วันอังคาร ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567 12:03 น.

เศรษฐกิจ

ม.รามฯเปิดเวทีเร่งผลักดันลดอุบัติเหตุทางถนน

วันพฤหัสบดี ที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 19.49 น.
ม.รามฯเปิดเวทีเร่งผลักดันลดอุบัติเหตุทางถนน
 
 
สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดเสวนาทางวิชาการโดยการเสวนาจัดขึ้นในหัวข้อ “กฎหมาย..ยาแรงลดอุบัติเหตุ? ทำไมลดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ได้ กับความท้าทายการบังคับใช้กฎหมาย” โดยมีผู้เสวนา ประกอบด้วย พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, นายประพันธ์ คูณมี ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแอลกอฮอล์, นายแพทย์แท้จริง ศิริพาณิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ, นายรณยุธ ตั้งรวมทรัพย์ อดีตรองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และนายปัญญา สิทธิสาครศิลป์ ทนายความหุ้นส่วน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัดสำหรับการเสวนาในครั้งนี้มีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลผู้ใช้รถใช้ถนน ในด้านของความปลอดภัย ที่มีพระราชบัญญัติหลัก ๆ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกออล์ พ.ศ.2551 นั้น แม้จะมีข้อบังคับที่เมื่อทำผิดแล้วก็มีบทลงโทษรุนแรงไม่น้อยไปกว่าในหลายประเทศ แต่ก็มีการปฎิบัติและพฤติกรรมหลายประการ ที่ทำให้เจตนารมย์ของการร่างและบังคับใช้กฎหมายยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย ยังไม่ลดลงอย่างที่ตั้งใจ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนของคนไทยเฉลี่ยที่วันละ 60 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและน่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะเป็นสถิติการเสียชีวิตที่มากกว่าโรคภัยที่ร้ายแรง
 
ด้านพล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สถิติการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นสิ่งที่น่ากลัว โดยในส่วนของผู้เสนอและบังคับใช้กฎหมายได้หาวิธีที่จะมาปกป้อง แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะแม้กระทั่งนโยบายของรัฐบาลเองก็ยังไม่ถูกบรรจุเป็นเรื่องหลักที่ต้องทำ ทั้งนี้ ในส่วนผู้เกี่ยวข้องกับการเสนอและใช้กฎหมาย พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวว่า ได้มีการศึกษาและปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องหนึ่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่นาน คือการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก อาทิ การกำหนดให้มีระบบบันทึกคะแนนความประพฤติของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ที่หากทำผิดจนถูกตัดคะแนนไปจนหมด จะถูกพักใช้ใบขับขี่ครั้งละ 90 วัน และถ้าทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี จะถูกเสนอให้สั่งเพิกถอนใบขับขี่
 
นายแพทย์แท้จริง ศิริพาณิช  เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า เป็นผู้รณรงค์เรื่องเมาไม่ขับมากว่า 20 ปี เคยคิดเลิกสิ่งที่ทำมาครั้งหนึ่งเมื่อสิบปีมาแล้ว ด้วยเหตุที่ถูกคนเมาสุราขับรถชน แต่เมื่อมาคิดให้ดีว่า ขนาดมีการรณรงค์แล้วอุบัติเหตุยังเกิดขึ้นได้กับตัวเอง แล้วถ้าไม่ทำเลยเหตุการณ์จะเลวร้ายไปอีกแค่ไหน ซึ่งสิ่งที่ผ่านมาในการร่วมดำเนินการ ไม่ว่าการจัดกิจกรรม หรือการร่วมผลักดันการออกพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ทำได้เพียงส่วนหนึ่งแต่ยังขาดหัวใจหลัก
 
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2551 แต่ผ่านมา 10 ปี ก็เริ่มมีเสียงสะท้อนว่าเจตนารมณ์การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ทำให้อุบัติเหตุลดลง หรือแม้แต่ไม่ได้ทำให้มีผู้ดื่มสุราน้อยลง โดยนายประพันธ์ คูณมี ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเมื่อครั้งจัดทำร่างพระราชบัญญัตินี้ กล่าวว่า เจตนาของการออกกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ควบคู่ไปกับพระราชบัญญัติจราจรทางบก พร้อม ๆ ไปกับเรื่องการดูแลสุขภาพประชาชน แต่ผลปรากฏว่าไม่ได้ให้ทั้งการลดอุบัติเหตุและลดการดื่มสุราลดลงมาเลย เพราะว่าพอกฎหมายมีผลบังคับใช้ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็ไปเน้นไล่จับคนกินคนดื่ม แต่ไม่ได้จริงจังกับการควบคุม ไม่ให้คนเหล่านี้ออกมาขับขี่รถยนต์บนท้องถนน
 
พล.ต.ต.นิพนธ์ ภู่พันธ์ศรี นายกสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า การจัดเสวนาหัวข้อนี้ขึ้นมา เพราะมองเห็นปัญหาของประเทศที่มีมากขึ้น และวิทยากรที่มาร่วมเสวนาทุกคนล้วนมีประสบการณ์จริง ประสบทั้งความสำเร็จและปัญหา จึงจะได้รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดนี้ให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต่อไป