วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 16:09 น.

เศรษฐกิจ

รถไฟเปิดแผนรถไฟสายใหม่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม

วันศุกร์ ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 14.13 น.

รถไฟเปิดแผนรถไฟสายใหม่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม

           

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ – มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม เพื่อนำเสนอข้อมูลให้ประชาชนทราบถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงการฯ พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ และการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และนครพนม ในหัวข้อ “สิ้นสุดการรอคอย รถไฟทางคู่สายใหม่บ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม ของชาวอีสาน” โดยกล่าวถึงโครงการนี้ว่าเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ ที่ได้รับการบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี โดยมีระยะทาง 355 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 70 ตำบล 19 อำเภอ ของ 6 จังหวัด มีสถานีรถไฟ 18 สถานี แบ่งเป็นสถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี (มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหารและนครพนม) สถานีขนาดกลาง 5 สถานี และสถานีขนาดเล็ก 9 สถานี มีป้ายหยุดรถ 12 แห่ง มีย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 6 แห่ง ด้านความปลอดภัย โครงการได้มีการออกแบบให้มีสะพานรถไฟข้ามถนน/ถนนเลียบคลอง 158 แห่ง มีสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 81 แห่ง มีทางลอดทางรถไฟ 245 แห่ง และมีทางบริการขนานทางรถไฟ 165 แห่ง ส่วนขั้นตอนการดำเนินงาน ภายหลังจาก ครม. อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน จากนั้น ในปี 2563 จะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเริ่มดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2567 หลังจากนั้น จึงเป็นการเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “บ้านไผ่ - มุกดาหาร – นครพนม ทางรถไฟ 5 ประเทศ เพื่อคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจระดับสากล” โดยมีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้มุมมองเกี่ยวกับศักยภาพและโอกาสของจังหวัดนครพนม รวมทั้งกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 
                 

 

 

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นำเสนอข้อมูลภาพรวมโครงการ ความพิเศษของทางรถไฟสายใหม่นี้ที่สามารถเชื่อมพรมแดนได้ถึง 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เมียนมา สปป.ลาว เวียดนามและจีน นอกจากนี้ ยังมี นายทักษ์ ศรีรัตโนภาส ผู้อำนวยการด้านโครงการร่วมทุนและการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มมิตรผล ที่นำเสนอเกี่ยวกับโอกาสของภาคอุตสาหกรรมการเกษตรในภาคอีสาน และการเติบโตของกลุ่มมิตรผล อันนำมาซึ่งโอกาสที่จะใช้ระบบรางในการขนส่งสินค้าเพื่อช่วยลดต้นทุนให้แก่ธุรกิจ ด้านนายชัยพล เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการบริหาร บริษัท เอ็นเทคโพลีเมอร์ จำกัด และรองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร ที่มาเน้นย้ำถึงศักยภาพของภาคอีสาน ในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร และโอกาสที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากมีรถไฟสายนี้ นอกจากนี้ ชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องในประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย ปิดท้ายด้วย นายมงคล ตันสุวรรณ กรรมการรองเลขาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย ที่สะท้อนภาพสถานการณ์ของภาคธุรกิจท้องถิ่นของจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียงตามแนวเส้นทางรถไฟ โอกาสด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่รถไฟก่อสร้างเสร็จ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง ด้านการค้าชายแดน ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น จากนั้น จึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่มโดยแท้จริง
               

สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม ยังเป็นหนึ่งในโครงการเร่งรัดการพัฒนารถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก – ตะวันตก เพื่อรองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลและการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบน ซึ่งเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยให้ประชาชนเดินทางสะดวกสบายขึ้น ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการขนส่งและโลจิสติกส์สินค้า เพิ่มรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และยังเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสการค้าและการท่องเที่ยวระดับโลกอีกด้วย