลังออกอาละวาดหลอกลวง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากมาย โดยมีรูปแบบต่างๆการหลอกลวง ทั้งสร้างสถานการณ์ให้เหยื่อเกิดความตื่นตระหนกหวาดกลัว หรือเข้าใจผิดว่าได้รับผลประโยชน์บางอย่าง อาศัยความกลัว ความโลภ ทั้งการทวงหนี้นอกระบบ ทั้งพัสดุมียาเสพติด หรือหลอกเหยื่อพัวพันคดีความต่างๆ ดังนั้นเราต้องรู้เท่าทันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

ถาม - เวลาได้รับสายโทรศัพท์เบอร์แปลกๆที่คิดว่าเป็นของมิจฉาชีพเราควรจะทำอย่างไรดี

ตอบ - กลโกงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะมีหลากหลายวิธี เมื่อมีสายแปลกๆโทรเข้ามาควรรับสายไปก่อนเพื่อรู้ว่าใครโทรมา ถ้าเป็นคนที่เรารู้จักหรือคนที่ต้องการติดต่อกับเราจริงจะได้ไม่พลาดสายสำคัญ แต่ถ้าเป็นมิจฉาชีพโทรเข้ามาบอกว่าเราไปพัวพันการกระทำความผิดต่างๆเราจะได้รู้ตัว เพราะความจริงเวลาเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงจะต้องติดต่ออย่างเป็นทางการ โดยใช้หมายศาลหรือหมายอะไรต่างๆ แต่รูปแบบของคนร้ายก็อาจมีการใช้หมายศาลปลอม ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือเราต้องตรวจสอบย้อนกลับว่าเราสามารถติดต่อเขาได้ไหม หลักการที่ทำให้แก๊งมิจฉาชีพแพร่ระบาดต้องทำความเข้าใจว่า เขาใช้เทคโนโลยี VoIP : Voice over Internet Protocol เป็นเทคโนโลยีสำหรับการสื่อสารทางเสียงผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือโครงข่ายอื่นๆ ที่ใช้อินเตอร์เน็ต โดยปกติแล้วการใช้งานอินเตอร์เน็ตจะเป็นการใช้สัญญาณข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับการใช้งานของ VoIP นั้นเป็นการประยุกต์โดยนำเอาสัญญาณเสียงรวมเข้ากับสัญญาณข้อมูล เพื่อส่งผ่านไปยังระบบ ซึ่งเป็นการติดต่อหาเราทางเดียว แต่เราไม่สามารถติดต่อกลับได้ด้วยเบอร์เดิมที่โชว์ทางโทรศัพท์มือถือ การตรวจสอบที่ดีที่สุดตอนนี้คือ การตรวจสอบย้อนกลับ เมื่อมีสายแปลกที่เราไม่รู้จักโทรเข้ามาลองรับไว้ก่อน แล้วแกล้งตัดสายทิ้งก่อนโทรกลับตามเบอร์ที่โชว์ในมือถือ หากมีคนรับสายเป็นคนเดิมพูดคุยกับเราก็สามารถยืนยันได้ว่าเขามีตัวตนเป็นเบอร์โทรศัพท์ที่แท้จริง ไม่ใช่มิจฉาชีพที่ใช้เบอร์ที่มาจากอินเตอร์เน็ต หรือ VoIP เป็นวิธีการที่เราตรวจสอบได้ตลอดเวลา

 

ถาม - ควรทำอย่างไรเพื่อช่วยทางตำรวจในการสืบสวนสอบสวนจนถึงขั้นตอนการจับกุมได้

ตอบ – เราควรขอเลขบัญชีธนาคารที่เขาพยายามให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบความบริสุทธิ์ ซึ่งรูแบบของมิจฉาชีพส่วนมากจะอ้างว่ามีหมายศาล มีหมายจับ สร้างสถานการณ์ให้เราโอนเงินแลกการช่วยเหลือในคดี เมื่อเรารู้แล้วว่าเป็นการหลอกลวงแทนที่เราจะไปต่อว่า เราก็แสร้งทำเป็นเชื่อตามที่เขาบอก ถามเขาว่าจะให้โอนเงินที่ไหน หมายเลขบัญชีอะไร เมื่อได้เรียบร้อยเราแกล้งตัดสายทิ้ง แล้วโทรกลับไป แต่ถ้าติดต่อไม่ได้ เราก็จะรู้ทันทีเป็นแก๊งมิจฉาชีพ แต่สักพักเขาจะติดต่อกลับมาอีกที เราก็บอกว่าพยายามโอนแล้วแต่โอนไม่ได้ มีหมายเลขบัญชีอื่นอีกไหม พยายามขอหมายเลขบัญชี หลายๆบัญชี เป็นการช่วยชาวบ้านคนอื่นที่เขาโดนหลอกแล้วโอนเงินเข้าตามหมายเลขบัญชีพวกนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้สามารถไประงับยับยั้งบัญชีพวกนี้ได้ก่อนที่จะมีคนโดนหลอกเพิ่มเติม ซึ่งบัญชีธนาคารต่างๆเหล่านี้จะเป็นบัญชีที่มิจฉาชีพไปจ้างเปิด ไม่ใช่บัญชีของคนร้ายตัวจริง แต่คนร้ายจะใช้บัญชีพวกนี้ในการโอน E-Banking เมื่อเราเข้าใจหลักการก็จะรู้ว่าวิธีหลอกล่อเอาข้อมูลทำอย่างไร วิธีการตรวจสอบย้อนกลับจะทำอย่างไร ถึงแม้ยังไม่มีการโอนเงิน ก็สามารถแจ้งความเอาผิดได้ เพราะการกระทำความผิดลักษณะนี้จะเข้าข่าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) เพราะการที่คนร้ายใช้การปลอมแปลงคอมพิเตอร์ ก็เข้าข่ายความผิดแล้วแม้ไม่ได้รับทรัพย์สินไปจะแตกต่างเรื่องของการฉ้อโกง
 

 

ถาม - ถ้าหลงเชื่อโอนเงินให้มิจฉาชีพไปแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคืออะไร

 ตอบ - สำหรับประชาชนหลงเชื่อโอนเงินให้มิจฉาชีพไปแล้ว สามารถแจ้งความทางกับตำรวจไซเบอร์ ได้ที่ thaipoliceonline.com จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะประสานไปกับทางเครือข่าย ซึ่งในอดีตเราให้ทางผู้เสียหายไปที่ธนาคารอายัดบัญชีเอง แต่ปัจจุบันเรามีการทำเอ็มโอยูกับทุกธนาคาร เมื่อผู้เสียหายแจ้งมาก็จะทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ถึงธนาคารทันทีทำให้การอายัดบัญชีมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ทำให้คนร้ายไม่สามารถโอนเงินข้ามบัญชีได้ หากต้องการถอนอายัดต้องไปแสดงตัวตนกับทางธนาคาร แต่ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นบัญชีที่ซื้อมา ต้องยอมรับว่าขณะนี้บัญชีม้าระบาดเยอะมาก เพราะประชาชนที่ไม่มีรายได้ ยอมขายบัญชี เบอร์โทรศัพท์ เพื่อแลกเงินจำนวนหนึ่งไปจับจ่ายใช้สอย ทำให้การแก้ปัญหาตรงนี้ให้หมดไปเป็นไปได้ยาก วิธีการคือเราจะทำอย่างไรไม่ให้คนร้ายนำบัญชีพวกนี้ไปใช้ได้ เบื้องต้นเมื่อรู้ว่าเป็นบัญชีที่รับจ้างเปิดก็จะระงับช่องทางการเดินบัญชี แต่ยังไม่อายัดเพื่อให้มายืนยันตัวตนอีกครั้งหนึ่ง เช่น เราไปเจอเบาะแสตามหน้าเว็บ มีการขายบัญชีม้า แทนที่เราจะไปอายัดเงิน ที่อาจเข้าข่ายไปละเมิด แต่การระงับช่องทางสามารถทำได้ทันที เพราะธนาคารมีเงื่อนไขการใช้งานว่าแบบไหนสามารถระงับช่องทางทางออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางที่เราทำ

 

ถาม - มิจฉาชีพส่วนใหญ่ได้เบอร์ติดต่อเรามาจากช่องทางใดทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัว

ตอบ - มิจฉาชีพได้เบอร์ติดต่อมาจากช่องทางใดนั้น มีหลายวิธีการ อันแรกที่ง่ายที่สุดคือ ซื้อมาจากเว็บที่มีการแฮ็กข้อมูลนำมาขาย ซึ่งประเทศไทยเราถูกแฮ็กจำนวนหลายครั้ง และมีข้อมูลรั่วไหลจำนวนมาก การไปซื้อข้อมูลจากพวกนี้จะทำได้โดยง่ายไม่ยาก ส่วนที่สองจะมีการซื้อจากบริษัทต่างๆที่มีการขายเพื่อเอาไปทำโฆษณา แต่คนร้ายนำไปใช้ในการหลอกลวง ประเด็นที่สามเป็นเรื่องที่คนร้ายใช้เทคนิคในการดึงข้อมูลจากเราโดยที่ไม่รู้จักกันเลย เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทุกวันนี้ไม่โทรมาหาเราโดยตรง แต่จะใช้วิธีการ สุ่มเบอร์โทร ใช้ในลักษณะอัดเทปไว้ อาจระบุว่า ไปรษณีไทยมีพัสดุส่งไม่ถึงท่านกรุณาติดต่อกลับ หรือไม่ก็เปลี่ยนรูปแบบเรื่องราวไปเรื่อยๆเพื่อล้วงข้อมูลของเรา เมื่อรับสายก็จะให้กดหมายเลขที่ระบุไว้ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ สมมุติโทรหา 1,000 คนโทรกลับ 100 คนก็จะได้เหยื่อ 100 คนแล้ว และสิ่งแรกเมื่อเหยื่อโทรกลับไปก็จะขอทราบหมายเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ชื่อ นามสกุล เพื่อจะตรวจสอบว่าอยู่ในรายการที่เท่าไหร่ นี่คือวิธีการหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว หลังจากได้ข้อมูลตรงนี้ก็จะเริ่มเข้าสู่ขบวนการในการหลอกลวงเราต่อว่ามีพัสดุของเราเป็นของผิดกฎหมาย ตอนนี้เจ้าหน้าที่ได้มีการออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว และจะโอนสายให้คุยกับเจ้าหน้าที่ต่อเป็นกระบวนการที่ทำกันอย่างเป็นระบบ

 

ถาม  - สาเหตุที่แก็งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนักในช่วงนี้เพราะอะไร

ตอบ - ต้องยอมรับว่า องค์ประกอบในการกระทำความผิด เมื่อเราไม่สามารถจับผู้กระทำความผิดที่อยู่ในต่างประเทศได้ คนร้ายก็ย่ามใจ แม้เจ้าหน้าที่รู้ว่าคนร้ายอยู่ประเทศไหนก็จับไม่ได้ นี่คือปัญหา ดังนั้นคนร้ายจึงกระทำความผิดซ้ำไปเรื่อยๆ และคนไทยที่ไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็ชอบอ้างว่าถูกหลอกลวง แต่ต้องมาพิสูจน์ว่าถูกหลอกลวงจริงไหมหรือตั้งใจจะไปทำงานกับแก๊งมิจฉาชีพพวกนี้ แต่พอจะกลับประเทศไทยก็อ้างว่าตัวเองถูกหลอก จึงต้องมีการเก็บประวัติบุคคลเหล่านี้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำงานนี้แล้วถูกช่วยมาแล้วกี่ครั้ง หากถูกช่วยมาแล้วหนึ่งครั้ง แต่กลับไปกระทำความผิดซ้ำแต่อ้างว่าถูกหลอกซ้ำควรจะต้องฟ้องดำเนินคดี จะทำให้คนไทยไม่กล้าไปเป็นแก๊งมิจฉาชีพ เพราะเราดำเนินคดีเขาด้วยแม้เราจะดำเนินคดีตัวการใหญ่ไม่ได้ ซึ่งคนพวกนี้เมื่อไปแล้วไม่ใช่ทำงานได้เลย ต้องมีทักษะในการหลอกลวงพูดจาหว่านล้อมเหยื่อ ต้องฝึกฝนมีความเชี่ยวชาญ ส่วนอ้างว่าถูกบังคับโดยการทุบตีให้ทำตามน่าจะมีน้อยมาก เชื่อว่ามีเงินเป็นสิ่งจูงใจในการทำงานมากกว่า สำหรับตัวการใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศไม่สามารถจับดำเนินคดีได้เลย เพราะประเทศนั้นๆไม่ยอมส่งกลับมา ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหา ที่บอกจะไปประชุมทวิภาคีเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้เชื่อว่าไม่ได้ เพราะทางประเทศนั้นๆได้ประโยชน์ไม่มีอะไรเสียหายสำหรับเขา จึงทำได้แค่แจ้งไปประเทศนั้นให้เขาดำเนินการลงโทษเอง

 

ถาม – มีการนำ AI มาช่วยปราบปราบปรามได้หรือไม่ อย่างไร ???

ตอบ - ตอนนี้ยังไม่ได้มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ เพราะเราต้องมีข้อมูลจำนวนมาก คนไม่สามารถตรวจสอบได้ต้องใช้ AI มาช่วยดำเนินการแทนเรา ณ ปัจจุบันเรายังไม่มีข้อมูลมาเชื่อมโยงกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาวิเคราะห์ อย่างประเทศจีนที่เขาใช้ AI เพราะเขามีข้อมูลมากมายมหาศาลคนวิเคราะห์ไม่ไหว ซึ่งวันนี้เรามีสเต็ปแรกคือการรับแจ้งความออนไลน์ ตามนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อประชาชนแจ้งเข้ามาข้อมูลยังไม่มาก เจ้าหน้าที่ก็สามารถแยกแยะได้ เพราะข้อมูลจาก thaipoliceonline จะนำข้อมูลมาชนกัน ทั้งเบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคาร ซึ่งข้อมูลตรงนี้เพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์ว่าผู้เสียหายโดนคนร้ายคนไหนหลอก อย่างไรก็ตามหลังการเปิด thaipoliceonline.com มีผู้เสียหายแจ้งความวันละกว่า 300 คดี ซึ่งถือว่าเยอะ และหากเราไม่สามารถปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์พวกนี้ได้ เชื่อว่าจะมีผู้เสียหายเยอะกว่านี้หลายเท่า นอกจากนี้ทางศาลยุติธรรมยังมีการช่วยเหลือรับฟ้องคดีแพ่งผ่านทางออนไลน์ http://www.coj.go.th ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของทางออนไลน์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ของไม่ตรงปก สามารถแจ้งผ่านทาง http://www.coj.go.thได้เลย

 

ถาม - มีอะไรอยากเตือนสติฝากถึงพี่น้องประชาชนที่กำลังตกเป็นเหยื่อบ้าง

ตอบ - อยากให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน หลักคิดสำคัญที่ตัวเองจะไม่ให้โดนหลอก คือ การโอนเงินไปให้ใครเพื่อตรวจสอบความบริสุทธิ์ไม่มีแน่นอน ใครโทรมาบอกแบบนี้เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์แน่นนอน ไม่ต้องคิดเลยว่าเป็นเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีการใช้กระบวนการนี้แน่นอน และต้องคิดว่าการที่เราจะโอนเงินไปให้ใครที่ไม่รู้จักมีโอกาสที่จะโดนหลอกสูงมาก ดังนั้นเมื่อเราไปรู้จักใครในโลกออนไลน์ห้ามโอนเงินให้โดยเด็ดขาดทุกกรณี แม้จะเป็นคนที่เรารู้จัก เราก็ต้องตรวจสอบย้อนกลับตลอดว่าเป็นคนที่เราต้องการโอนจริงหรือไม่ ถ้าติดต่อไม่ได้ วิดีโอคลอเห็นหน้าไม่ได้ ไม่มั่นใจในตัวตนคนนั้น ห้ามโอนเงินโดยเด็ดขาด ขอเตือนถึงพวกที่รู้จักเป็นแฟนกันทางออนไลน์ ห้ามมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะโอกาสโดนหลอกลวงสูงมาก สำหรับการซื้อของผ่านทางออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ขอให้มีหลักคิดว่า หากซื้อของจากเฟซบุ๊กต้องระบุตัวตนได้ ขอเบอร์โทรศัพท์แล้วโทรกลับไปพูดคุยอัดเทปไว้เป็นหลักฐาน