วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 14:02 น.

เศรษฐกิจ

ร.ฟ.ท.-กทพ.ส่งมอบทช.ดูแลพื้นที่ปรับปรุงเส้นทาง

วันพฤหัสบดี ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 12.44 น.

ร.ฟ.ท.-กทพ.ส่งมอบทช.ดูแลพื้นที่ปรับปรุงเส้นทาง

 
 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการดูแลบำรุงรักษา และปรับปรุงพื้นที่ถนนเลียบทางรถไฟ (ตั้งแต่ถนนประชาชื่น ถึง ถนนกาญจนาภิเษก) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ว่าบริเวณถ.ประชาชื่น-ถ.กาญจนาภิเษก โดยมีการเชื่อมต่อกับแนวถ.ราชพฤกษ์ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับสถานีรถไฟบางบำหรุ โดยแนวเส้นทางดังกล่าวเป็นพื้นที่ของร.ฟ.ท. ซึ่งกทพ.ได้ขอใช้พื้นที่เพื่อเข้าดำเนินการก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนฯ บนพื้นที่ของ ร.ฟ.ท. ต่อมาได้มีการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟส่วนที่เหลือจบครบถ้วน ประกอบด้วย พื้นที่ตั้งแต่สะพานข้ามคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันออกระยะทางประมาณ 2.1 กิโลเมตร ซึ่ง กทพ. ได้ส่งมอบให้เทศบาลเมืองบางกรวย และพื้นที่ถนนเลียบทางรถไฟด้านทิศเหนือ ตั้งแต่สะพานข้ามคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตกถึง ถ.กาญจนาภิเษกและพื้นที่ถนนเลียบทางรถไฟด้านทิศใต้ ตั้งแต่ถ.กาญจนาภิเษก-ถ.จรัญสนิทวงศ์รวมทั้ง ถนนเลียบทางรถไฟฝั่งพระนครตั้งแต่ถนนประชาชื่นจนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ พระราม 7 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของ ร.ฟ.ท. ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร และอยู่ในพื้นที่ที่ กทพ. เวนคืนเพิ่มเติม ระยะทางประมาณ 4.8 กิโลเมตร ซึ่งตามแนวทางปฏิบัติเมื่อดำเนินการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟแล้วเสร็จ จะต้องส่งมอบให้หน่วยงานท้องถิ่นเช่น กรุงเทพมหานครและเทศบาลเมืองบางกรวยรับมอบเพื่อดูแลบำรุงรักษาและประกาศเป็นถนนสาธารณะก่อนจะขอบรรจบไฟฟ้าสาธารณะต่อไป สำหรับโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีกำหนดจะเปิดใช้บริการในปี 2564
 
 
 
 
“สำหรับนโยบายที่มอบให้ทั้ง 3 หน่วยงาน ในครั้งนี้ก็อยากให้มีการประสานเชื่อมกัน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาจราจรติดขัด ซึ่งการดูแลเส้นทางดังกล่าวจะมอบให้กรมทางหลวงชนบท เป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาเส้นทาง ซึ่งนอกจากนี้ การบำรุงรักษาเส้นทางเพื่อให้สัญจรทุกฤดูกาลแล้ว ยังมีในเรื่องไฟฟ้าแสงสว่างบนเส้นทาง รวมถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งกรมทางหลวงชนบท จะเป็นดูแลทั้งหมด โดยแนวเส้นทางมีทั้ง 30 กิโลเมตร แบบไป-กลับ ทั้งนี้ จะมีบางจุดที่เทศบาลบางกรวยเป็นผู้ดูแล ซึ่งจะต้องหารือร่วมกันเพื่อส่งมอบพื้นที่ดูแลดังกล่าวให้กับกรมทางหลวงชนบท”นายอาคม  กล่าว
 
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท. ได้ส่งมอบถนนเลียบทางรถไฟที่ดำเนินการก่อสร้างในโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง)        ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ให้กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2555 และ กทพ. ส่งมอบถนนเลียบทางรถไฟที่ก่อสร้างในโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนฯ ให้กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2559 ซึ่งปัจจุบันเทศบาลเมืองบางกรวย ได้รับมอบถนนเลียบทางรถไฟแบบต่อบรรจบไฟฟ้าสาธารณะเรียบร้อยแล้ว แต่กรุงเทพมหานครยังไม่รับมอบถนนดังกล่าว