วันเสาร์ ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:15 น.

การเงิน หุ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”

วันพฤหัสบดี ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.20 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”
 

       

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ  33.21 บาทต่อดอลลาร์

       

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 33.18-33.48 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการทยอยรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด กอปรกับผู้เล่นในตลาดยังมีความหวังต่อแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) จนเข้าใกล้โซนแนวรับสำคัญ หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาทองคำก็ขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ เพิ่มเติมในช่วงนี้ 

        

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันบ้างจากแรงขายหุ้นกลุ่ม Healthcare ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากมาตรการควบคุมราคายาของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นำโดย Nvidia +4.2%, Tesla +4.1% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.72% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.10%

       

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.24% แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะได้อานิสงส์จากความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกกดดันจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาผสมผสาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปในช่วงที่ผ่านมา อย่างกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม LVMH -2.2% นอกจากนี้ ความกังวลผลกระทบจากมาตรการควบคุมราคายาของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้กดดันให้หุ้นกลุ่ม Healthcare ยุโรป ต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นกั

       

ในส่วนตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้ ท่ามกลางความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 4.54% โดยเราคงคำแนะนำเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวได้ (เน้น Buy on Dip) โดยเฉพาะในช่วงโซนสูงกว่า 4.50%  

       

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามทิศทางการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ก็ดูเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 101 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.4-101.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) ดิ่งลงกว่า -1.6% สู่ระดับ 3,185 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งเป็นโซนแนวรับของราคาทองคำในช่วงนี้  

       

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึง ดัชนีภาคธุรกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Jerome Powell เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ที่ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้ สอดคล้องกับคาดการณ์ของเฟดใน Dot Plot เดือนมีนาคม

       

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของยูโรโซนและอังกฤษ ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยภาพดังกล่าว รวมถึงถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเป็นปัจจัยที่ผู้เล่นในตลาดใช้ประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทั้ง ECB และ BOE โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดได้ปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ของ ECB และ BOE ลง ท่ามกลางความหวังแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หากสหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับบรรดาประเทศคู่ค้าได้สำเร็จ  

       

ส่วนในฝั่งเอเชีย ในช่วงราว 6.50 น. ตามเวลาประเทศไทยของเช้าวันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม นี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในไตรมาสแรกเช่นกัน และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

       

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น อาจมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ (Buy on Dip) หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงเข้าใกล้โซนแนวรับ ซึ่งหากราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นได้จากโซนแนวรับดังกล่าว อย่างน้อย +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ ทำให้ แนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ยังเป็นโซนแนวต้านที่อาจผ่านได้ยากในช่วงนี้

       

อย่างไรก็ดี หากราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลุดโซนแนวรับดังกล่าว ก็อาจปรับตัวลดลงต่อได้อีกราว -2.5% ถึงโซนแนวรับสำคัญถัดไป ซึ่งหากประเมินจาก Beta ระหว่างเงินบาทกับราคาทองคำ ราว 0.3-0.5 อาจสะท้อนได้ว่า เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงได้อีกราว 0.75%-1.25% ทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 33.75-33.85 บาทต่อดอลลาร์ ได้ โดยเรามองว่า ภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ หากเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อ พร้อมกับภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ซึ่งจำเป็นต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ (ที่จะทยอยรับรู้ในช่วงตั้งแต่ 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) ล้วนออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ พร้อมปรับลดโอกาสเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงจนเข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือแม้กระทั่ง Recession

      

อนึ่ง เรามองว่า บรรดาผู้ส่งออกและผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ ในช่วงโซนแนวต้านของเงินบาทดังกล่าว ทำให้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ จะยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน โดยโซนแนวรับของเงินบาทยังอยู่ในช่วง 33.15 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซนแนวรับสำคัญแถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามเดิม

        

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

        

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.60 บาท/ดอลลาร์