วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 21:16 น.

กิจกรรม

“คืนรอยยิ้ม คืนชีวิต”

วันพฤหัสบดี ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563, 14.42 น.
“คืนรอยยิ้ม คืนชีวิต” 
 
เมื่อสังคมช่วยกันโอบอุ้ม  รอยยิ้มและชีวิตสดใสของเด็กๆ จึงกลับคืนมา
 
ในวันที่ได้ลืมตามาดูโลก ทารกน้อยจะมีโอกาสลิ้มรสอาหารวิเศษมื้อแรกจากอกแม่ แต่โอกาสดีที่สุดในชีวิตแบบนี้ ไม่มีวันเกิดขึ้นกับเด็กที่เกิดมาพร้อมภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ 
22 ปีก่อนหน้านี้  “บอม - โสภณ คำรินทร์”  เขาเป็นคนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผู้เกิดมามีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ต้องประสบความทุกข์ทนและยากลำบากในการดื่มนมจากไซริงค์แทนการดื่มกินน้ำนมจากอกแม่ เพราะความพิการแต่กำเนิด  ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ทำให้บอมประสบปัญหาการกินและกลืนอาหาร และได้รับผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมาอีกมากมายตลอดช่วงวัยเด็ก เช่น ปัญหาทางเดินหายใจ  ปัญหาทางการได้ยิน  การเจริญเติบโตช้า ปัญหาทางภาษาและการพูด พัฒนาการด้านการพูดล่าช้ามากกว่าวัยเดียวกัน ซ้ำยังพูดไม่ชัด  เสียงขึ้นจมูก ส่งผลกระทบต่อการสื่อสารกับผู้คนรอบข้างไปโดยปริยาย
 
 
แม่ผู้อดทนและต่อสู้เคียงข้างบอมมาเสมอ เล่าว่า “เมื่อคลอดลูก ทางรพ.บอกให้แม่กลับบ้าน ไปก่อนแล้วค่อยมารับลูก ผ่านไปห้าวันจึงได้รู้จากหมอว่าลูกเป็นแบบนี้  ญาติๆ ก็ว่าให้ทิ้งลูกไว้อย่าพาเข้าบ้าน  แต่แม่จะทำอย่างนั้นได้ไง ก็ออกจากบ้านมาเลย ถึงต้องเลี้ยงลูกคนเดียวแม่ก็ยอม” คุณแม่ย้อนเรื่องราวของลูกชายคนเดียวที่ชีวิตถูกปฏิเสธจากครอบครัว และยังบอกอีกว่า “บอมดูดนมแม่ไม่ได้ หมอจึงสอนการใช้กระบอกฉีดสำหรับป้อนนม  แม่ก็ทำตามที่หมอสอน ถูกบ้าง ผิดบ้าง ลูกกลืนยากสำลักง่ายร้องไม่หยุด แต่แม่ก็พยายามดูแลให้ดีที่สุด จนลูกกินได้ พอสี่เดือน หมอบอกว่าจะส่งตัวไปผ่าตัดที่ลำปาง”
 
จากความร่วมมือประสานงานของแพทย์และโรงพยาบาลในพื้นที่ร่วมกับทีมแพทย์อาสาของมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย ซึ่งมีกำหนดการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เป็นประจำปีละ 3-4 โครงการหมุนเวียนไปตามจังหวัดพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้การผ่าตัดรักษาต่อเนื่องโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ แก่ผู้ป่วยยากไร้ขาดโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุข    บอมจึงได้รับการผ่าตัดรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ครั้งแรกเพื่อปิดริมฝีปากที่แยกออก และทำให้ทารกน้อยสามารถดูดนมจากขวดได้ การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่องเมื่อบอมอายุครบ 1 ขวบจึงเข้ารับการผ่าตัดครั้งที่สองเพื่อปิดเพดานปาก
 
ผลจากการผ่าตัดครั้งนี้บอมสามารถกินข้าวได้ แต่พัฒนาการด้านการพูดเป็นไปอย่างล่าช้า  อายุ 5 ขวบเริ่มเปล่งเสียงสื่อสารเป็นถ้อยคำที่ผู้คนรอบข้างยากจะเข้าใจ และถูกปฏิเสธจากสังคม   ความเห็นของครูในระดับชั้นอนุบาลระบุไม่ให้บอมเลื่อนชั้นขึ้นป.1 เพราะสื่อสารไม่รู้เรื่อง  คุณแม่จึงย้ายลูกไปอยู่อีกโรงเรียน และตลอดช่วงวัยเรียน บอมต้องเผชิญความกดดันจากสังคมโรงเรียนไม่เว้นแต่ละวัน “คนอื่นมองผมเป็นตัวประหลาด”  บอม กล่าว  เขาต้องใช้ความบากบั่นและอดทนมากกับการใช้ชีวิตในสังคมที่เต็มไปด้วยการล้อเลียน การกลั่นแกล้ง  เหยียดหยามและทำร้ายร่างกาย เพียงเพราะเขาดูแตกต่างจากคนทั่วไป โอกาสในการเรียนต่อหลังจบม. 3 จึงริบหรี่เพราะการพูดไม่ชัดและยังคงถูกรังเกียจ
 
 
 
บอมเข้ารับการผ่าตัดอย่างต่อเนื่องรวม 7 ครั้ง เพื่อรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ตั้งแต่วัยทารกจนถึงอายุ 15 ปี การล้อเลียนกลั่นแกล้งลดลงเมื่อเขาเริ่มพูดสื่อสารได้ชัดขึ้น ความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตค่อยๆ กลับคืนมา  การเรียนมีความก้าวหน้า  การคบหาเพื่อนเริ่มดีขึ้น แม้ว่าบอมจะยังกังวลมากเกี่ยวกับโครงสร้างใบหน้าและฟันที่ยังคงผิดรูป แต่เมื่อคิดย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะ เข้ามารับบริการผ่าตัดจากมูลนิธิสร้างรอยยิ้มแล้ว บอมบอกว่า ตอนนี้เขาได้ชีวิตใหม่ ได้พูด ได้เพื่อน ได้เรียนในวิชาชีพที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวต่อไปได้ “ผมอยากให้เด็กด้อยโอกาสที่มีภาวะเช่นนี้ได้รับการช่วยเหลือให้มากที่สุด เหมือนที่ผมได้รับโอกาส”  และนี่คือที่มาของการให้ความร่วมมือกับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ในการผลิตสื่อภาพยนตร์สั้นเพื่อการประชาสัมพันธ์ผลลัพธ์ในปฏิบัติการ “คืนรอยยิ้ม คืนชีวิต” ให้เด็กด้อยโอกาสทั่วประเทศที่เกิดมาพร้อมภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
 
ทพญ.ยุพเรศ นิมกาญจน์ ประธานกรรมการมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ได้จัดทำภาพยนตร์สั้นเพื่อการประชาสัมพันธ์และการระดมทุนการกุศลเพื่อปฏิบัติการ “คืนรอยยิ้ม = คืนชีวิต” ซึ่งเป็นภารกิจหลักของมูลนิธิฯ ในโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อทำการผ่าตัดและดูแลรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ให้เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ  โดยมีเป้าหมายการรักษาในปี 2564 จำนวนกว่า 800 ราย  ผู้ร่วมสนับสนุนสามารถบริจาคเงินผ่านบัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเพลินจิต เลขที่ 059-285581-4
ในแต่ละปีจำนวนผู้ป่วยด้อยโอกาสที่เข้ารับการรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่จะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินบริจาคสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิฯ  โดยในปี 2562 มูลนิธิฯ ได้ให้การผ่าตัดรักษาไปแล้วจำนวน 758 ราย ด้วยการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จำนวน 4 ครั้ง และโครงการผ่าตัดแบบต่อเนื่องจำนวน 4 โรงพยาบาล  ในปี 2563 เราเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ประสบความยากลำบาก แต่เราก็ยังคงเพียรพยายามสานต่อพันธกิจในการให้การรักษาเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และความผิดปกติอื่นๆ บนใบหน้าแก่ผู่ป่วยยากไร้ โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ไปเป็นจำนวน 421 ราย โดยมีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 2 ครั้ง และโครงการผ่าตัดแบบต่อเนื่องจำนวน 4 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
 
สำหรับแผนงานในปี 2564 มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย  คาดว่า ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีผลต่อจำนวนเงินบริจาคที่มูลนิธิสร้างรอยยิ้มอาจจะได้รับไม่เพียงพอต่อการรักษาเด็กๆ จำนวนมากที่ยังรอโอกาสอยู่ ถึงกระนั้น มูลนิธิฯ ก็ยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือในการผ่าตัดให้กับเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ต่อไป  โดยวางแผนโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 3 ภาค รวม 4 จังหวัด และโครงการผ่าตัดแบบต่อเนื่องจำนวน 5 โรงพยาบาล โดยมีเป้าหมายการรักษาประมาณ 800 ราย ภารกิจของมูลนิธิสร้างรอยยิ้มในการคืนรอยยิ้ม เป็นการคืนชีวิตให้เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ให้พวกเขาได้มีโอกาสเติบโตและอยู่ในสังคมได้อย่างคนปกติ
 
 
มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคนได้ร่วมกันมอบโอกาสใหม่ให้ชีวิตเด็กๆ เหล่านี้  การโอบอุ้มผู้ด้อยโอกาสให้ได้มีชีวิตดำเนินไปอย่างมีคุณค่าแม้เพียงหนึ่งชีวิต ก็ถือเป็นการ “ให้” ที่จะทำให้เกิดการต่อยอดการให้ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ร่วมบริจาคเพื่อการกุศลสนับสนุนมูลนิธิสร้างรอยยิ้มได้ที่บัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเพลินจิต เลขที่ 059-285581-4

หน้าแรก » กิจกรรม