วันพฤหัสบดี ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:25 น.

การเงิน หุ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

วันอังคาร ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.41 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ณ ระดับ 33.05 บาทต่อดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา รวมถึงช่วงวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของตลาดการเงินฝั่งไทย เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 32.81-33.15 บาทต่อดอลลาร์) สอดคล้องกับทิศทางการเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ของเงินดอลลาร์ ที่ยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนเมษายน ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่า เงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากการรีบาวด์ปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถรีบาวด์ขึ้นได้เกิน +100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม โดยราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากการเข้าซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาดแถวโซนแนวรับ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะ จีน

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยออกมาดีกว่าคาดบ้าง กอปรกับภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น จากที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า 

 

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตา ผลการประชุมเฟด (FOMC) และผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) พร้อมทั้ง รอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

 

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

 

ฝั่งสหรัฐฯ – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมเฟด (FOMC) แม้ว่าในการประชุมครั้งนี้ เฟดอาจยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.25-4.50% ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการปรับมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด จากทางประธานเฟด Jerome Powell ในช่วง Press Conference นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ เพื่อประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ในปีนี้ พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

 

ฝั่งยุโรป – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเราคาดว่า BOE อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.25% เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจอังกฤษ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษก็ทยอยชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE มีโอกาสราว 70% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม 4 ครั้ง ในปีนี้  

 

 

ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในเดือนเมษายน ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Caixin Services PMI) ที่จะเน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง พร้อมทั้งรอประเมินผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) ในเดือนมีนาคม ว่าจะยังสอดคล้องกับแนวโน้มวัฏจักร Virtuous Wage-Growth ที่จะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน หรือไม่ ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยหนุนให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ หาก BOJ คลายกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ทางฝั่งมาเลเซีย บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.00% เพื่อรอประเมินผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ 

 

 

ฝั่งไทย – แม้เราจะประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนเมษายนจะชะลอลงสู่ระดับ -0.1%y/y (-0.1%m/m) ตามการปรับตัวลงของราคาพลังงานเป็นสำคัญ ทว่า อัตรา

 

เงินเฟ้อ “ติดลบ” ดังกล่าวจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และยังไม่ได้สะท้อนถึงภาวะเงินฝืด ทั้งนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อที่อาจต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายก็อาจทำให้ ธปท. มีเหตุผลในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติม สำหรับ แนวโน้มเงินบาท เราประเมินว่า แม้เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นจนทะลุโซนแนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่การแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอบ้าง และเงินบาทก็เสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up โดยในสัปดาห์ 6-9 พฤษภาคม เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ส่วนเงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนบ้าง ตราบใดที่ตลาดยังเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงและทยอยคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวหนัก อนึ่ง ควรจับตาทิศทางราคาทองคำและการเคลื่อนไหวของบรรดาสกุลเงินเอเชีย อย่าง เงินหยวนจีน อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับเงินบาทในระดับที่สูงในระยะสั้นนี้ ในเชิงเทคนิคัลนั้น เงินบาทจะยังไม่กลับมายังอยู่ในแนวโน้มการอ่อนค่า ตราบใดที่เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following ทั้งนี้ แนวรับของเงินบาท (USDTHB) ได้ขยับลงมาแถว 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 32.50 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวต้านสำคัญจะอยู่ในช่วง 33.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์)

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาท ในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา อาจชะลอลง เปิดโอกาสให้เงินบาท (USDTHB) เสี่ยงทยอยอ่อนค่าลง “Sideways Up” ท่ามกลางแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งเงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนอยู่ ทว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจเพิ่มแรงซื้อสินทรัพย์ไทยได้ อย่างไรก็ดี ควรจับตาทิศทางราคาทองคำและสกุลเงินเอเชีย อาทิ เงินหยวนจีน อย่างใกล้ชิด

 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าต่อได้ ตราบใดที่ตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง และเฟดยังคงย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย อีกทั้งไม่ได้แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนัก อนึ่ง ควรระวังความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ที่อาจกดดันเงินดอลลาร์ได้

 

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.75-33.35 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.05 บาท/ดอลลาร์