วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 11:49 น.

กทม-สาธารณสุข

ปลุกสังคมตื่นช่วยล้อมคอก “เคนมผง” สารเสพติดอันตรายใหม่

วันพฤหัสบดี ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564, 15.03 น.

ตื่นล้อมคอก “เคนมผง” สารเสพติดอันตรายชนิดใหม่ “สสส.-สถาบันยุวทัศน์ฯ” เสวนาออนไลน์ปลุกสังคมร่วมมือดูแลพฤติกรรมวัยรุ่นหลงผิดสารเสพติด “สาธิต” ชี้บุหรี่อาจเป็นต้นทางสู่ยาเสพติด กำชับเร่งกวดขัด “เคนมผง” ควบคู่การสร้างความตระหนักรู้ เตือน สูบบุหรี่แค่ 10 วินาทีกระตุ้นสมองให้ไวต่อสารเสพติด

เมื่อเวลา 08.40 น. วันที่ 14 มกราคม 2564 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 เป็นประธานในการแถลงข่าวและเสวนาออนไลน์เรื่องพฤติกรรมวัยรุ่นกับสารเสพติด หัวข้อ “บุหรี่ต้นทางสู่ยาเสพติดกับกรณีเคนมผง” โดยเป็นการแถลงข่าวออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) และเฟซบุ๊กสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า จากกรณีที่พบผู้เสียชีวิต 9 ราย จากการรวมกลุ่มเสพเคนมผง ซึ่งมีเด็กและเยาวชนรวมอยู่ด้วยนั้น สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการเฝ้าระวังการรวมกลุ่มหรือจัดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้บุคลากรสาธารณสุข ต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการรักษาโรคจากการเสพยาเสพติดของเด็กและเยาวชน จากข้อมูลการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 พบผู้ป่วยทั้งหมด 3,803 คน เป็นเพศชาย 3,256 คน และเพศหญิง 547 คน กลุ่มผู้ป่วยที่มากที่สุดอยู่ในช่วงวัยรุ่นอายุระหว่าง 20-24 ปี 726 คน รองลงมาได้แก่ช่วงอายุระหว่าง 25-29 ปี  692 คน

“เด็กและเยาวชนเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากลอง แต่จะทำอย่างไรให้การอยากรู้ อยากลองเป็นอยู่ในขอบเขตของความถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ส่วนราชการมีนโยบายการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง มีการจับกุมดำเนินกับผู้จำหน่าย และการให้ความรู้ผ่านสถานศึกษาหรือกิจกรรมต่างๆ สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบดูแลบุตรหลาน ซึ่งอาจเริ่มต้นได้จากการสร้างความตระหนักรู้จากการไม่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่อาจเป็นต้นทางสู่ยาสาเสพติดชนิดอื่นๆ ของวัยรุ่นไทย เห็นได้จากจากรายงานการสำรวจของศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์ ปี 2547 พบว่า นักเรียนที่สูบบุหรี่ กว่า 100 คน จะมีพฤติกรรมเสี่ยงใช้ยาเสพติดสูงถึง 10 คน” ดร.สาธิต กล่าว

ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในฐานะกุมารแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างบุหรี่กับยาเสพติดประเภทอื่นๆ ว่า ในทางการแพทย์สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าเด็กหรือเยาวชนคนใดที่มีพฤติกรรมเสพติดบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าและรับนิโคตินเข้าไปเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อสมองให้เปิดรับยาเสพติดอื่นๆ ผ่านการกระตุ้นจากฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนที่สร้างความสัมพันธ์การยอมรับจากหมู่เพื่อนของวัยรุ่นผ่านคำพูดต่าง ๆ เช่น เพื่อนทำได้ ของแบบนี้ต้องลอง เจ๋ง สุดยอดเลยเพื่อน

“นิโคตินในบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าจะวิ่งเข้าสู่สมองภายในไม่เกิน 10 วินาที และเข้าไปบ่มเพาะสมองของเด็กและเยาวชนให้ไวต่อสารเสพติดต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นสมองส่วนอารมณ์ให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งนี้ จึงอยากเตือนไปยังเยาวชนทุกคนให้นึกถึงสุขภาพของตนเองเป็นหลัก เพราะหากสมองเราถูกทำลายไปแล้วจากสิ่งเสพติด อาจทำให้การคิดวิเคราะห์ การควบคุมอารมณ์ การอยู่ร่วมกันทางสังคม ของเราสูญเสียไปโดยสิ้นเชิง” รศ.นพ.สุริยเดวกล่าว

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ส่วนประกอบของยาเคนมผงที่มีการนำมาใช้เป็นยาเสพติด พบว่ามีความอันตรายถึงชีวิต ส่วนผสมของยาเคนมผง มียาเคหรือเคตามีน (Ketamine) เป็นส่วนประกอบหลักร่วมกับยาไอซ์ เฮโรอีนและยานอนหลับที่เรียกว่าโรเซ่ นำมาผสมและบดรวมกันจนละเอียดจะมีลักษณะคล้ายนมผง จึงเป็นที่มาของการเรียกว่ายาเคนมผง ขณะที่ผู้ที่นำเคตามีนไปใช้เสพติด จะมีผลข้างเคียงที่อันตรายได้ เช่น อาการกดระบบประสาทรุนแรง คล้ายคนเมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภาพแสงหรือเสียงเปลี่ยนแปลงไป ระบบการทำงานของหัวใจและการหายใจผิดปกติ รวมไปถึงส่งผลต่อ อาการทางจิต เช่น ฝันร้าย เพ้อคลั่ง ประสาทหลอน จนนำไปสู่คนวิกลจริตได้

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข