วันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 18:04 น.

เศรษฐกิจ

กฟผ. บุกธุรกิจ “มาตรวิทยา” เรื่อง ‘ความเป๊ะ’ ให้เราดูแล

วันพุธ ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562, 12.01 น.

กฟผ. บุกธุรกิจ “มาตรวิทยา” เรื่อง ‘ความเป๊ะ’ ให้เราดูแล

 

กฟผ. บุกธุรกิจ “มาตรวิทยา” ร่วมสร้างสังคมแห่งความเที่ยงตรงมุ่งประสิทธิภาพ สร้างประสิทธิผลงานสอบเทียบเครื่องมือวัด ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยคุณภาพมาตรฐานระดับสากล จากทีมงานมืออาชีพมากด้วยประสบการณ์

อาคารรูปร่างแปลกตาที่ตั้งตระหง่านอยู่ในพื้นที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เป็นที่ตั้งของ “ศูนย์มาตรวิทยาและสอบเทียบเครื่องมือวัด กฟผ.” (Metrology and Calibration Center) ภายใต้การดูแลของกองมาตรวิทยาและสอบเทียบเครื่องมือวัด ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า (อบฟ.) สังกัดผู้ช่วยผู้ว่าการธุรกิจบำรุงรักษา (ชธธ.) สายงานรองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (รวธ.) มีหน้าที่ให้บริการงานมาตรวิทยาและสอบเทียบเครื่องมือวัดให้กับหน่วยงานภายใน และภายนอก กฟผ. ด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่มีคุณภาพตามมาตรฐานระดับสากล โดยเปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00 – 16.00 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ช่องทางการติดต่อ โทร. 02 436 6227 Email:mcc@egat.co.th Line@: @ubi1874g และ Facebook: Egat Calibration Lab

มาตรวิทยา” มีความสำคัญอย่างไร

“มาตรวิทยา คือ หลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยความถูกต้องของผลการวัด พูดง่ายๆ คือ ไม้เมตรความยาว 1 เมตรนั้น จะเท่ากับ 1 เมตรเสมอ ไม่ว่าจะนำไปเทียบที่ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา จีน หรือประเทศใด ก็ยาวเท่ากับ 1 เมตร หรือน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ก็จะชั่งได้ 1 กิโลกรัมเท่ากันทั่วโลก เรียกว่า กระบวนการ “Metrological Traceability” ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะความยาว หรือน้ำหนักเท่านั้น แต่มีเรื่องของอุณหภูมิ เคมี ชีวภาพ รวมไปถึงห้องปฏิบัติการ หรือ Lab ด้วย

 

 

การดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าก็เช่นกัน อุปกรณ์เครื่องมือวัดทุกชิ้นภายในโรงไฟฟ้า จะต้องได้รับการสอบเทียบว่ามีค่าที่ถูกต้องตรงตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของเครื่องจักร บุคลากรและเพื่อคุณภาพที่ดีของไฟฟ้าแต่ละหน่วย เพราะเครื่องมือหรืออุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ เพียงชิ้นเดียว หากมีค่าคลาดเคลื่อนไปจากค่ามาตรฐาน ก็สามารถส่งผลกระทบไปถึงผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนได้เลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น ระบบตรวจจับ ความถี่ (frequency) ในการผลิตไฟฟ้าที่ 50 Hz หรือ 50 hertz frequency ถ้าเครื่องมือวัดความถี่ไม่มีความแม่นยำ ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนจะได้กระแสไฟที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายได้ ดังนั้น การตรวจสอบเครื่องมือวัดต่าง ๆ จะต้องมีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ มีความถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้ ซึ่ง กฟผ. ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยและมาตรฐานในการดำเนินงานอย่างสูงสุด มีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการสอบเทียบเครื่องมือวัดโดยเฉพาะ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านมาตรวิทยามาเกือบ 20 ปี และปัจจุบันมีการพัฒนาศักยภาพครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน จนสามารถเปิดให้บริการงานมาตรวิทยาในเชิงธุรกิจให้แก่หน่วยงานภายนอกได้อย่างครบวงจร

กว่าจะมาเป็นศูนย์มาตรวิทยาฯ กฟผ.

ที่ผ่านมา ภารกิจหลักของศูนย์มาตรวิทยาและสอบเทียบเครื่องมือวัด กฟผ. คือ การสอบเทียบเครื่องมือวัดต่าง ๆ ให้กับหน่วยงานภายใน กฟผ. เป็นหลัก รวมทั้งได้ร่วมพัฒนาและส่งเสริมความรู้ด้านมาตรวิทยาให้แก่เครือข่ายห้องปฏิบัติการของ กฟผ. ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ทั้งด้านปฏิบัติการทดสอบและการสอบเทียบ เพื่อสนับสนุนให้เครือข่ายห้องปฏิบัติการของ กฟผ. แต่ละแห่งได้รับการรับรองระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล

 

 

ศูนย์มาตรวิทยาและสอบเทียบเครื่องมือวัดกฟผ.ได้ออกแบบตัวอาคารและห้องปฏิบัติการสอบเทียบให้สอดคล้องกับมาตรฐานของห้องสอบเทียบในระดับสากล มีขนาดพื้นที่กว้างขวาง โครงสร้างอาคารแข็งแรงได้มาตรฐาน พร้อมให้บริการด้วยความเป็นมืออาชีพอย่างครบวงจร ด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านมาตรวิทยามาเกือบ 20 ปี มีความเป็นกลาง ถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ ทำหน้าที่ให้บริการงานสอบเทียบเครื่องมือวัด พร้อมส่งเสริมการสร้างมาตรฐานให้แก่องค์กรและสังคมผ่านกระบวนการวัด ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรและสร้างสังคมแห่งความเที่ยงตรงทางด้านมาตรวิทยาสู่สังคมภายนอก

ความพร้อมในการให้บริการเชิงธุรกิจ

ปัจจุบัน ห้องปฏิบัติการสอบเทียบภายในศูนย์มาตรวิทยาฯกฟผ.มีความพร้อมในการให้บริการเชิงธุรกิจ และมีการพัฒนาคุณภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจ จากจุดเริ่มต้นเพื่อทำการสอบเทียบเครื่องมือวัดให้แก่หน่วยงานภายใน กฟผ. แต่ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่มีมาเกือบ 20 ปี ทำให้มีหน่วยงานภายนอกติดต่อเข้ามาขอใช้บริการ เพราะเชื่อมั่นและไว้วางใจในศักยภาพและคุณภาพการให้บริการที่มีมาตรฐาน ปัจจุบันศูนย์มาตรวิทยาฯ กฟผ. ได้เปิดให้บริการแก่หน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งทางสื่อออนไลน์ (Social Media) และการเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ตลาดเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานบริการให้สามารถตอบสนองได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า

 

 

การให้บริการและการดำเนินงานของศูนย์มาตรวิทยาและสอบเทียบเครื่องมือวัด กฟผ.

ศูนย์มาตรวิทยาและสอบเทียบเครื่องมือวัด กฟผ. ให้บริการครอบคลุมทั้งสิ้น 8 สาขาการวัด ได้แก่1.ไฟฟ้า (Electrical Laboratory), 2.อุณหภูมิ (Temperature Laboratory), 3.ความชื้นสัมพัทธ์ (Humidity Laboratory), 4. การสั่นสะเทือน (Vibration Laboratory), 5.มวล (Mass Laboratory), 6. มิติ (Dimension Laboratory), 7. แรงบิด (Torque Humidity Laboratory), 8. ความดันและสาขาสุญญากาศ (Pressure Laboratory) โดยให้บริการสอบเทียบในรูปแบบ On Site

 

 

ความเชี่ยวชาญของบุคคลากร

บุคลากรของศูนย์มาตรวิทยาและสอบเทียบเครื่องมือวัด กฟผ. มีความเป็นมืออาชีพและเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาการวัดโดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่ที่สามารถเข้ามาปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่สอบเทียบได้นั้น จะต้องผ่านการอบรมและทดสอบความสามารถ จนได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียนบุคคลต่อหน่วยรับรองระบบคุณภาพ ถึงจะสามารถให้บริการงานสอบเทียบเครื่องมือให้แก่ลูกค้าได้ จึงมั่นใจได้ว่า ลูกค้าจะได้รับการบริการที่ดีที่สุดจากมืออาชีพแน่นอน ซึ่งบุคคลากรที่มากด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการสอบเทียบมาเกือบ 20 ปีนี้ ถือเป็นจุดเด่นของศูนย์มาตรวิทยาฯ กฟผ. ที่ลูกค้าให้ความเชื่อมั่นและไว้วางใจในคุณภาพของงานที่ได้รับบริการ

 

ขั้นตอนและกระบวนการในการเข้าใช้บริการ

ก่อนเดินทางเข้ามาใช้บริการ ลูกค้าสามารถสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ผ่านทางแอปพลิเคชั่น Line ที่ @ubi1874g หรือโทร 02 436 6227 เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาในกรณีที่มีเหตุขัดข้องไม่สามารถให้บริการได้ โดยมีขึ้นตอนการขอรับบริการ ดังนี้

1.   เมื่อลูกค้าติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อสอบถามข้อมูล และสามารถนำเครื่องมือมาส่งที่ กฟผ. สำนักงานไทรน้อย อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี อาคาร ท.0018

2.   กรอกข้อมูลรายละเอียดลงในแบบฟอร์มรับงานสอบเทียบ ประกอบด้วย ข้อมูลลูกค้า (ชื่อ-ที่อยู่ สำหรับออกใบรายงานผล/ เบอร์โทรศัพท์/ ข้อมูลเครื่องมือ/ ยี่ห้อรุ่น/ หมายเลขเครื่องมือ และย่านการสอบเทียบ)

3.   ลูกค้าตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ตรวจสอบรายละเอียดในแบบฟอร์มรับงานสอบเทียบพร้อมลงนามยืนยัน เจ้าหน้าที่จะประสานงานและแจ้งนัดวันรับเครื่องมือให้กับลูกค้า

4.   หลังจากสอบเทียบเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะประสานงานแจ้งยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้แก่ลูกค้าผ่านทางอีเมล์ (E-mail) หรือทางโทรศัพท์ตามข้อมูลที่ลูกค้าแจ้งไว้

5.   เมื่อถึงกำหนดวันรับเครื่องมือ กรณีที่เป็นลูกค้าภายนอก สามารถจ่ายเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร และนำหลักฐานการโอนเงินมาแสดงเพื่อรับเครื่องมือกลับ

6.   ลูกค้าประเมินความพึงพอใจผ่าน QR Code เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงการให้บริการต่อไป

 

 

คิดค้นนวัตกรรมและเครื่องมือที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ

เครื่องมือของศูนย์มาตรวิทยาและสอบเทียบเครื่องมือวัด กฟผ. มีการคิดค้น ปรับปรุง และพัฒนาให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสอบเทียบให้มีคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการ ต่าง ๆ ทั้งที่กำลังดำเนินการ และที่ดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถนำมาใช้ในการให้บริการสอบเทียบ อาทิเช่น

  • เครื่องมือสอบเทียบ “Dial Indicator แบบอัตโนมัติ” เป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่ช่วยสอบเทียบเครื่องมือวัดได้อย่างรวดเร็ว และมีความถูกต้องแม่นยำสูง โดยเครื่องมือนี้สามารถคว้ารางวัลเหรียญเงิน iENA 2018 จากงาน International Trade Fair ณ ประเทศเยอรมัน
  • เครื่องมือสอบเทียบ Torque Multiplier เป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ กฟผ. คิดค้นและพัฒนาขึ้นสำเร็จและนำมาใช้ให้บริการสอบเทียบแก่ลูกค้า ซึ่งในประเทศไทยมีที่ศูนย์มาตรวิทยาฯ กฟผ. ที่สามารถสอบเทียบได้เป็นอันดับต้น ๆ แห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งตอนนี้เองก็กำลังพัฒนาให้เป็นระบบ Semi-Automatic ซึ่งจะทำให้สอบเทียบเร็วขึ้นและแม่นยำขึ้น

และโครงการที่กำลังพัฒนา ได้แก่ โครงการการสอบเทียบ Dynamic Pressure Sensor ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดให้บริการ และโครงการวิจัยเครื่องสอบเทียบ Shock Pulse Vibration ให้บริการและรองรับงานวิเคราะห์มอเตอร์ เป็นต้น

จุดแข็งในการให้บริการ

จุดแข็งและความโดดเด่นของศูนย์มาตรวิทยาและสอบเทียบเครื่องมือวัด กฟผ. คือ การให้บริการงานสอบเทียบเครื่องมือวัดด้าน Vibration เนื่องจากในประเทศไทยมีหน่วยงานเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถให้บริการในด้านนี้ จึงมีลูกค้าภาคเอกชนเข้ามารับบริการสอบเทียบด้าน Vibration ที่ศูนย์มาตรวิทยาฯ กฟผ. จำนวนมาก ซึ่งปัจจัยสำคัญอีกประการที่ส่งผลให้การให้บริการมีมาตรฐานคือ การลงทุนในเครื่องมือที่มีความถูกต้องและความแม่นยำสูง มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เครื่องมือที่ดีมีมาตรฐานจะสามารถถ่ายค่าสอบเทียบไปยังเครื่องมือลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ซึ่งแน่นอนว่า เครื่องมือต่าง ๆ ในแต่ละห้องปฏิบัติการ กฟผ. ล้วนมีมาตรฐานและมีความแม่นยำสูง ลูกค้าจึงมั่นใจได้ว่า ค่าความถูกต้องที่วัดได้จากห้องปฏิบัติการของ กฟผ. มีความถูกต้องและแม่นยำสูง

 

 

นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมสภาวะแวดล้อม อุณหภูมิ และความชื้นให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด โดยภายในศูนย์มาตรวิทยาฯ กฟผ. จะมีเครื่องตรวจวัดสภาวะแวดล้อมอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง หากมีการตรวจพบว่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน จะส่งสัญญาณแจ้งเตือน (Alarm) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการแก้ไขในทันที

“กฟผ. มีความพร้อมในการให้บริการธุรกิจงานสอบเทียบเครื่องมือวัดให้แก่ลูกค้าอย่างเต็มที่ ทั้งด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมากด้วยประสบการณ์ เครื่องมือที่ทันสมัย ห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐาน การันตีความถูกต้องและแม่นยำเทียบเท่าระดับสากล รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการสอบเทียบให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากต้องการใช้บริการงานสอบเทียบเครื่องมือวัด เชื่อมั่นในศูนย์มาตรวิทยาและสอบเทียบเครื่องมือวัด กฟผ. ผู้ให้บริการในธุรกิจมาตรวิทยาระดับชั้นนำ”