วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 09:02 น.

กทม-สาธารณสุข

สสส.ฉีดวัคซีนเด็กเล็กสร้างภูมิป้องกันปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่-การพนัน

วันพฤหัสบดี ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565, 15.02 น.

สสส.ชูโมเดลสื่อสร้างภูมิเกราะป้องกันเด็กเล็ก รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่-การพนัน-อุบัติเหตุทางถนน 138 ร.ร.ทั่วประเทศ ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ฝึกความคิด ตระหนัก-แก้ปัญหา-ตัดสินใจ-ส่งต่อความรู้ ต่อยอดขยาย รร.ตะเวนชายแดน 42 แห่ง

วันที่ 9  กุมภาพันธ์ 2565 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนา “บทสรุปการสร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ การพนันและอุบัติเหตุทางถนนสำหรับเด็กวัยอนุบาลและนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ผ่านชุดสื่อกิจกรรมของโครงการอารักข์ และโครงการอาสา” พร้อมสาธิตฐานกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ ซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของโครงการฯ

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า  ซึ่งปัจจัยเสี่ยงจากบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ และการพนัน อยู่แวดล้อมใกล้ตัวเด็กและเยาวชนไทย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ปี 2562 ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ 70,952 คน และเสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง 9,435 คนต่อปี  ทั้งนี้ยังมีคนไทย 13 ล้านคน ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านทุกวัน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า เยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ร้อยละ 12.7  มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 20.9% หรือเฉลี่ย 1.9 ล้านคน นอกจากนี้อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุของการตายลำดับต้นๆ ของเด็กอายุ 15-19 ปี ขณะที่ปัญหาการพนันพบว่า ประชาชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนรอบข้างเล่นการพนันถึง 98.9% มีเยาวชนอายุ 15-25 ปี เล่นการพนันถึง 4.3 ล้านคน สสส. จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการมุ่งการป้องกันเด็กและเยาวชนให้ห่างจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยมุ่งพัฒนาจิตสำนึกสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่เยาววัยผ่านการเรียนรู้ให้เด็ก “มีสติบนฐานของการรู้จริง” อันจะเป็นตัวช่วยในการคิดอย่างรู้เท่าทันที่จะนำไปสู่การตัดสินใจแยกแยะ หรือเลือกทางปฏิบัติเพื่อพาเด็กให้รอดพ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้

นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวว่า จากการสนับสนุนโครงการการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (โครงการอารักข์ฯ) ในประเด็นการพนันและอุบัติเหตุ และโครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงจากเหล้าและบุหรี่ (โครงการอาสา) ซึ่งมีแนวคิดสร้างภูมิคุ้มกันจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพื่อสร้างการเรียนรู้ ฝึกให้เด็กระดับชั้นอนุบาล และประถมศึกษาตอนต้น ได้รู้จักคิด ตัดสินใจแก้ปัญหา ผ่านโมเดลสื่อการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับคณะครู เด็ก และคนในชุมชนกว่า 2,000 คน ในโรงเรียน 138 แห่ง จากการประเมินผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2562-2564 พบว่า ครูทุกโรงเรียนมีความเห็นว่าชุดสื่อกิจกรรมสามารถนำไปใช้ได้จริงในสถานศึกษาถึง 96% ชุดสื่อมีความเหมาะสมกับพัฒนาการตามวัย 91% และมีฐานคิดทฤษฎีรองรับการพัฒนาชุดสื่อกิจกรรมให้เหมาะกับวัย 93% โดยปัจจุบันโมเดลสื่อการเรียนการสอนของโครงการฯ ถูกนำมาต่อยอดไปใช้ในโรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 รวม 42 แห่ง และเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ของโครงการ โครงการ “อาสา ARSA Project/โครงการ อารักข์ ARRAG Project”

ดร.อัญญมณี บุญซื่อ หัวหน้าโครงการอารักข์ และอาสา กล่าวว่า โครงการอารักข์ฯ มีแนวคิดจากการพัฒนากิจกรรม “ฝึกสติผ่านการเล่น” ผสมผสานกับหลักทักษะการพัฒนาสมองส่วนหน้า (Executive Function) กับ การคิดวิเคราะห์ถึงปัญหา (Computational Thinking) ฝึกเด็กให้รู้จักคิดตัดสินใจแก้ปัญหา แบ่งกิจกรรม 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มสัมผัส ฝึกให้เด็กค้นหาตนเอง 2.กลุ่มสัมพันธ์ ฝึกให้รับรู้ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และฝึกตนเองให้อยู่รอดจากความเสี่ยง 3.กลุ่มสัมปชัญญะ ฝึกให้คิดริเริ่มแก้ปัญหาเข้าใจถึงเรื่องความปลอดภัย และ4. กลุ่มสำรวจ ฝึกให้เข้าใจความหมายของปัจจัยเสี่ยงในสังคมและหาวิธีในการแก้ปัญหาให้สอดรับกับค่านิยม วัฒนธรรมและกติกาของสังคม ทั้งนี้ได้ดำเนินการทดลองการใช้ชุดสื่อกิจกรรมกับโรงเรียน 22 แห่งทั่วประเทศ

ดร.อัญญมณี กล่าวต่อว่า โครงการอาสา มีแนวคิดจากการสร้างภูมิคุ้มกันจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ มาสร้าง “พลังในตนเอง” ในการปรับมุมมองใหม่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ด้วยการพัฒนาชุดสื่อผ่านกิจกรรมฝึกสติ ให้เกิดการเล่นที่สอดคล้องกับธรรมชาติและการเรียนรู้ที่แท้จริง โดยประยุกต์จากแนวคิดแบบ Design Thinking ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การสร้างความตระหนักถึงภัยจากเหล้าและบุหรี่ผ่านละคร 2.การวินิจฉัยความเป็นกลุ่มเสี่ยงของเด็กผ่านกิจกรรมร้านค้า 3.การฝึกจัดการความเครียดด้วยปัญญาแทนการพึ่งเหล้าและบุหรี่ 4.การรู้วิธีการดูแลสุขภาพจากการล้างมือให้สะอาดและฝึกตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวจากกิจกรรมอบแบบอาหาร และ 5.การเป็นไอดอลเด็กเพื่อเป็นกระบอกเสียงสอนผู้ใหญ่ให้ตระหนักถึงภัยจากเหล้าและบุหรี่ ปัจจุบันได้ทดลองการใช้ชุดกิจกรรมกับโรงเรียน 41 แห่งทั่วประเทศ

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข