วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 05:38 น.

กิจกรรม

รวมพลังสปาร์คยู “ปลุก ใจ เมืองอีสานบ้านเฮา”

วันพุธ ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2562, 13.47 น.

โครงการรวมพลังสปาร์คยู
"ปลุก ใจ เมืองอีสานบ้านเฮา”

ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เครือข่ายคนทำงานโครงการ “Spark U หรือ  โครงการปลุก ใจ เมืองอีสานบ้านเฮา โดยมี พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ ที่ปรึกษาโครงการฯ นางสุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ เลขานุการ เครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน ดร.รุ่งอรุณ บุญสายันต์ และนายสมชัย คำเพราะ ผู้ประเมินภายใน พร้อมเครือข่ายโครงการฯ จาก 3 จังหวัดประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น และจังหวัดเลย ซึ่งมี 5 พื้นที่ด้วยกันคือ พื้นที่ บ้านสำราญ หนองบาก ต.หนองแคน อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด พื้นที่เทศบาลตำบลท่าพระ, เทศบาลนครขอนแก่น และเทศบาลตำบลสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น และจังหวัดเลย กว่า 50 คน เข้าร่วมประชุม ระหว่างวันที่ 16-17 มีนาคม 2562 สรุปผลการทำงานในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา พร้อมกับร่วมกันหารือแนวทาง และวางแผนการทำงานในปี 2562 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

โดยการประชุมครั้งนี้แต่ละพื้นที่ได้นำเสนอสรุปผลการทำงานในห้วงปี 2561 ที่ผ่านมา รวมถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการที่ชุมชนได้เข้าร่วมกิจกรรม ปัญหาอุปสรรคในการทำงาน และความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ โดย ด.ช.ภานุวิชย์ มาพระลับ ตัวแทนจากชุมชนสาวะถี กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมทำให้ได้รู้จักปัญหาของชุมชนตัวเองที่พบว่ามีปัญหาขยะ พร้อมทั้งได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาและวางแผนดำเนินการ รวมถึงทำให้กล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงออก

ในขณะที่นายพรชัย จันทร์บัว นักเรียนจากโรงเรียนชุมชนท่าพระ กล่าวว่า ดีใจที่ได้ร่วมกิจกรรมกับโครงการนี้ เพราะทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง  โดยเฉพาะประวัติชุมชนตนเอง ได้เป็นมัคคุเทศก์น้อยบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนและได้รู้ว่าชุมชนตัวเองนั้นมีข้อดีอย่างไร

ส่วนนายสว่าง สุขแสง ตัวแทนจาก บ้านสำราญหนองบาก ต.หนองแคน อ.ปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งทำงานด้านการพัฒนาแต่เพิ่งได้ค้นพบวิธีการทำงานที่ดึงภาคีเครือข่ายเข้ามาทำงานร่วมกันจากโครงการสปาร์คยูบอกว่า โครงการนี้ได้ปลุกพลังคนชุมชนได้ร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชนตนเอง โดยได้รื้อฟื้นการแสดงพื้นถิ่นของตนเองที่มีอยู่แต่เลือนหายไปคือหนังบักตื้อ หรือ หนังประโมทัย เอามาผสมกับหมอลำ และจัดแสดง ทำให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้เรื่องบ้านตนเองและหันมาใส่ใจชุมชนด้วยการแก้ไขปัญหาขยะ โครงการนี้ปลุกพลังคนให้ตื่นตัว ตื่นรู้ได้ดีมาก

นอกจากนั้นการประชุมในครั้งนี้ยังได้วางแผนการทำงานในอนาคต โดยชุมชนทุกแห่งวางเป้าพัฒนาให้ชุมชนของตนเองมีความสุข โดยการใช้หลักเมือง 3 ดีวิถีสุขคือ พื้นที่ดี ภูมิดี และสื่อดี เพื่อให้เกิดนักสื่อสารสร้างสรรค์ พลเมืองตื่นรู้ และการผลิตสื่อสร้างสรรค์ให้เด็กเยาวชนรู้เท่าทันสื่อและใช้สื่อให้เป็น หลีกไกลจากยาเสพติด เกม และสิ่งมอมเมาต่าง ๆ โดยโครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.