วันอาทิตย์ ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 16:23 น.

เศรษฐกิจ

ซ้อมมือบริหารจัดการน้ำ ฝนทิ้งช่วง ก่อนถึงฤดูแล้งใหญ่

วันเสาร์ ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 08.46 น.

ซ้อมมือบริหารจัดการน้ำ

ฝนทิ้งช่วง ก่อนถึงฤดูแล้งใหญ่
 
ฝนทิ้งช่วง เป็นช่วงเวลาความเป็นความตายของเกษตรกรเพราะความหมายของฝนทิ้งช่วงคือระยะเวลาที่ฝนตกในแต่ละวันไม่ถึง 1 มิลลิเมตรต่อเนื่อง 15 วันในฤดูฝน เนื่องจากความกดอากาศต่ำเลื่อนขึ้นไปทางเหนือ พาดผ่านตอนใต้ของจีน ทำให้ฝนในไทยน้อย พูดจาประสาชาวบ้าน ฝนทิ้งช่วงคือฝนไม่ตกติดต่อกัน 15 วัน โดยคาดว่าจะเกิดช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อเนื่องถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2562
 
ผลกระทบเกิดขึ้นกับพืชที่ต้องการน้ำมาก อย่างข้าวในนาที่เพิ่งหว่านดำต้องยืนต้นแห้งเหี่ยวตาย โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ส่วนในเขตชลประทานยังได้รับน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนที่สำรองไว้ระดับหนึ่งได้
 
“ตอนนี้การคาดการณ์สภาพฝนยังไม่เปลี่ยนแปลง ฝนทิ้งช่วงยังเหมือนเดิมที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเมื่อถามถึงสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในปีนี้
 
 
“เราใช้ทุกเครื่องมือที่มีอยู่และโครงการที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติ” ดร.สมเกียรติย้ำอีกที
 
เครื่องมือที่มีอยู่ได้แก่แหล่งน้ำต้นทุนต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว และเสริมด้วยการปรับเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน เพื่อเก็บน้ำเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าไม่เพียงแต่ฝนทิ้งช่วงเท่านั้น แต่ฤดูฝนปีนี้ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย และน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง และภาคอีสานตอนกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในเขื่อนลากยาวถึงฤดูแล้งถัดไปทันที การเก็บน้ำทุกหยดจึงหวังลดผลกระทบให้น้อยลง
ในขณะโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการขุดลอกแหล่งน้ำในพื้นที่แห้งแล้งเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 28 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมกันนั้นจะต้องมีการจัดทำฝายชลอน้ำ 30,000 แห่งเพื่อเพิ่มความชื้นในพื้นที่และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในอนาคต ซึ่งทั้งสองอย่างต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จช่วงต้นฝนนี้
 
นอกจากนั้น การทำฝนหลวงโดยกรมการฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามลดผลกระทบฝนทิ้งช่วง และปริมาณฝนน้อยทั้งฤดู ซึ่งความพยายามนี้เห็นผล อย่างเช่น เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากระดับน้ำในเขื่อนต่ำกว่าระดับน้ำใช้การ (Dead Storage) ขณะนี้ค่อยๆ สูงขึ้นเหนือระดับ Dead Storage หลังทำฝนหลวง
 
“ช่วงนี้สภาพอากาศเป็นใจ มีความชื้นพอที่จะให้เมฆก่อตัวทำฝนหลวงได้  พื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% เราพยายามทำฝนหลวง เพื่อยกระดับน้ำให้มากขึ้น”
 
เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า การจัดระบบการปลูกพืชของกระทรวงเกษตรฯ ก็ยังจำเป็น และถ้าปรับปรุงจากเดิม โดยเฉพาะขอบเขตการปลูกพืชที่แน่นอน ก็จะมีส่วนช่วยให้การบริหารจัดการน้ำดีขึ้นด้วย โดยไม่ต้องส่งน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่อยู่ในแผนจัดสรรน้ำ
 
สำหรับพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วงหลักๆ น่าจะได้แก่เขื่อนในภาคกลาง ได้แก่ เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี และอาจรวมถึงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
 
“เขื่อนทับเสลามีคณะกรรมการร่วมบริหารจัดการน้ำ JMC อาจใช้เพื่ออุปโภคบริโภคอย่างเดียว โดยอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูกแทน”
 
 
ส่วนในภาคอีสาน ต้นน้ำชีและต้นน้ำมูลยังคงต้องเน้นการสร้างความรับรู้อย่างต่อเนือง แต่คาดว่าในเดือนสิงหาคม น้ำจะค่อยๆ ยกระดับดีขึ้นชัดเจน
 
ในขณะที่ความหวังในการมีพายุจรเพิ่มเติมจาก 1-2 ลูก เพื่อเพิ่มปริมาณฝน  ดร.สมเกียรติกล่าวว่า จากการพยากรณ์ยังคงมีจำนวน 1-2 ลูกเท่าเดิม และแม้เกิดพายุไซโคลน “วายุ” ในประเทศอินเดียที่ผ่านมาก็ไม่ส่งผลดีมาถึงประเทศไทยแต่อย่างใด
 
สถานการณ์ของฝนทิ้งช่วงปีนี้  จึงเป็นบททดสอบแรกก่อนถึงบททดสอบใหญ่ยาวนาน ในฤดูแล้งถัดไป  1 พฤศจิกายน 2562 -30 เมษายน 2563