วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 08:21 น.

เศรษฐกิจ

ขับเคลื่อนปัญหาส่งน้ำแม่ลาว น้ำก้อนเดียวกระจายได้มากกว่าเท่าตัว

วันอังคาร ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 15.01 น.

ขับเคลื่อนปัญหาส่งน้ำแม่ลาว

น้ำก้อนเดียวกระจายได้มากกว่าเท่าตัว

 
 
แม่ลาวเป็นแม่น้ำสายหลักของเชียงราย ต้นน้ำอยู่ดอยนางแก้ว ทิวเขาปันน้ำ เขตบ้านขุนลาว ต.แม่เจดีย์ใหม่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ไหลผ่านอ.เวียงป่าเป้า อ.แม่สรวย อ.พาน อ.แม่ลาว อ.แม่สาย อ.เมืองเชียงราย อ.เวียงชัย แล้วไปสมทบกับแม่น้ำกก ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง
 
 
แม่ลาวจึงเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำกก ในขณะแม่น้ำกกเป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงอีกทอดหนึ่ง ไหลจากตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยความยาว 206 กิโลเมตร
 
 
แม่น้ำแม่ลาวยังมีลำน้ำสาขาสำคัญหลายสาย อาทิ  น้ำแม่เจดีย์ น้ำแม่ปูนหลวง น้ำแม่ตาช้างและน้ำแม่สรวย  เป็นต้น
 
 
พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำแม่ลาวอาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่สรวยเป็นแหล่งน้ำต้นทุน โดยก่อสร้างฝายทดน้ำเป็นระยะๆ 4 ฝาย ประกอบด้วย ฝายเจ้าวรการบัญชา ฝายแม่ลาว ฝายถ้ำวอก และฝายชัยสมบัติ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ลาวประสบปัญหาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มายาวนาน จนเห็นแม่แบบความสำเร็จจากอ่างเก็บน้ำดอยงูที่ก่อสร้างปิดกั้นลำน้ำแม่เจดีย์ และอยู่ภายใต้ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานเชียงราย  จึงทดลองนำกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรูปแบบของเครือข่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) เข้าดำเนินการบริหารจัดการน้ำ นับแต่ปลายปี 2561
 
 
เนื่องจากเป็นกระบวนกร (Facilitator) ของสำนักชลประทานที่ 2 ที่จะทำหน้าที่ Coaching ให้กับ คสป. ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และได้รับอนุมัติจากกรมชลประทานมาแล้ว อีกทั้งมีประสบการณ์ตรงจากดอยงู นายไพโรจน์ แอบยิ้ม เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ฝ่ายจัดสรรน้ำ โครงการชลประทานเชียงราย และคณะ จึงได้รับการมอบหมายเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาพื้นที่ส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ลาว ซึ่งมีพื้นที่ส่งน้ำเป็น 3 ตอน รวมแล้วประมาณ 110,000 ไร่
 
 
“ปัญหาคล้ายๆ กับพื้นที่ชลประทานดอยงู น้ำไม่พอใช้ ต้นน้ำมีน้ำใช้เหลือเฟือ ปลายน้ำไม่ได้รับน้ำ เกิดการแย่งน้ำกัน ไม่ใช่รอบเวรรับน้ำก็เปิดรับน้ำไปใช้   มีท่อผีแอบลักน้ำเกือบ 200 ท่อ” นายไพโรจน์ ย้อนสภาพปัญหาซึ่งดำรงมานานนับสิบปี
 
 
ปลายปี 2561 เป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูแล้งและมีการทำนาปรัง การเข้าไปจัดทำเวทีประชาคมให้เกษตรกรได้มาพบปะสะท้อนปัญหาเป็นไปอย่างดุเดือดเหมือนทุกที่ เพราะต่างเดือดร้อนเรื่องน้ำ
 
 
“ในฐานะกระบวนกร เราต้องฟังเกษตรกรให้มาก ให้เขาเล่าประวัติศาสตร์ชุมชน สรุปปัญหาอย่างเป็นระบบ เขียนให้เห็นบนกระดานตรงนั้น นอกจากนั้นยังเดินสำรวจพื้นที่ เพื่อกลับมาจัดทำแผนที่ทำมือ ชี้ให้ทุกคนเห็นสภาพปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้เกษตรกรฝึกคิดเสนอทางแก้ด้วย เพราะเป็นปัญหาของเกษตรกรเอง  ไม่ใช่กรมชลประทาน แต่เราจะช่วยเติมเต็มข้อมูลหรือชุดความรู้ที่เขาขาดให้แน่นขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น” แต่การจัดพูดคุยในลักษณะเวที 55 ครั้งก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้เกษตรกร
 
 
“คณะของเราต้องลงพื้นที่ร่วมไปกับเกษตรกร ไปดูปัญหาจะๆ กันเลย ตรงไหนแก้ไขได้เอง แก้ไขเลย ตรงไหนยังไม่รู้วิธีแก้ ก็เอาความรู้ด้านการชลประทานเข้าไปช่วย จนเห็นผลเป็นรูปธรรม ความไว้เนื้อเชื่อใจจึงฟื้นกลับคืนมาได้จากการลงพื้นที่ 15 ครั้ง”
 
 
นายไพโรจน์กล่าวว่า การจัดเวทีและลงภาคสนามคือการเปลี่ยนความคิดจากที่รอให้รัฐช่วยอย่างเดียวก็หันมาพึ่งพาตัวเองจากความรู้ที่เกิดขึ้นในเวทีและภาคสนาม การได้เห็นภาพรวมของปัญหาน้ำทำให้เกิดความรู้สึกช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปันมากขึ้น  แทนใช้น้ำคนเดียวหรือใช้มาก ยิ่งไปเห็นความเดือดร้อนของพื้นที่ปลายน้ำก็ยิ่งเข้าใจความยากลำบากของคนอื่น
 
 
“คนไทยมีจุดเด่นตรงที่พื้นฐานดี มีจิตใจเมตตาอยู่แล้ว พอไปเห็นปัญหาความเดือดร้อนจริงๆ เข้าก็เปลี่ยนความคิดจากที่เคยเอาเปรียบ มาเป็นการช่วยเหลือ”
 
 
ผลจากการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเกษตรกร ปริมาณน้ำ 51 ล้านลูกบาศก์เมตรที่จัดสรรสำหรับพื้นที่ชลประทานฤดูแล้ง (1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562) 45,000 ไร่ สามารถขยายพื้นที่รับน้ำได้มากกว่า 100,000 ไร่ จากปริมาณน้ำก้อนเดียวกันนี้ ช่างมหัศจรรย์เหลือเชิ่อ
 
 
“เราแบ่งพื้นที่ เป็นพื้นที่ชลประทานที่รับรองได้รับน้ำแน่นอน 45,000 ไร่ และพื้นที่สุ่มเสี่ยงอีกจำนวนหนึ่ง โดยเอาเกษตรกรจาก 2 พื้นที่นี้มารับรู้ร่วมขับเคลื่อนกันตั้งแต่ต้น จะส่งน้ำ จะประหยัดน้ำอย่างไร เพื่อให้พื้นที่เป้าหมายได้รับน้ำ แม้พื้นที่สุ่มเสี่ยงจะไม่ได้น้ำเต็มที่  แต่ยังได้รับพอไม่ให้ข้าวยืนต้นตาย ดีกว่าไม่ได้น้ำเลย เกษตรกรมีความสุขมาก”
 
 
นาข้าวใช้น้ำเฉลี่ยไร่ละ 1,500-1,600 ลูกบาศก์เมตร ส่วนหนึ่ง 1,000 ลูกบาศก์เมตร จัดสรรให้พื้นที่ชลประทานที่รับรองว่าได้น้ำแน่ อีก 500-600 ลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยไปช่วยพื้นที่สุ่มเสี่ยง
 
 
“บางคนบอกว่า 20 ปี เพิ่งเห็นน้ำมาถึงที่” นายไพโรจน์กล่าว
 
 
ความสำเร็จของนาปรัง 2561/2562 ทำให้การขับเคลื่อนเวทีชาวบ้านเป็นไปอย่างคึกคัก เกษตรกรเริ่มเห็นผลของการร่วมกันคิด วางแผนและลงมือทำในลักษณะร่วมมือกันอย่างแท้จริง “เพราะเราทำหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษา ช่วยคัดท้าย แต่คนที่เป็นเจ้าของงานจริงๆ และลงมือทำจริงคือเกษตรกร”
 
 
การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในแนวที่เกษตรกรมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ทำให้ขอบเขตงานเดิมวางแผนเฉพาะฝายแม่ลาว ขยายผลไปสู่ฝายเจ้าวรการบัญชา ฝายถ้ำวอก และฝายชัยสมลบัติ รวมพื้นที่เกือบ 300,000 ไร่ เพิ่มจากแผนเดิม 2 เท่าตัว
 
 
เป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่น่าสนใจอีกมิติหนึ่ง จากการมีส่วนร่วมของเกษตรกรอย่างแท้จริง