วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 13:05 น.

กทม-สาธารณสุข

ชู “เพชรบูรณ์โมเดล” ต้นแบบริการปฐมภูมิสู่วิถีใหม่เขตเมือง

วันอังคาร ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 18.08 น.

สสส.จับมือ สพบ. มสช. หนุนปรับรูปแบบบริการปฐมภูมิสู่วิถีใหม่เขตเมือง ส่งเสริมประชาชนจัดการสุขภาพตนเอง ชู “เพชรบูรณ์โมเดล” พบคนไข้สนใจดูแลตัวเองถึง 60 % ลดเดินทางหาหมอ ลดติดเชื้อโควิด-19 ชวนขยายผลครอบคลุมโรงพยาบาลทั่วประเทศ

พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  สสส. ร่วมกับสถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ “ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดบริการปฐมภูมิสู่วิถีใหม่โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดการจัดการสุขภาพตนเองของประชาชน : โดยใช้เบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นกรณีศึกษา ในเครือข่ายระดับโรงพยาบาลชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง” เพื่อเพิ่มคุณค่าของการจัดบริการและยกระดับผลลัพธ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดีขึ้นใน 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านการให้บริการ และมิติการใช้ทรัพยากร โดยเสริมพลังและหนุนเสริมการพัฒนารูปแบบบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการของเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง และโรงพยาบาลทั่วไป ในการดูแลผู้ป่วย โดยสนับสนุนให้โรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ สามารถใช้ศักยภาพในการจัดการตนเองโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มุ่งจัดการสุขภาพตนเองและสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพเพื่อขยายผลระบบบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน มีส่วนร่วมในการวางแผนการดูแลสุขภาพตนเอง

“ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ติดตามอาการ โดยที่ผู้ป่วยไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้ไม่สามารถควบคุมโรคได้ การบริการสุขภาพแบบจัดการตนเอง (Redesign Service Delivery hopes to Health literacy and Selfmanagement ) จะทำให้ผู้ป่วยได้รู้วิธีในการบริหารจัดการตนเอง โดยให้ผู้ป่วยร่วมออกแบบการดูแลตัวเอง สอดคล้องกับบริบทผู้ป่วยในแต่ละคน แต่ละพื้นที่ โดยมีการติดตามผลหรือประเมินอาการของผู้ป่วย จากทีมอาสาสมัครในชุมชน แพทย์ พยาบาล เข้าไปให้ความรู้ และเกิดนวัตกรรมในพื้นที่ชุมชน ขณะนี้ได้นำร่องในโรงพยาบาลต่างๆ 30 แห่ง จะมีการถอดบทเรียน และนำรูปแบบของแต่ละพื้นที่มาสรุปเพื่อให้เห็นต้นแบบ ก่อนจะนำไปสู่การผลักดันนโยบายเพื่อขับเคลื่อนขยายผลต่อไป” พญ. ขจีรัตน์ กล่าว

พญ.ดวงดาว ศรียากูล ผู้จัดการโครงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการบริการปฐมภูมิสู่วิถีใหม่ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และรองสถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดัน มีปัญหาเชิงพฤติกรรม ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร โครงการนี้จะให้ความรู้ ช่วยเหลือคนไข้ว่าต้องการดูแลตัวเองอย่างไร คนไข้มีทางเลือกในการรักษาและจัดการดูแลตัวเองมากขึ้น จากการนำรูปแบบในโครงการไปใช้ในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ในพื้นที่เขตเทศบาลเมือง ซึ่งมีประชากร ประมาณ 30,000 คน คนไข้กระตือรือร้นพยายามเรียนรู้ได้ดีขึ้นถึง 60 %ยิ่งในช่วงโควิด-19 พบว่า ประชาชนหันมาให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพของตนเอง พึ่งพาตนเองมากขึ้น ประชาชนให้ความสนใจ Home Monitoring ที่มีเครื่องมือวัดไข้ เช็คความดันให้แก่ประชาชน มองว่าตัวเองก็สามารถใช้งานเครื่องมือเหล่านั้นได้ เปลี่ยนมุมมองผู้ป่วยช่วยให้ดูแลตัวเองและอยู่ในชีวิต New Normal ได้ และเป็นการลดการมาโรงพยาบาล ลดการติดเชื้อโควิด-19

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าวุ้ง จ.ลพบุรี และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) กล่าวว่า โรงพยาบาลท่าวุ้ง เป็น 1 ในพื้นที่นำร่องร่วมกับโรงพยาบาล 30 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการฯ การดำเนินการได้รับผลตอบรับที่ดีมากทั้งในแง่ของผู้ให้บริการ และผู้ป่วย ซึ่งจะเริ่มจากหน่วยบริการเชื่อมโยงสู่ชุมชน และผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลส่งเสริมสุขภาพ โดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ หรือแพทย์ประจำตัว ให้ความรู้ในการจัดการตนเองแก่ผู้ป่วย และผู้ป่วยสามารถเสนอวิธีที่เหมาะสมกับตนเอง การปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการใหม่ จะทำให้ผู้ป่วยจัดการตนเองได้ โดยจัดให้มีจุดเช็คอินในหมู่บ้าน มีทีมแพทย์อาสาสมัครชุมชนคอยดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล และหากจำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ก็จะสามารถเข้าถึงการบริการที่แพทย์สามารถสอบถามอาการ และเช็คอาการอื่นๆ แก่ผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ สสส. สนับสนุนจัดกิจกรรมเวิร์กชอป ให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในการบริการปฐมภูมิสู่วิถีใหม่ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง แก่ผู้ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็น ทีมแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ  ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนเกิดความหวัง และมีความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถทำได้

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข