วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 12:48 น.

เศรษฐกิจ

กว่าจะมาเป็น “เขื่อนสิรินธรโมเดล” ศาสตร์พระราชาสู่การสร้างคุณค่าให้กับชุมชน

วันจันทร์ ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2562, 13.30 น.

 

หากกล่าวถึงเขื่อนสิรินธร ภาพจำของใครหลายคนคือเขื่อนอเนกประสงค์ที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้า ในขณะเดียวกันก็อำนวยประโยชน์ในด้านการชลประทาน ป้องกันอุทกภัย ส่งเสริมการประมง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากภารกิจดังกล่าวแล้ว ที่นี่ยังเป็นต้นกำเนิดของโครงการหนึ่งที่สร้างความยั่งยืนสู่ชุมชน นั่นก็คือโครงการ “เขื่อนสิรินธรโมเดล” โครงการที่มีหมู่บ้านรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธรเป็นพื้นที่เป้าหมายกว่า 3 อำเภอ และเป็นต้นแบบในการดำเนินงานให้กับพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งมาจากผลของความสำเร็จที่เห็นได้จากชุมชนเหล่านั้นมีอาชีพและรายได้จากการพึ่งพาตัวเอง

 

 

ย้อนไป ในสมัยที่ผู้ว่าการ กฟผ. นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ได้มีโอกาสศึกษาดูงานโครงการพัฒนาดอยตุง (ดอยตุงโมเดล)ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยพิจารณาเห็นว่า แต่เดิมชาวเขาในจังหวัดเชียงรายนั้นนิยมปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย จนส่งผลให้ภูเขาบริเวณนั้นเป็นเขาหัวโล้น ทางมูลนิธิฯ จึงเข้ามาแก้ปัญหาโดยสร้างแรงจูงใจให้หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ พลิกฟื้นผืนป่าในที่เคยทรุดโทรมให้กลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์จนประสบผลสำเร็จ และทำให้พวกเขามีสภาพเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและสามารถสร้างอนาคตให้แก่ครอบครัวได้ ดังนั้น การนำดอยตุงโมเดลที่น้อมนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาเป็นหลักในการดำเนินงาน บนฐานความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากคน จะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าชาวบ้านได้อะไร และจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างไร

 

 

กฟผ. จึงน้อมนำศาสตร์พระราชา ตำราแม่ฟ้าหลวง (ดอยตุงโมเดล) มาสร้างคุณค่าให้กับชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยภายใต้ความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ว่าการ กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ จึงมีการกำหนดแผนปฏิบัติการศึกษาโครงการดอยตุงโมเดลขึ้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในเขื่อนและโรงไฟฟ้า โดยเริ่มใช้กับพื้นที่เขื่อนสิรินธรเป็นแห่งแรก เขื่อนสิรินธรโมเดลจึงเกิดขึ้นในปี 2559 ด้วยความร่วมมือของผู้ปฏิบัติงาน ตัวแทนชุมชน คนรุ่นใหม่ รวมทั้งสถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยเน้นให้ชุมชนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และตั้งเป้าหมายไว้ว่ารายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของชุมชนที่โครงการให้การสนับสนุนจะต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ภายในระยะเวลา 10 ปี

 

 

 

แม้ว่าระยะเริ่มต้นจะไม่ง่ายนัก แต่การลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชน ก็เพียงพอจะทำให้คณะทำงานได้เห็นแนวทางในการดำเนินงานได้ โดยมุ่งมั่นปฏิบัติตาม 6 ข้อหลัก ได้แก่

1. ปรับ Mindset ของผู้ปฏิบัติงานและชุมชนในพื้นที่

2. จัดทำศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นต้นแบบให้ชาวบ้านมาศึกษาลงมือปฏิบัติ ทั้งในด้านเกษตรและหัตถกรรม ด้านปศุสัตว์ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้านประมงและเพาะพันธุ์น้ำ และด้านนวัตกรรม เช่น ศูนย์เรียนรู้มีชีวิตจากสวนจิตรลดาสู่เขื่อนสิรินธร

3. พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สร้างอาชีพ และรายได้เข้าสู่ชุมชน

4. สร้างตลาด รองรับผลิตภัณฑ์ของชุมชน ทั้งตลาดในพื้นที่ และตลาดบนโลกออนไลน์ เช่น ตลาดโดมน้อยในเขื่อนสิรินธร ที่จำหน่ายสินค้าชุมชนหลากหลายประเภท ทั้งผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ผ้าฝ้ายทอมือ ผ้าถุงพิมพ์ลาย ปลาส้ม ปลาแก้ว

5. บริหารเครือข่ายกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมปศุสัตว์ กรมประมง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น

6. ก่อกำเนิดโครงการที่เห็นผลสำเร็จเร็ว (Quick Win Project) ซึ่งปัจจุบันมี 5 โครงการ คือ โครงการแปรรูปปลาส้มปลาแก้วบ้านโชครังสรรค์ โครงการข้าวอินทรีย์บ้านโคกเที่ยง โครงการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์บ้านสุขสำราญ โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่บ้านคำมันปลา และโครงการเลี้ยงแพะบ้านคำวังยาง

 

 

โครงการเลี้ยงแพะบ้านคำวังยาง เป็นหนึ่งในโครงการที่เห็นผลได้ชัดเจน เพราะได้กลายมาเป็นพื้นที่ที่สร้างมูลค่าให้กับชาวบ้านในละแวกนั้น เริ่มต้นจากการนำชุมชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานการเลี้ยงแพะ พร้อมทั้งเชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นประธานเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะ-แกะจังหวัดอุบลราชธานี มาให้ความรู้ ทำให้พวกเขามองเห็นโอกาสและช่องทางในการประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าการเลี้ยงแพะในปัจจุบัน จะมีตลาดที่เป็นกลุ่มเฉพาะ แต่ก็นับว่ามีอัตราการเติบโตสูง มีคู่แข่งน้อย และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการบริโภคเนื้อ ซึ่งมีอัตราที่เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก หากได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะทำให้ตลาดแพะในประเทศไทยไปได้ไกลจนสามารถส่งออกไปยังหลาย ๆ ประเทศได้ โดยสิ่งที่มีลักษณะเด่นของแพะคือ เลี้ยงง่าย เพราะสามารถกินพืชได้หลากหลายชนิด เช่น หญ้า หรือ ใบกล้วย โดยแต่ละตัวจะกินไม่เกิน 3 กิโลกรัมในหนึ่งวัน ซึ่งน้อยกว่าวัวที่กินอาหารกว่า 20 กิโลกรัมต่อหนึ่งตัว นอกจากนี้ ยังให้ผลผลิตเร็ว โดยออกลูกปีละ 2 รอบ รอบละ 2-3 ตัว และเมื่อโตเต็มที่แล้ว ก็สามารถนำมาจำหน่ายได้อย่างคุ้มค่า ทั้งเนื้อแพะ เขาแพะ กระดูกแพะ และมูลแพะ ซึ่งนำมาทำเป็นปุ๋ยได้ประโยชน์ดี

 

 

ตลาดแพะที่มีความต้องการผลผลิตสูง คือภาคใต้ของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ซึ่งเวลาขายจะนิยมขายเป็นกิโล ได้ราคาดี ขนาดทำมาแล้วคอกหนึ่ง ก็ยังไม่เพียงพอต่อตลาด จึงต้องขยายการเลี้ยงแพะในชุมชนให้มีจำนวนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากที่ได้ทำกันมา ชาวบ้านก็สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่ความพอเพียง แต่เป็นความยั่งยืน เพราะชุมชนสามารถอยู่ได้ ขายเป็น ทำแล้วได้ผล กฟผ. ก็มีหน้าที่คอยสนับสนุนด้านความรู้และหาเครือข่ายที่ช่วยส่งเสริมกันและกันให้

 

 

เขื่อนสิรินธรโมเดล จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ของ กฟผ. ที่น่าติดตาม เพราะเริ่มต้นลงมือปฏิบัติเพียงไม่กี่ปี ก็เริ่มเห็นผลได้ค่อนข้างชัดเจน ชาวบ้านในชุมชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็เริ่มเข้าใจและมีองค์ความรู้ ซึ่งหากนำโมเดลดังกล่าวไปเป็นต้นแบบในการดำเนินงานกับพื้นที่อื่น ๆ รอบโรงไฟฟ้า ก็จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยยกระดับชุมชนและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป