วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 05:44 น.

อาชญากรรม

คดี “บอส” ยังวุ่น “ปรเมศวร์” วอนสังคมมองข้อเท็จจริงให้รอบด้าน

วันพฤหัสบดี ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563, 19.22 น.

“ปรเมศวร์” เผยรายละเอียดคดี “บอส” มีข้อบ่งชี้เป็นเหตุสุดวิสัย แนะต้องหาความเร็วที่สัมพันธ์กันของรถทุกคัน วอนสังคม มองข้อเท็จจริงในคดีให้รอบด้าน พร้อมเสนอ “วิชา มหาคุณ” ค้นหาแนวทางสร้างยุติธรรมเท่าเทียม คนทุกระดับได้โอกาสเข้าถึงการต่อสู้ทางคดีที่เท่าเทียม

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี ในฐานะคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา “บอส” ผู้ต้องหาในคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เมื่อปี 2555 ว่า ตำรวจส่งสำนวนมาให้อัยการพิจารณาในปี 2556 มีหลายข้อกล่าวหา มีทั้งฟ้องและไม่ฟ้อง หลังจากได้รับการพิสูจน์ คือ ข้อกล่าวหาที่ฟ้อง ได้แก่ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหาย , ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อกล่าวหาที่ไม่ฟ้อง ได้แก่ ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เพราะมีผลตรวจสอบของร่างกาย ทั้งปริมาณแอลกอฮอล์ของนายวรยุทธที่ตรวจในวันเกิดเหตุในช่วงเย็น ซึ่งทิ้งเวลาห่างจากช่วงที่เกิดอุบัติเหตุ 11 ชั่วโมง ตามความเห็นแพทย์ระบุว่าหากดื่มก่อนเกิดเหตุจริงจะมีปริมาณแอลกฮอล์ในเลือดสูงกว่า 380 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่สามารถประคองตัวได้ ดังนั้นการตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้อาจคลี่คลายได้หากตรวจวัดแอลกอฮอล์ตั้งแต่แรกของการเกิดอุบัติเหตุ

ส่วนข้อหาขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งยกฟ้องด้วยนั้น เพราะในเอกสารมีเพียงกระดาษเป็นใบปะหน้าแผ่นเดียวระบุว่าความเร็วอยู่ที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 177 กิโลเมตรนั้นไม่ระบุถึงวิธีการคำนวณ และไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ มีเพียงคำให้การจากการตรวจสภาพความเสียหายของรถ และคำให้การของ พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่นเท่านั้นว่าขับรถเร็วที่ใช้เป็นเหตุของความประมาท

“ความเร็วที่พูดกลับไปกลับมานั้น ต้องดูหลายเรื่องที่เกี่ยวพันกัน ที่พ.ต.ท.ธนสิทธิให้ปากคำตามคำสั่งให้สอบเพิ่มเติมว่า ครั้งแรกคำนวณพลาด และต่อมาคำนวณใหม่ได้ความเร็วที่ 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมแสดงมีวิธีคำนวณ ต่อมา กมธ.ของ สนช. เชิญ ดร.สายประสิทธิ เกิดนิยม อาจารย์ประจำ และหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมา ด้วยความรู้ทางวิชาการและเคยทำคดีสำคัญ คือ การฆาตกรรมอำพรางเสี่ยชูวงษ์ จากนั้นปี 2559 มีการร้องขอความเป็นธรรม โดยระบุถึงผลตรวจสอบจาก กมธ.ของ สนช.” นายปรเมศวร์กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีรายงานของ กมธ. ของ สนช. มีผลต่อความน่าเชื่อถือในคดีหรือไม่ นายปรเมศวร์ กล่าวว่า เมื่อมีคำร้องเข้ามาและระบุถึงรายงานของ กมธ. กฎหมายการยุติธรรมและกิจการตำรวจ ของ สนช.ต้องรับฟัง โดยไม่ดูว่า กมธ.ของ สนช. นั้นมีที่มาอย่างไร อีกทั้งการพิจารณาของอัยการอยู่บนพื้นฐานว่าไม่รู้ทุกเรื่อง ดังนั้นเมื่อผู้แทนประชาชนทักมาต้องให้ความสำคัญและรับฟัง และเมื่อตรวจสอบแล้วพบการเสนอความเห็นด้วยว่า ควรกลับความเห็น และไม่มีการสั่งเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดีในปี 2562 ช่วงวันที่ 7 ตุลาคม 2562 พบการร้องขอให้สอบนายจารุชาติ มาดทอง ผู้ขับรถกระบะในวันเกิดเหตุเพิ่มเติม หลังจากที่เคยให้ปากคำแล้วเมื่อปี 55 หลังเกิดอุบัติเหตุแล้ว 5 วัน ในประเด็นเรื่องความเร็วของรถ เพิ่มเติมจากเดิมที่ให้ปากคำเพียงว่า วันเกิดเหตุ ด.ต.วิเชียร เปลี่ยนช่องทางการจราจรจากซ้ายสุด ไปขวาสุด โดยขี่ผ่านหน้ารถกระบะของนายจารุชาติที่อยู่เลนสอง ทำให้นายจารุชาติต้องหักหลบไปเลนหนึ่ง ทั้งนี้ด.ต.วิเชียร์ขี่จากเลนซ้ายสุดไปขวาสุดและเกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งความเร็วที่นายจารุชาติบอกนั้นคือ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสำนวนตำรวจสั่งไม่ฟ้อง เพราะวิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพราะเป็นเหตุสุดวิสัย

“ข้อเท็จจริงหลังจากที่รถชนกัน คือด้วยโมเมนตั้มที่เกิดจากการชนกันของรถทำให้ดันรถจักรยานยนต์ที่ไม่มีคนขี่ไปข้างหน้า จากนั้นร่างของ ด.ต.วิเชียรกระเด็นมาทางด้านหลังและเมื่อเฟอร์รารี่เบรค ร่างผู้เสียชีวิตจึงตกมาทางด้านข้างฝั่งซ้ายของรถ  ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานแล้ว พบว่ารถเฟอร์รารี่ไม่ลากศพ ทั้งนี้ควรต้องพิสูจน์หาความเร็วที่สัมพันธ์กันของรถทั้งสองด้วย เพราะรถจักรยานต์ของดาบวิเชียร ที่มาในช่องทางที่ 1 แต่เกิดการชนกันในช่องทางที่ 3 เป็นไปได้ว่ามีการเปลี่ยนเลนกะทันหัน ซึ่งตรงกับคำให้การของนายจารุชาติ มาดทอง หลังเกิดเหตุ 5 วัน”นายปรเมศวร์กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีของอัยการที่ไม่ฟ้อง ทำให้สังคมวิจารณ์เรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ตามกฎหมายให้สิทธิอัยการถอนฟ้องได้ แต่ไม่ตัดสิทธิการพิสูจน์ตนเองได้ตลอดเวลา หากกรณีที่อัยการถอนฟ้อง แต่ต่อมามีข้อเท็จจริงเปลี่ยน หรือไม่เป็นไปตามการสอบสวน มีพยานหลักฐานใหม่ สามารถกลับมาพิจารณาได้ โดยที่ผ่านมามีหลายคดีที่อัยการเคยถอนฟ้อง ส่วนคดียุติหรือที่ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ต่อ จะมี 2 กรณี คือ คดีขาดอายุความ และศาลพิพากษาให้คดีถึงที่สุด ดังนั้นกรณีที่บอกว่าคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องของอัยการ หมายความว่าห้ามสอบสวนบุคคลอีก เว้นแต่มีพยานหลักฐานใหม่

“เรื่องนี้หากได้ตัวมาฟ้อง มีสำนวนสอบสวนใหม่ที่ได้ทำเพิ่มเติม เรื่องความเร็ว จากนั้นส่งไปศาล ส่วนศาลจะลงหรือไม่นั้น ผมขอยกตัวอย่างว่า คดีของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ ที่มีข้อถกเถียงว่าฆ่าตัวตายหรือฆาตกรรม เมื่อมีคนตายต้องพิสูจน์หลายครั้ง รวมถึงมีความเห็นของนักอาชญวิทยา ใช้ความเห็นของแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 17 คน แต่สุดท้ายศาลพูดว่า เราไม่รู้ว่าฆ่าตัวตายหรือถูกฆ่าจึงยกฟ้อง” นายปรเมศวร์ กล่าว

อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี กล่าวด้วยว่าส่วนกรณีที่สังคมวิจารณ์ว่าคนรวยจึงรอดคดีนั้น ตนมองว่าสังคมไทยเป็นสังคมชอบพูด แต่ไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด อย่างคดีตายาย เก็บเห็ดที่ถูกดำเนินคดี ข้อเท็จจริงคือเขาเป็นคนดูต้นทางให้กับคนลักลอบตัดต้นไม้ สิ่งที่สังคมไทยวิจารณ์นั้น อยากให้พิจารณาว่า คนรวยนั้นมีโอกาสแสวงหาข้อมูลต่อสู้ได้มากกว่าคนจน ไม่ใช่ว่าคนรวยมีโอกาสรอดจากการติดคุกมากกว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อจากนี้ คือ คณะของนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะทำงานตรวจสอบคดีอาญาสำคัญ​ ควรพิจารณาถึงการหาช่องทางที่ทำให้โอกาสการแสวงหาการต่อสู้คดีทุกคนเป็นไปอย่างเท่าเทียม รวมถึงโอกาสการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

“สังคมเรา หรือการทำงานเปิดเผยข้อมูลของสื่อมวลชนนั้น อาจเห็นต่างกันได้ ซึ่งการทำงานของสื่อที่ผ่านมา วิจารณ์กันไปเพราะได้ข้อมูลไม่ครบ จึงใช้จินตนาการ หรือนึกไปเอง เช่น มองว่าเฟอร์รารี่ลากศพ เขามีสิทธิคิดได้ เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมด เขาจึงวิจารณ์ตามที่เขารู้ ส่วนการทำงานของอัยการก็บอกกันว่าสิ่งที่เขาวิจารณ์เพราะเขาไม่ได้เห็นเหมือนอย่างที่เราเห็นในสำนวน  จะไปโกรธเขาไม่ได้ หรือห้ามวิจารณ์ไม่ได้ ดังนั้นต้องใจกว้าง สำหรับคดีนายวรยุทธ เคยมีนักการเมืองโทรศัพท์มาขอสำนวนการสอบสวน แต่คดีนี้ยังไม่จบ และเป็นความลับทางราชการ ยังให้ไม่ได้ เพราะหากเปิดรายละเอียดทั้งหมดระหว่างที่คดีไม่หมดอายุความอาจะทำให้ผู้อื่นเสียหายได้” อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรีกล่าว

เมื่อถามว่ากรณีที่อัยการระบุให้ทำสำนวนว่าด้วยการเสพสารเสพติดจะต้องดำเนินการอย่างไร นายปรเมศวร์  กล่าวว่า ต้องสอบแพทย์เพิ่มเติม เพราะก่อนหน้านี้มีในสำนวนระบุว่าอาจเป็นผลลวงในการตรวจเลือดที่เกิดจากการตรวจเพียงครั้งเดียว จริงๆต้องตรวจ 2 ครั้ง  เลยทำให้พบสารตรวจพบสารเสพติดชนิดดังกล่าว แต่ล่าสุดพบว่ามีแพทยสภาออกระบุว่าหากตรวจสอบสารเสพติด ก็แสดงว่าเสพสารเสพติดนั้นแน่นอน ไม่ใช่การแสดงผลลวง จึงจำเป็นต้องสอบเพิ่มเติมแพทย์ที่ให้ความเห็นนั้นเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งฟ้องข้อหานี้

หน้าแรก » อาชญากรรม