วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 07:30 น.

กทม-สาธารณสุข

สสส.ผวาเยาวชนหลงกลแผนโฆษณาชักชวนเล่นพนันออนไลน์พุ่ง

วันพฤหัสบดี ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 17.17 น.

“เจ็บจากโควิดก็เกินพอ อย่าเจ็บต่อเพราะพนัน” สสส.ห่วงเล่นพนันเสี่ยงติดโควิด –19 พุ่ง หลังพบเยาวชนหลงกลเว็บพนันออนไลน์ ถูกหลอกให้เล่น-ใช้ให้โฆษณาถึง 40 % แนะหักดิบตัดใจเลิกเล่นหยุดยั้งความเสียหาย

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดเสวนารณรงค์รับมือกับการพนันช่วงการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2021 และพิธีมอบสื่อรณรงค์แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พ.ต.อ.จีรเดช ชมบุญ ผู้กำกับการกลุ่มงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม กองแผนงานอาชญากรรม เป็นผู้รับมอบ เพื่อให้เยาวชนและประชาชนหยุดข้องเกี่ยวรู้เท่าทันสื่อโฆษณาที่เข้ามาชักชวนเล่นการพนัน

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2562 ของศูนย์ศึกษาปัญหาพนันพบว่ามีคนไทย 57% (30.4ล้านคน) ที่เล่นการพนัน  ซึ่งคนไทยเล่นการพนันทายผลฟุตบอล 3.4 ล้านคน กลุ่มเด็กและเยาวชนจะถูกเว็บพนันหลอกล่อให้โฆษณาเชิญชวนคนใกล้ตัวให้มาเล่นพนัน โดยเอาเงินเป็นตัวล่อเพื่อแลกกับเงิน 300-500 บาท ขณะที่บุคคลใกล้ตัวและโฆษณาเว็บพนันเป็นสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เยาวชนคิดว่าการเล่นพนันเป็นเรื่องปกติ  และแม้เยาวชนส่วนใหญ่จะรู้ว่าการพนันทำให้เกิดปัญหาหนี้สินและส่งผลต่อการเรียน แต่ขณะเดียวกันก็มีความคิดที่ว่าการพนันเป็นช่องทางหารายได้ ทำให้มีเรื่องคุยกับเพื่อน และทำให้การดูฟุตบอลสนุกขึ้น ซึ่งการชักชวนการเล่นการพนันทุกรูปแบบ ผิดกฎหมายตาม พรบ.การพนัน 2478 มาตรา 12 ผู้ใดจัดให้มีการเล่น หรือโฆษณาชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้ประชาชนเล่นการพนัน

“ในช่วงฟุตบอลยูโร ฯ อาจจะมีการรวมกลุ่มสังสรรค์ ดูฟุตบอล ร่วมกับการดื่มสุรา สูบบุหรี่ และ เล่นพนัน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการรับและแพร่เชื้อโควิด 19 สสส. ขอเชิญชวนดูบอลที่บ้านกับครอบครัว หลีกเลี่ยงการสังสรรค์ ดูบอลสนุกได้โดยไม่ต้องพนัน” นางสาวรุ่งอรุณกล่าว

นายธนากร  คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า จากการสำรวจเยาวชนไทยที่หลงกลการพนันออนไลน์ อายุ 15- 24 ปี จาก 15 จังหวัดทั่วทุกภาค จำนวน 1,937 คน ระหว่างวันที่ 11-20 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า มีเยาวชนไทยร้อยละ 37.6 ถูกหลอกให้เล่นพนันออนไลน์  ในจำนวนนี้เกือบ 40 % เล่นเป็นประจำทุกวัน โดยการพนันที่วัยรุ่นเข้าเล่นมากที่สุด คือ บาคาร่า พนันฟุตบอล ทายไพ่  หวย และสล็อต  ร้อยละ 30  ใช้เงินเล่นพนันมากกว่าครั้งละ 1,000 บาท ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่เข้าถึงพนันออนไลน์ก่อนอายุ 20 ปี ซึ่งมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยถูกหลอกใช้ให้โฆษณาเว็บพนัน โดยมีเงินเป็นตัวล่อให้รีวิว โพสต์ หรือแชร์เชิญชวนให้เล่นพนัน ซึ่งเกือบร้อยละ 40 ได้รับค่าตอบแทนไม่ถึง 500 บาท เกือบร้อยละ 20 ทำมานานกว่า 1 ปี อีกเกือบร้อยละ 30 ทำมานานกว่า 6 เดือน และมีอีกกว่า ร้อยละ 45 เป็นนักโพสต์ นักแชร์มือใหม่ไม่เกิน 6 เดือน โดยแอปพลิเคชันในการโพสต์ แชร์ ช่องทางหลัก คือ เฟซบุ๊กและไลน์  ส่วนแอปพลิเคชันช่องทางใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม คือ ติ๊กต็อก 

“เส้นทางการรับงาน เว็บพนันจะใช้วิธีเพื่อนชวนเพื่อน หรือใช้ให้เอเย่นต์โฆษณาติดต่อมา เด็กเยาวชนจะโพสต์ในเฟซบุ๊กของตนเองในการรีวิว ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กเยาวชนโดยส่วนใหญ่มีทัศนคติว่า การรีวิว โพสต์ แชร์ โฆษณาเว็บพนันไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย เป็นช่องทางหารายได้ ถึงแม้จะผิดกฎหมายก็ตาม  มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้สึกผิดที่โพสต์แชร์ผู้อื่นชวนพนัน” นายธนากรกล่าว

ด้าน วรรณา ทวาทศ หรือ มัม ลาโคนิค ศิลปินนักร้อง กล่าวว่า ย้อนกลับไปช่วงอายุ 30 ปี ตนเองเล่นพนันมาเกือบ 10 ปี  เข้าบ่อนทุกวัน เสียเงินวันละประมาณ 3-4 แสนบาท สะสมจำนวนหลายล้านบาท เสียทรัพย์สินจำนวนมาก ไม่มีเงินเก็บ หรือสังหาริมทรัพย์อะไรเลย ทำให้คนในครอบครัวโดยเฉพาะแม่เสียใจ วันหนึ่งตื่นมาแล้วคิดว่า เล่นทำไม ทำงานแทบตาย ทำงานไปเท่าไหร่ เสียไปเท่าไหร่ เล่นเพื่ออะไร และได้อะไร พอรู้ตัวก็ตัดสินใจจะไม่เล่นต่อไปอีกแล้ว แล้วหักดิบเลิกเล่นเลย

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข