วันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 12:46 น.

เศรษฐกิจ

ทางหลวงแจงเหตุร้องวงแหวนรอบ๓ตะวันตก ยันศึกษาเหมาะสม

วันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562, 13.12 น.

ทางหลวงแจงเหตุร้องวงแหวนรอบ๓ตะวันตก ยันศึกษาเหมาะสม




นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวชี้แจงกรณีประชาชนร้องเรียนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ ๓ ด้านตะวันตก ตามที่ปรากฏในข่าวมีตัวแทนภาคประชาชนจากจังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา จำนวนมากเดินทางมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยขอให้ตรวจสอบกรณีกรมทางหลวง มีแผนจะก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 ฝั่งตะวันตก ในประเด็นต่อไปนี้

1.โครงการดังกล่าว ซึ่งทางขึ้น-ลงอยู่ใจกลางหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 ถนนบรมราชชนนี หมู่ที่ 1 ตำบลบางเตย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม แต่ไม่เคยเปิดประชาพิจารณ์ และให้ข้อมูลกับประชาชนไม่ชัดเจ

2.เส้นทางที่มอเตอร์เวย์ผ่านเป็นแหล่งชุมชนจำนวนมาก อาทิ โรงพยาบาล โรงงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ทำให้ทุกภาคส่วนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

3.ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปทบทวนรูปแบบการก่อสร้างใหม่ และขอให้กรมทางหลวง หามาตรการป้องกันแก้ไข และรองรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อ

4.ขอให้ สตง.ตรวจสอบการใช้งบประมาณว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ และหากโครงการนี้ไม่ยกเลิก หรือหาทางแก้ไขไม่ได้ ประชาชนก็จะรวมตัวกันคัดค้านแบบนี้ตลอดไป
       

 

ทั้งนี้ กรมทางหลวง ขอชี้แจงสำหรับประเด็นที่1 ว่าในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมในการจะดำเนินโครงการนั้น ทล.มีการจัดทำความคิดเห็นของประชาชนมาโดยตลอด ในรูปแบบจะมีการจัดประชุมเพื่อฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้ว 4 ครั้ง (จากทั้งหมด 5 ครั้ง) โดยครั้งที่ 1 เป็นการปฐมนิเทศโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 336 คน ครั้งที่ 2 เป็นการประชุมหารือแนวเส้นทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 1,054 คน ครั้งที่ 3 เป็นการประชุมสรุปผลการศึกษาแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 892 คน และครั้งที่ 4 เป็นการประชุมหารือมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบของโครงการ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 25 ก.พ. – 3 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยในแต่ละครั้งจะเชิญกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ อาทิเช่น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน กลุ่มผู้นำชุมชนในพื้นที่ กลุ่มพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมรับฟัง และให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินโครงการ       
 สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งที่ 4 นั้น เนื่องจากการออกแบบเบื้องต้นมีแนวเส้นทางที่มีความชัดเจนแล้ว จึงมีการเชิญเจ้าของที่ดินแปลงที่อยู่ในแนวเวนคืนเบื้องต้นเข้าร่วมประชุมโดยตรงด้วย สำหรับหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 มีประมาณ 50หลังคาเรือน
         

สำหรับประเด็นที่2 นั้น ในการศึกษาเพื่อพิจารณาดำเนินการทำโครงการแนวทางนั้น กรมทางหลวง และที่ปรึกษา ได้ทำการพิจารณาเพื่อจะหลีกเลี่ยงพื้นที่อ่อนไหว และกระทบสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ทั้งนี้ ยังได้ทำการศึกษาเพื่อให้ได้รับประโยชน์ด้านทางเศรษฐกิจ ด้านวิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการตรวจสอบรายละเอียดพบว่า ไม่ได้ผ่านโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย แต่ได้มีแนวทางผ่านโรงพยาบาลศาลายาแต่เป็นบริเวณลานจอดรถ โดยเป็นลักษณะผ่านแบบประชิด และเมื่อวันที่ 29ต.ค.61ที่ปรึกษาโครงการได้ทำการชี้แจงกับทางโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว สำหรับการผ่านสำหรับกรณีผ่านโรงงานและชุมชุนนั้น ได้พิจารณาลดผลกระทบอย่างสูงสุดเพื่อให้แนวเส้นทางมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง แต่เนื่องจากแนวเส้นทางมีความยาว 98 กม. บางตำแหน่งจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในการดำเนินงาน กรมทางหลวงและที่ปรึกษาได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก และได้มีการกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งในระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และระยะดำเนินการแล้ว
           

สำหรับประเด็นที่ 3 นั้น ในการศึกษาแนวเส้นนั้นการศึกษารูปแบบกรมทางหลวงได้กำหนดการเลือกเส้นทางอยู่ 3รูปแบบ และการให้คะแนน ทั้งด้านวิศวกรรม ด้านปริมาณจราจร ด้านการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยจะคัดเลือกแนวทางที่เหมาะสม ในส่วนของทางแยกต่างระดับที่เป็นทางเข้าออกโครงการฯ บริเวณหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 ที่มีการร้องเรียนนั้น ที่ปรึกษาได้มีการพิจารณาเปรียบเทียบรูปแบบทางเลือกของทางแยกต่างระดับ 3 รูปแบบ โดยมีการให้คะแนนทั้งในด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้คัดเลือกรูปแบบที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ประชาชนหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 ได้เข้ามายื่นข้อร้องเรียนที่กรมทางหลวง ซึ่งกรมทางหลวงได้รับทราบปัญหาแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาลดผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องเรียนทราบภายในวันที่ 19 เมษายน 2562

สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านตะวันตก (ระยะทาง 98 กม.) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (ระยะทาง 254 กม.) ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยกรมทางหลวงได้เคยทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2552 ปัจจุบัน เนื่องจากเมืองมีการเจริญเติบโตและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 หรือ ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 2 เริ่มมีปัญหาการจราจรติดขัด กรมทางหลวงจึงได้ทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านตะวันตก ใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยมีการศึกษาทบทวนแนวเส้นทางและรูปแบบการก่อสร้างให้เหมาะสมกับสภาพในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสมฯ ของโครงการ

ในขั้นตอนของการศึกษาความเหมาะสมฯ ของโครงการ กรมทางหลวง ได้ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามวิธีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งได้นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 มาใช้ประกอบการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันด้านตะวันออก อยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบช่วงระหว่าง ทล.32 -ทล.305 ปี 62 และทล.305-ทล.34 ปี 61 ระยะทางรวมประมาณ 96 กม. ด้านตะวันตก อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมระยะทางประมาณ98กม.ผลการศึกษาเบื้องต้น มีความคุ้มค่าในการลงทุน (EIRR ประมาณ 15.8% ) และด้านใต้ ระยะทางประมาณ 60กม.ชะลอจากผลกระทบของโครงการถนนเชื่อมสมุทรปราการ-สมุทรสาครของกรมทางหลวงชนบท