วันพฤหัสบดี ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 05:31 น.

กิจกรรม

เชฟรอน-มูลนิธิรักษ์ไทย หนุนสตรีชายแดนใต้แปรรูปผลผลิตท้องถิ่น เสริมแกร่งเสาหลักครอบครัว สร้างรายได้ชุมชนอย่างยั่งยืน

วันอังคาร ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 14.47 น.

เชฟรอน-มูลนิธิรักษ์ไทย หนุนสตรีชายแดนใต้แปรรูปผลผลิตท้องถิ่น เสริมแกร่งเสาหลักครอบครัว สร้างรายได้ชุมชนอย่างยั่งยืน

 

“แต่ก่อน เราเป็นแค่ผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่มีแม้แต่เสียง แต่วันนี้เราลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง มีอาชีพ มีพลัง มีความเชื่อมั่นและได้โอกาสที่เคยหายไปกลับคืนมา” เสียงที่เปี่ยมพลังของ นางปรีด๊ะ หะยีเตะ ตัวแทนกลุ่มอาชีพสตรีจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สะท้อนความรู้สึกของผู้หญิงอีกหลายชีวิตที่เคยถูกพรากโอกาส และเผชิญความสูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ซึ่งเปลี่ยนชีวิตของพวกเธอไปตลอดกาล

 

 

กลุ่มสตรีกว่าห้าสิบชีวิตจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังฟังอบรมกระบวนการแปรรูปมันเทศ และผลผลิตในชุมชนอย่างใจจดจ่อ กิจกรรมในวันนี้ไม่เป็นเพียงการมอบความรู้ แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างคุณค่าใหม่ให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อต่อยอดรายได้เลี้ยงดูครอบครัว รอยยิ้มและแววตาที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นของกลุ่มสตรี สะท้อนถึง “พลัง” ของผู้หญิงที่ลุกขึ้นมายืนหยัดอีกครั้งในบทบาท “เสาหลักของครอบครัว” ซึ่งบางคนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว บางคนต้องเผชิญบาดแผลจิตใจจากความสูญเสีย แต่ทุกคนมีจุดร่วมเดียวกันคือความเชื่อมั่นว่า “จะต้องยืนหยัดเพื่อเป็นฐานที่มั่นให้ครอบครัวก้าวเดินอย่างมั่นคง”
 
ในฐานะบริษัทพลังงานที่เชื่อมั่นในพลังของผู้คน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงได้สนับสนุนงบประมาณโครงการ “เชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต” ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558  เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพแก่สตรีกลุ่มเปราะบางในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผ่านการจัดฝึกอบรม ส่งมอบอุปกรณ์ และสร้างเครือข่ายอาชีพที่ยั่งยืน เพื่อให้กลุ่มสตรีในชุมชนหารายได้เลี้ยงครอบครัวผ่านศักยภาพของตนเอง
 
 
“วันนี้เรามีกำลังกายและใจเต็มเปี่ยมอีกครั้ง ต้องขอขอบคุณเชฟรอน มูลนิธิรักษ์ไทย และทุกภาคส่วน ที่ไม่เคยมองข้ามศักยภาพของเรา ซึ่งไม่เพียงแต่ได้รับการสนับสนุนด้านอาชีพเท่านั้น แต่เรายังได้รับโอกาส ความเชื่อมั่น และความหวังใหม่ ที่ทำให้ผู้หญิงในชุมชนของเราลุกขึ้นมาแสดงศักยภาพของตนเองได้ตามที่ตั้งใจ” นางปรีด๊ะ หะยีเตะ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ สะท้อนพลังใจของกลุ่มอาชีพสตรีที่กลับมายืนหยัดในฐานะฐานที่มั่นของครอบครัว
 
 
พื้นที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นหนึ่งในหลายพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพด้านเกษตรกรรม กิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการต่อยอดศักยภาพอาชีพของกลุ่มสตรีผ่านการเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรหญิงในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกพืชไร่ เช่น พริกและมันเทศ เข้ากับกลุ่มอาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน ในกิจกรรมการฝึกอบรมการแปรรูปมันเทศสำหรับกลุ่มในชุมชน ภายใต้ “โครงการเสริมพลังสตรีเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรท้องถิ่น” ซึ่งจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
การฝึกอบรมครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงการสอนทักษะการแปรรูปวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนอย่างมันเทศเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มสตรีได้แลกเปลี่ยนความรู้ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตท้องถิ่น และพัฒนาการปลูกพืชท้องถิ่นให้มีคุณภาพ โดยมี “น้องดาด้า” หรือ นายอิสกันดาร์ กูโน ผู้รับทุนจากโครงการ STEM Chef Academy และสมาชิกกลุ่มลูกเหรียง เป็นวิทยากรพิเศษ ถ่ายทอดความรู้ด้านการแปรรูปอาหารควบคู่กับหลักการด้านวิทยาศาสตร์ (STEM) อย่างน่าสนใจ
 
“ด้วยความที่ผมเป็นคนในพื้นที่ อีกทั้งยังชอบทำอาหารตั้งแต่เด็ก นอกจากความฝันที่อยากจะเป็นเชฟแล้ว ผมอยากเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ผลักดันให้วัตถุดิบท้องถิ่นกลายเป็นโอกาสทางอาชีพได้ ผมดีใจที่ได้ใช้ความฝันของตนเองเชื่อมโยงกับความสามารถของแม่ๆ กลุ่มสตรี เพื่อต่อยอดอาชีพในชุมชนได้จริง” น้องดาด้า กล่าว พร้อมเล่าต่อว่า การเลือกมันเทศเป็นวัตถุดิบหลักในการอบรมแปรรูปครั้งนี้ เพราะเป็นพืชที่เพาะปลูกกันมากในตำบลยะหริ่ง โดยโจทย์หลักคือทำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ชาวบ้านต่อยอดได้ง่าย เป็นวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ แต่ต้องมีจุดขายเฉพาะ ‘แยมมันม่วง’ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชูวัตถุดิบท้องถิ่นได้อย่างโดดเด่น และสามารถวางจำหน่ายในท้องตลาดได้จริง”
 
นอกจากทักษะการแปรรูปแล้ว น้องดาด้ายังนำความรู้ด้านสะเต็มจากที่ได้เรียนรู้ในโครงการ STEM Chef Academy มา สอดแทรกให้กลุ่มอาชีพสตรีเข้าใจหลักการเบื้องหลังของการทำอาหารและต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผักพื้น บ้านอื่นๆ ในอนาคต “ผมอยากเห็นน้องๆ ในพื้นที่มีสุขภาพแข็งแรงจากพืชผักที่ปลูกในชุมชน จึงพยายามทำตามฝันมาเรื่อยๆ จากสิ่งที่ตนเองสนใจ ต้องขอบคุณเชฟรอน ที่ช่วยสานต่อให้ปีกความฝันให้บินมาเรื่อยๆ จนมีโอกาสได้มาทำหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นวิทยากรแล้ว ผมยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันกับกลุ่มแม่ๆ ในชุมชนอีกด้วย” น้องดาด้า กล่าวเสริม
 
ด้าน นางสาวณิชชา โตรักตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาแหล่งทุน มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่าเกือบ 30 ปี มูลนิธิรักษ์ไทยทำงานเพื่อขยายศักยภาพและโอกาสให้กลุ่มเปราะบางในสังคม โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก และชุมชนชายขอบ เพราะเราเชื่อว่า หากคนในชุมชนลุกขึ้นยืนได้ ชุมชนนั้นก็จะยืนหยัดได้อย่างมั่นคง โครงการ ‘เชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต’ จึงสะท้อนแนวคิดนี้อย่างชัดเจน โดยเราได้จัดตั้งกลุ่มอาชีพ จัดหาอุปกรณ์ และจัดอบรมความรู้แก่กลุ่มอาชีพสตรี ซึ่งจนถึงปัจจุบัน โครงการฯ ได้เข้าถึงผู้ได้รับประโยชน์กว่า 45,000 คน และสร้างแกนนำสตรีได้กว่า 130 คน ที่สามารถลุกขึ้นมาสร้างอาชีพ ดูแลครอบครัวเป็นเสาหลัก และพร้อมที่จะส่งต่อรากฐานที่แข็งแกร่งสู่ชุมชนต่อไป”
 
 
 
พราะ “พลังคน” คือแรงขับเคลื่อนสำคัญที่สร้างการเติบโตแก่ชุมชน นอกจากภารกิจด้านพลังงานในประเทศไทยตลอดกว่า 60 ปีแล้ว เชฟรอนยังยึดมั่นในภารกิจด้านสังคมเพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ด้าน นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “ตลอด 11 ปีที่เราดำเนินโครงการ ‘เชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต’ ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย ความมุ่งมั่นของเราไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือการมุ่งพัฒนาพลังของผู้หญิงในกลุ่มสตรีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ลุกยืนได้ด้วยตนเอง ซึ่งไม่เพียงแต่สนับสนุนเครื่องมือหรือทักษะอาชีพเท่านั้น แต่ยังสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งสู่โอกาสใหม่ๆ โดยเชฟรอนยินดีอย่างมากที่มีโอกาสเห็นความสำเร็จของกลุ่มอาชีพสตรี ซึ่งสามารถสร้างอาชีพใหม่ และพัฒนาอาชีพเดิมให้เติบโต ไม่เพียงเท่านั้น ความสำเร็จนี้ยังผลิดอกออกผลไปยังบุตรหลานให้ได้มีคุณภาพชีวิตและเข้าถึงการศึกษาที่ดี โดยอีกสิ่งหนึ่งที่น่ายินดีในวันนี้ คือการสนับสนุนจากทางจังหวัด พลังงานจังหวัด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนต่อยอดผลผลิตท้องถิ่นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดต่อไป”
 
บรรยากาศกิจกรรมอบอวลไปด้วยความอบอุ่น พร้อมพลังกายและใจของกลุ่มอาชีพสตรีที่เต็มไปด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างสนุกสนาน สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโต “จากรากสู่ยอด” ที่แข็งแกร่งของกลุ่มอาชีพสตรีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แม้ครั้งหนึ่งจะสูญเสียโอกาสในชีวิตไป แต่ประกายความหวังใหม่ทำให้สามารถยืนหยัดอีกครั้งในฐานะเสาหลักของครอบครัว และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของชุมชนอย่างภาคภูมิ