วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 13:13 น.

กทม-สาธารณสุข

เริ่ม 31 ต.ค. นี้! ผู้สูงอายุต่างชาติเข้าไทยซื้อประกันสุขภาพได้แล้ว

วันพุธ ที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2562, 18.55 น.

รัฐบาลไทยเปิดระบบรองรับการทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (1 ปี) นำร่องกลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างชาติทุกรายที่พำนักระยะยาว (Long stay) ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ซื้อกรมธรรม์ทั้งในและต่างประเทศผ่านเว็บไซต์ www.longstay.tgia.org เริ่มมีผลบังคับใช้ 31 ตุลาคมนี้

วันที่ 9 ต.ค.2562  ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.ต.ณฐพล แสวงกิจ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นายสรยุทธ ชาสมบัติ รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยและนายชยชัยแสงอินทร์ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยร่วมแถลงข่าวการทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (1 ปี) โดยมีนพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมงาน

ดร.สาธิต กล่าวว่า รัฐบาลไทยส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก (Medical Hub) ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีการคุ้มครองสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติและ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 อนุมัติหลักการให้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ1 ปี) ให้มีการซื้อประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตนเองตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักรมีผลบังคับใช้และพร้อมเปิดระบบรองรับการทำประกันสุขภาพในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 นำร่องในกลุ่มชาวต่างชาติผู้สูงอายุทุกรายที่เข้ามาพำนักระยะยาวในราชอาณาจักร (Long Stay) ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจประสบปัญหาสุขภาพให้ได้รับการคุ้มครองและดูแลตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักรไทย ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการกงสุล พ.ศ. 2562มีผู้มาขอรับการตรวจลงตราประเภทนี้ 80,950 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า การซื้อกรมธรรม์สามารถซื้อได้ทั้งในและต่างประเทศ แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.longstay.tgia.org จำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท กรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพของบริษัทต่างประเทศจะต้องมีจำนวนเงินเอาประกันภัยไม่น้อยกว่าการทำประกันสุขภาพของไทยตามที่กำหนดไว้ขณะนี้มีบริษัทประกันสุขภาพภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ 14 บริษัทโดยมอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำเว็บไซต์กลางหรือแอปพลิเคชันที่เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของหน่วยงานต่างๆเป็นจุดบริการข้อมูล (One StopService) เพื่อให้ข้อมูลอาทิ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติในการตรวจลงตรา รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ วิธีการทำประกันช่องทางการทำประกันสุขภาพ และข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 
 
ห่วงเยาวชนเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงขึ้นเร่งประสานความร่วมมือทุกฝ่ายช่วยลด  


พร้อมกันนี้ดร.สาธิต กล่าวให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรม และร่วมแถลงข่าวเนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2562 (World Mental Health Day 2019 : Talk to ME) ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค กรุงเทพมหานคร ว่า วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day)  ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดธีมในปี 2019 นี้ คือ Working Together to Prevent Suicide เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในทุกภาคส่วน จะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนคนไทยอย่างมหาศาล โดยในประเทศไทยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 4,000 รายต่อปี และในแต่ละปีจะมีคนพยายามฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 ราย ซึ่งแม้จะมีอัตราไม่ได้สูงขึ้นกว่าปีก่อนๆ แต่ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต มีความพยายามที่จะลดความสูญเสียด้านสุขภาพจิต ตลอดจนการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายให้เหลือน้อยลงมากที่สุด ซึ่งได้มีการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมมากยิ่งขึ้น และได้ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ มากมาย ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพจิต เพื่อช่วยให้สังคมไทยมีสุขภาพจิตที่ดี ตลอดจนสร้างทักษะพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะการพูดคุยรับฟังกันในครอบครัวและสังคม นับเป็นการปลุกกระแสสังคมให้หันมาสร้างทักษะการรับฟังกันมากยิ่งขึ้น โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้ร่วมจัดกิจกรรม “Let Me Hear You” สร้างจิตอาสาผู้ฟังที่ดีเข้าสู่สังคม และกิจกรรม “หัวใจมีหู” เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกไปแล้ว ซึ่งนับเป็นการจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ธีมงานในวันนี้ ที่ใช้ชื่อว่า “Talk to ME” แปลตรงตัวว่า มาคุยกับฉัน ฉันพร้อมจะรับฟังเธอ เนื่องจากเราต้องการสร้างให้คนไทยเป็นผู้รับฟังที่ดีแล้ว เราก็ยังสนับสนุนให้คนไทยหยิบยื่นความช่วยเหลือออกไปสู่สังคมด้วยเช่นกัน อีกทั้ง คำว่า “ME” ในที่นี้ ย่อมาจากคำว่า “Mental Health Education” หรือ การสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพจิตให้กับทุกคนในสังคมไทย โดยผ่านกิจกรรมและสื่อต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนงานด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรับฟังที่ดีและการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน จึงสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โดยจะมีการเพิ่มจำนวนคู่สายมากขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิม 10 คู่สาย เป็น 20 คู่สายในปีนี้ ซึ่งจะเริ่มทำการพัฒนาทั้งบุคลากรและระบบทันที เพื่อรองรับการให้บริการที่มีความต้องการมากขึ้นในอนาคต ตลอดจนช่วยให้ประชาชนได้รับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่มีคุณภาพและรวดเร็ว จะส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุขมากยิ่งขึ้นต่อไป
“ขณะนี้ น่าเป็นห่วงเยาวชนกลุ่มวัยรุ่นมาก เนื่องจากที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะต้องประสานกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมสุขภาพจิต เพื่อจัดทำโครงการดูแลสุขภาพจิตให้ครอบคลุมในทุกลุ่ม  โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มที่มีความต้องการการรับฟังมากขึ้น ดังนั้นครู จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด เพราะธรรมชาติของเด็กไม่กล้าปรึกษาพ่อแม่  ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข             จะทำหน้าที่พี่เลี้ยงในการส่งนักสุขภาพจิต ไปช่วยให้คำแนะนำวิธีการสังเกตุอาการของเด็กที่อยู่ในภาวะปัญหาสุขภาพจิต” ดร.สาธิต กล่าว
 
 

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข