กทม-สาธารณสุข
เปิดตัว “สวนพื้นที่สุขภาวะ" เปลี่ยนกองขยะสู่พื้นที่สร้างสรรค์ชุมชน
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
เปิดตัว “สวนพื้นที่สุขภาวะ" เปลี่ยนกองขยะสู่พื้นที่สร้างสรรค์ชุมชน
ทม.จับมือ ม.สยาม และ สสส.ขยายงานพื้นที่สุขภาวะ เปิดตัว “สวนพื้นที่สุขภาวะและห้องสมุดกำแพง” เปลี่ยนกองขยะสู่พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อคนในชุมชน
วันที่ 4 เม.ย. ที่สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ หลังม.สยาม ได้มีงานแถลงข่าวเปิด “สวนพื้นที่สุขภาวะ และ ห้องสมุดกำแพง” โดยเป็นความร่วมมือของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ,ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) , มหาวิทยาลัยสยาม และภาคีเครือข่าย ร่วมกันพัฒนาพื้นที่รกร้าง กองขยะขนาดใหญ่ ให้กลายเป็นสวนพื้นที่สุขภาวะ สำหรับคนในชุมชนพื้นที่สุขภาวะหลังม.สยาม รุ่งฟ้า 36
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงความบทบาทความร่วมมือของ กทม. ต่อการพัฒนาสวนแห่งนี้ ว่า กทม. ได้ประกาศนโยบายเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมให้เป็น “พื้นที่ชุมชนสามัคคี สร้างสุขภาวะดีเพื่อชีวิต” 1 เขต 1 ชุมชน มีสิ่งอำนวยความสะดวก ให้ชาวชุมชน เป็นศูนย์กลางพบปะสังสรรค์ ออกกำลังกาย และจัดกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความปลอดภัย สร้างความสัมพันธ์และความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยรูปแบบนี้ จะให้ทุกเขตนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของชุมชนนั้นๆ สำหรับสวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ หลังม.สยาม เป็นตัวอย่างพื้นที่พัฒนามาจากพื้นที่รกร้าง จนกลายเป็นสวนพื้นที่สุขภาวะที่มีความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือของคนในชุมชน ตั้งแต่ขั้นตอนการร่วมคิด ร่วมทำ จนไปถึงร่วมใช้ประโยชน์ กทม. พร้อมที่จะเป็นกลไกในการหนุนเสริมและขับเคลื่อน ให้เกิดพื้นที่สุขภาวะ เกิดพื้นที่สีเขียว พื้นที่เพื่อกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย และกิจกรรมทางสังคมของชุมชนต่อไป
ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.มียุทธศาสตร์ส่งเสริมการจัดการให้เกิดพื้นที่สุขภาวะหรือปัจจัยแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน และยังต้องครอบคลุมสุขภาวะในมิติอื่นๆ ทั้งมิติด้านจิตใจ สังคมและปัญญา โดยผลการดำเนินงานของ สสส. ในปีที่ผ่านมา เกิดพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ 9 รูปแบบการจัดการ เช่น พื้นที่สุขภาวะในเขตประกอบการอุตสาหกรรม พื้นที่สุขภาวะระดับย่านเมือง และระดับชุมชน เป็นต้น และมี 2 รูปแบบ ที่สามารถพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ได้ คือ ศูนย์การเรียนรู้ส่งเสริมกิจกรรมทางกายผู้สูงอายุ และลานกีฬาพัฒน์ 1 ชุมชนเคหะคลองจั่น โดยสวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ หลังม.สยาม ถือเป็นพื้นที่สุขภาวะต้นแบบชุมชน ที่มีความยืดหยุ่น เป็นพื้นที่สุขภาวะชุมชนในเขตกทม.ที่ส่งเสริมสุขภาวะทุกมิติ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ 7 รูปแบบ ได้แก่ ด้านกายภาพ การมองเห็น การพูด การเข้าสังคม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การใช้ตรรกะ และ การฟัง
“สวนพื้นที่สุขภาวะหลังม.สยาม มีการปรับพื้นที่และสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย รวมทั้งยังมีมุมห้องสมุดกำแพงแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีข้อมูลสุขภาพบนกำแพงและมีหนังสือจริงให้คนในชุมชนได้ยืมไปอ่าน ผมขอขอบคุณความร่วมมือจาก กทม.,ศวพช.,และม.สยาม ที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือจากคนชุมชนและหน่วยงานทุกภาคส่วน นำไปสู่การจัดการข้อจำกัดเชิงพื้นที่ โดยคาดหวังว่ารูปแบบนี้จะถูกขยายผลไปสู่พื้นที่เขตอื่นของ กทม. เพื่อการเปลี่ยนแปลงสร้างสุขภาวะที่ดีของคนเมืองกรุงต่อไป”ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ขณะที่ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ม.สยาม ได้ร่วมทำงานพัฒนาพื้นที่สุขภาวะร่วมกับเขตภาษีเจริญ และชุมชนรอบข้างมาโดยตลอด ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเริ่มจากการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้นรอบๆ มหาวิทยาลัย ส่งเสริมชุมชนให้เห็นความสำคัญของคำว่าพื้นที่สุขภาวะที่ชุมชนได้ประโยชน์หากชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาให้พื้นที่สุขภาวะเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ เพราะม.สยามเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในเขตภาษีเจริญ จึงเหมือนเป็นความรับผิดชอบในฐานะสถานศึกษาในพื้นที่นั่นเอง สำหรับ สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้หลัง ม.สยาม เกิดจากแนวคิดที่อยากกลับมาพัฒนาพื้นที่หลังบ้านของเราเอง ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นแหล่งเรียนรู้ นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน จึงเริ่มจากการพูดคุยกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กทม., สำนักงานเขตภาษีเจริญ และ สสส. โดยหน้าที่ของม.สยามคือเป็นส่วนเชื่อมประสานระหว่างชุมชนกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง
“ทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้เป็นนโยบายที่นักศึกษาจะต้องร่วมเรียนรู้การเข้าถึง และรับผิดชอบสังคมและชุมชน โดยจะเน้นให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้เป็นห้องทดลองเสมือนจริง (Living LAB) สำหรับให้นักศึกษาทุกคณะได้ฝึกปฏิบัติเรียนรู้ทุกสาขาวิชาจากชุมชน ด้วยมุ่งหวังในการสร้างนักศึกษาที่มิใช่เรียนรู้วิชาในห้องเรียน แต่ต้องเรียนรู้ศาสตร์จากสังคม จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตในปัจจุบันได้ด้วยความรู้สึก จิตสำนึกที่ต้องเกื้อกูลสังคมและคาดว่าจะขยายต่อไปในพื้นที่อื่นๆของ กทม.” อธิการบดี ม.สยาม กล่าว
ด้าน นายสัณห์ฉัตร ศรีอรุณสว่าง เจ้าของบ้านกำแพงติดกับสวนพื้นที่สุขภาวะ กล่าวว่า ถ้าย้อนหลังไปเมื่อสมัยตนเป็นเด็ก พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม สวนผลไม้ และเมื่อความเป็นเมืองเข้ามา สวนก็หายไป กลายเป็นกองขยะขนาดใหญ่ตั้งอยู่ข้างบ้านตน ช่วงแรกที่ ศวพช. มีแนวคิดจะเริ่มเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่ให้กลายเป็นสวนสาธารณะ ไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้ เนื่องจากกองขยะใหญ่มากสูงเท่ากำแพง รวมถึง ข้อจำกัดของคนในชุมชนที่มาจากหลากหลายอาชีพ การรวมตัวจึงน่าจะเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อกระบวนการประชาคมเริ่มขึ้น กลายเป็นว่าได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนอย่างจริงจัง ทุกคนพร้อมใจสนับสนุนความร่วมมือ ทั้งลงเงิน ลงแรง ลงส่วนที่แบ่งปันได้ จนในที่สุดก็เกิดเป็นสวนพื้นที่สุขภาวะ และห้องสมุดกำแพง พื้นที่สีเขียว พื้นที่สุขภาพ และ ความภาคภูมิใจของคนในชุมชน
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข
ข่าวในหมวดกทม-สาธารณสุข
- สสส. สานพลัง ภาคี จ.มุกดาหาร เปิดเมืองอัญมณีลุ่มน้ำโขง ร่วมสร้างต้นแบบ Soft Power จัดกิจกรรมสุดยิ่งใหญ่ในเทศกาล The ICONiC Run Fest 2024 18:52 น.
- ถึงคิววงการความงามเฮ “สมศักดิ์” เคาะปรับอัตราค่าตรวจประเมินสถานประกอบการเครื่องสำอาง ลดลงอย่างน้อย 50 % 11:10 น.
- “อภัยภูเบศร” เชิญชวน เรียนต่อ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย สืบสาน ต่อยอด รักษาภูมิปัญญาแผ่นดิน 10:17 น.
- "รพ.ยันฮี-บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์" มอบน้ำดื่มและยารักษาโรค มูลค่ากว่า 6 ล้าน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 16:37 น.
- “สมศักดิ์” ลงพื้นที่ รพ.หลวงพ่อคูณ เป็นประธานพิธีประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อคูณ พร้อมเปิดอาคาร 100 ปีชาตกาล 14:35 น.