วันพุธ ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 18:39 น.

เศรษฐกิจ

บริหารจัดการน้ำแนวใหม่ลดขัดแย้ง นำร่องทั้งลุ่มน้ำสะแกกรัง-ยม

วันจันทร์ ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562, 15.15 น.

บริหารจัดการน้ำแนวใหม่ลดขัดแย้

นำร่องทั้งลุ่มน้ำสะแกกรัง-ยม
 
 
เวลาพื้นที่ใดมีปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าน้ำขาดแคลน น้ำท่วม  การแก้ไขปัญหาจะเป็นการศึกษาและดำเนินการเฉพาะบริเวณนั้นๆ ของลุ่มน้ำหลักอย่างเก่งมีการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ประมาณนั้นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ริเริ่มโครงการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) โดยใช้ลุ่มน้ำสะแกกรังและลุ่มน้ำยมเป็นพื้นที่นำร่อง
 
ถ้า EIA เป็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม SEA จะมีความหมายกว้างกว่าและครอบคลุมกว่า ทั้งพื้นที่และเนื้อหา  ในด้านพื้นที่จะศึกษาครอบคลุมตลอดทั้งลุ่มน้ำหลัก ไม่ใช่ลุ่มน้ำย่อย ในกรณีนี้คือลุ่มน้ำสะแกกรังและลุ่มน้ำยม
 
ในด้านเนื้อหาจะครอบคลุมหลายด้าน ล้อไปกับบริบทหรือสภาพทางกายภาพของพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ทรัพยากรน้ำที่มีจำกัด สภาพเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน  จุดเด่น จุดด้อย และความต้องการของชุมชนสำหรับใช้วางแผนพัฒนาทั้งลุ่มน้ำ ซึ่งจะเห็นภาพรวมของการพัฒนาได้ชัดเจน และไม่จำเพาะแต่หน่วยงานด้านน้ำเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงหน่วยงานอื่นด้วย
 
 
 
สำหรับ สทนช. จะให้น้ำหนักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่จะเกี่ยวโยงประเด็นอื่นและหน่วยงานอื่นรับลูกต่อไป
“อย่างลุ่มน้ำสะแกกรัง ตอนบนจะเป็นพื้นที่ภูเขาและป่าไม้ เกษตรกรต้องการทำการเกษตร แค่สภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม  ฝนตกลงมาก็ไหลลงอย่างรวดเร็ว ในขณะตอนกลางพื้นที่เป็นลอนคลื่นไม่เก็บน้ำจึงแห้งแล้ง เกษตรกรอยากเพิ่มการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นเส้นทางจักรยาน และโฮมสเตย์ ส่วนตอนล่างเป็นพื้นที่ราบ แม่น้ำสะแกกรังบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับอิทธิพลการขึ้นลงของน้ำเจ้าพระยา มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เราจะวางแผนบูรณาการพัฒนาอย่างไร ภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรน้ำ เป็นต้น”
 
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สทนช. จะเป็นคนกลางที่ประมวล ศึกษา และให้ประชาชนมีส่วนร่วมพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างสอดคล้องต้องกันทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำ
ทั้งนี้ ในการศึกษาและพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรังและยม จะมีหน่วยงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เข้ามาสนับสนุน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถตั้งรับปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยมอบสัตยาบันการเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสต่อสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 71 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หนึ่งในความตกลงครอบคลุมการสร้างความเข้มแข็งและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบดังกล่าว
 
“เยอรมันมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ มีประสบการณ์เรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เราเอาบางส่วนมาประยุกต์ใช้  อย่างเช่น การออกแบบโครงสร้างตลิ่งตามแนวลำน้ำ ไม่จำเป็นต้องเป็นคอนกรีตเสมอไป อาจเป็นการออกแบบสีเขียว หรือ Green Design ที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม และคนในแต่ละพื้นที่”
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า  การศึกษา SEA จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในการพัฒนาพื้นที่ เพราะทุกคนจะเห็นภาพรวม ภาพย่อย ทั้งปัญหาข้อจำกัดและศักยภาพในการพัฒนา ตลอดจนแนวทางความต้องการพัฒนาของตัวเอง โดยที่ทรัพยากรน้ำจะเป็นส่วนประกอบในการพัฒนาดังกล่าว