วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 18:27 น.

กทม-สาธารณสุข

ทส.เดินหน้าโครงการอาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย

วันพุธ ที่ 05 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563, 15.07 น.
วันที่ 5 ก.พ. 63 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดงานมอบนโยบาย "โครงการอาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย" โดยมีนายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานมอบนโยบายการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐในการลดการระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ การแก้ไขปัญหาน้ำเสียและยกระดับคุณภาพน้ำ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 3-4 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศููนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ 
 
 
นายนพดล กล่าวว่า  อาคารของหน่วยงานภาครัฐที่มีจำนวนมากและกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดน้ำเสียจากกิจกรรมการใช้น้ำภายในอาคาร ซึ่งอาคารบางประเภทและบางขนาดถูกกำหนดให้เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อมตามมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และมีหน้าที่ต้องปฎิบัติให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมกำหนดในการควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคาร อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐ ยังเป็นหน่วยงานที่ประชาชน ให้ความเชื่อถือและเชื่อมั่น จึงต้องปฎิบัติให้เป็นแบบอย่าง และเป็นต้นแบบที่ดีให้กับภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญในการจัดการน้ำเสียจากอาคารของตน ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง 
 
นายนพดล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา คพ. ได้เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล และหน่วยงานอิสระในกำกับของรัฐ ให้เข้าร่วมโครงการอาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสียเพื่อพัฒนาไปเป็นแบบอย่างที่ดีด้านการจัดการน้ำเสีย และมีการระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตราฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 194 หน่วยงาน อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 91 หน่วยงาน และพื้นที่ต่างจังหวัด 103 หน่วยงาน สำหรับหน่วยงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ คพ. และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1-16 จะลงพื้นที่ตรวจสอบการระบายน้ำทิ้ง และให้คำแนะนำแนวทางการจัดการน้ำเสีย พร้อมทั้งจัดอบรมให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค และศึกษาดูงานด้านการดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย
 
 
นายนพดล กล่าวต่อว่า หน่วยงานราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสียจะต้องมีนโยบาย มาตราการในการจัดการน้ำเสียและการประหยัดน้ำที่ชัดเจน มีคณะทำงานหรือผู้รับผิดชอบดูแลระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพอยู่สม่ำเสมอ การระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตราฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะได้รับโล่เชิดชูเกียรติอาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย พร้อมทั้งการประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานต้นแบบ สำหรับหน่วยงานที่ระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมไม่เป็นไปตามมาตราฐานที่กฎหมายกำหนดจะมีหนังสือแจ้งให้กำกับดูแลการจัดการน้ำเสีย และปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
 
"การดำเนินการดังกล่าวเป็นมาตราการในการผลักดันให้หน่วยงานราชการตื่นตัวและให้ความสำคัญในการจัดการน้ำเสียของหน่วยงาน ป้องกันการระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้คุณภาพน้ำดีขึ้น สามรถยกระดับคุณภาพน้ำและประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้มากขึ้น"
 
ภายหลังนายนพดล ให้สัมภาษณ์อีกว่า จากการปรึกษากับกรมควบคุมมลพิษเบื้องต้น จะมีส่วนราชการ 3 ส่วนที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย 1 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เป็นต้นแบบด้านการจัดการน้ำเสีย โดยหลังจากนี้อีก 3 เดือน คพ. จะเข้ามาตรวจสอบหากทำได้จะขยายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนที่ 2 คือโรงพยาบาล คือจุดหนึ่งที่ต้องเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงเขา ส่วนที่ 3 คือ มหาวิทยาลัย ซึ่งหลังจากเสร็จจาก 3 ส่วนนี้ เราก็จะประเมินผลทำงานก่อนในขณะที่ภัยแล้งมาเยือนด้วยหากยังไม่รู้จักการประหยัดน้ำโดยการปล่อยน้ำเสียทิ้งอีกเชื้อโรคก็จะตามมาเราจึงต้องช่วยกัน 
 
 
ทั้งนี้การทำระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ บางหน่วยงานราชการอาจมีข้อจำกัดเยอะ ทั้งเรื่องงบประมาณ ไม่มีความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการ จึงให้กรมควบคุมมลพิษ เชิญ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือหน่วยงานที่มีความรู้ในเรื่องนวัตกรรมทำน้ำเสียเป็นน้ำดีให้มาคุยกัน ซึ่งก่อนหน้านี้หน่วยงานภาครัฐไม่รู้ที่จะต้องจัดการน้ำเสียตามที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมกำหนด จนกระทั่งคพ.ไปบอกว่าอาคารของหน่วยราชการ ที่มีการระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมต้องให้เป็นไปตามมาตราฐานที่กฎหมายกำหนด ทำให้ตื่นตัวขึ้นแต่ยังน้อย โดยปัญหาพบว่า ถ้าเป็นอาคารเก่าจะพบปัญหาด้านการจัดการน้ำเสียแยอะ และมีความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการน้ำเสียน้อย เราจึงต้องกลับไปกระตุ้นให้มีความรู้มากขึ้น จึงอยากฝากไปถึงหัวหน้าหรือผู้รับผิดชอบของอาคารนั้นๆ ต้องตระหนักหรือต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนต่อสังคมด้วย ซึ่งจากนี้ไปอีก 3 เดือน คือประมาณกลางเดือนพฤษภาคมจะเข้าไปประเมินกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณท์เมื่อปี 2562 และกลุ่มที่ผ่านเกณท์เมื่อปีที่แล้วจะมอบโล่ห์ โดยตั้งเป้าไว้ทั่วประเทศต้องผ่านเกณท์ 50 % ขึ้นไป
 
"ส่วนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ต้องเข้มแข็งช่วยกันตรวจสอบ เมื่อไปติดต่อหน่วยราชการ เจอปัญหาท่อเหม็น น้ำเสีย ให้โทรแจ้งหรือเขียนคำร้องส่งมาได้ที่กรมควบคุมมลพิษ หากเตือนไปแล้วไม่ฟังไม่ปรับปรุงแก้ไขเราจะใช้กฎหมายลงโทษ" 

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข