วันพฤหัสบดี ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 03:46 น.

กิจกรรม

สศก.ร่วมภาคีเครือข่ายเปิดสัมมนาผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริปี 2568

วันจันทร์ ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 12.28 น.

รวมพลัง สืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธาน สศก.ร่วมภาคีเครือข่าย เปิดเวทีสัมมนาผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2568

วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิด การสัมมนา “ผลการติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการที่มีการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568” โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้แทนจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตำบลคลองหอยโข่ง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง บ้านป่าคา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เข้าร่วมประมาณ 400 คน ณ ห้องประชุมพึ่งบุญฯ อาคารวิสัยทัศน์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

โอกาสนี้ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบัน พระมหากษัตริย์ โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาเป็นอันดับแรก เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้ง ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขับเคลื่อนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกหน่วยงานได้ร่วมกันดำเนินการ เพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามผลความก้าวหน้าโครงการที่ดำเนินการ และนำเสนอต่อผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์และขยายผลต่อไป

การสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีที่สำคัญที่ทุกหน่วยงานจะรวมพลัง สืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือในการติดตามโครงการ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับหน่วยงานที่ดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตร เพื่อร่วมสร้างเครือข่ายความร่วมมือร่วมกันสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนถอดบทเรียนเผยแพร่ความสำเร็จของโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ให้เป็นที่ประจักษ์สืบไป

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีประมาณ 4,145 โครงการ (ร้อยละ 80 ของโครงการทั้งหมด 5,201 โครงการ) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ดำเนินการ 983 โครงการ ซึ่งตัวอย่างผลงานและความสำเร็จของโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวกับภาคเกษตรในด้านต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ เป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน ประกอบด้วย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และอุปโภคบริโภค ได้แก่ อ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการผลิตไฟฟ้า พลังน้ำ โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม และโครงการบรรเทาอุทกภัย ประโยชน์ที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัด เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ในฤดูฝน 111,300 ไร่ และฤดูแล้ง 45,000 ไร่  ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีลุ่มน้ำสาขา ในเขตพื้นที่อำเภอนาดีและอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และแก้ปัญหาน้ำเสีย ระบายน้ำ เจือจางน้ำ ช่วยชะลอน้ำเค็ม พื้นที่อ่างเก็บน้ำและบริเวณโดยรอบได้รับการพัฒนา อนุรักษ์ฟื้นฟู ราษฎรโดยรอบมีอาชีพมั่นคงและมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น

โครงการพัฒนาด้านการเกษตร เป็นโครงการที่สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัย หาพันธุ์พืชใหม่ๆทั้งพืช เศรษฐกิจ เช่น หม่อนไหม ยางพารา พืช เพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน และพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช รวมทั้งพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ พันธุ์ปลา สัตว์ปีก ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และนำผลสำเร็จจากการศึกษา ทดลอง ไปถ่ายทอดสู่ประชาชน เช่น โครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตรโดยน้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ในพื้นที่บ้านหนองกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนเฉลี่ย 4,358 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และนำไปจำหน่ายเกิดเป็นรายได้ทางการเกษตรเฉลี่ย 6,088 บาทต่อครัวเรือนต่อปี โครงการต่อยอดบริเวณพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ซึ่งเน้นส่งเสริมสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยเกษตรกรได้ถ่ายทอดความรู้เศรษฐกิจพอเพียง 115 ราย สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนเฉลี่ย 3,476 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และจำหน่ายผลผลิตในแปลงเกษตรผสมผสานเกิดเป็นรายได้ทางการเกษตรเฉลี่ย 3,200 บาทต่อครัวเรือนต่อปี โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นฟาร์มตัวอย่างไร้มลภาวะ (Zero Waste Farm) สาธิตการจัดสร้างแพเชือกเพื่อเป็นแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล สนับสนุนสัตว์น้ำให้เกษตรกร จำนวน 1 ล้านตัว โดยเกษตรกรร้อยละ 82 มีความรู้ความเข้าใจจากการได้เข้ามาศึกษาในฟาร์มตัวอย่าง และนำความรู้ไปปรับใช้สามารถลดค่าใช้จ่ายทางการเกษตร 45,723 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ อาทิ โครงการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรในหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ โครงการศิลปาชีพพิเศษทั่วประเทศ โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อความยั่งยืนทางการเกษตร และโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริอื่นๆ โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ/และโครงการพัฒนาอื่นๆ เช่น โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ และเลย ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำปาย ลุ่มน้ำลี และลุ่มน้ำหมัน เกษตรกรได้รับประโยชน์ 14 กลุ่ม 20 หมู่บ้าน มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3,383 บาทต่อครัวเรือนต่อปี โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะปัญหา 4 น้ำ 3 รส (น้ำเค็ม - น้ำเปรี้ยว น้ำท่วม - น้ำแล้ง) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการฟื้นฟูให้มีความสมดุลในพื้นที่ 10 อำเภอ 73 ตำบล เกษตรกรมากกว่าร้อยละ 77 มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการฯ มีอาชีพมั่นคงและรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นหลังเข้าร่วมโครงการเฉลี่ย 7,338 บาทต่อครัวเรือนต่อปี โครงการศูนย์ ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดน่าน ดำเนินการในพื้นที่ ตําบลภูฟ้า อําเภอบ่อเกลือ พื้นที่ทรงงาน 1,800 ไร่ และพื้นที่ขยายผล 6 หมู่บ้านมีเกษตรกรในพื้นที่ได้รับการพัฒนาความรู้ และสนับสนุนปัจจัยการผลิตในการต่อยอดทำการเกษตรทั้งพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์รวม 327 ราย หลังเข้าร่วมโครงการ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตจากการทำเกษตรในรูปแบบเกษตรผสมผสาน เช่น พืชผักสวนครัว เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เฉลี่ย 7,912 บาทต่อครัวเรือนต่อปี  โครงการขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งเสริมฝึกทักษะอาชีพด้านการเกษตร สนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ การปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเกษตรกรสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนเฉลี่ย 5,072 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ร้อยละ 51 โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร พัฒนาส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสม และยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูง กิจกรรมการปลูกป่าชุมชน การปลูกหญ้าแฝก การลดใช้สารเคมีการทำปุ๋ยหมัก โดยเกษตรกรร้อยละ 52 นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ด้านนางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาครั้งนี้  สศก. โดยศูนย์ประเมินผลจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 27 พฤษภาคม 2568 ซึ่งกิจกรรมการสัมมนาวันแรกมีการเสวนา “บทเรียนความสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยผู้แทนจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตำบลคลองหอยโข่ง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง บ้านป่าคา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร และการเสวนา “การติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการที่มีการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบการบูรณาการเชิงพื้นที่” โดยผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12

สำหรับการสัมมนาวันที่ 27 พฤษภาคม 2568) เป็นการนำเสนอผลการติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการที่มีการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยศูนย์ประเมินผล ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 - 12 ร่วมนำเสนอเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา อันจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงผลการติดตามให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมที่จะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ในการเป็นกรอบแนวทางหรือทิศทางในการวางแผนการดำเนินงานในปีต่อไป นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงาน กปร. กองทัพบก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานและผลการติดตามให้เป็นที่รู้จักอีกด้วย