วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 10:21 น.

เศรษฐกิจ

“ยานสำรวจใต้น้ำ MCR” สุดยอด Innovation จากหัวใจที่ไม่เคยหมด Passion

วันศุกร์ ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2562, 11.19 น.

“ยานสำรวจใต้น้ำ MCR” สุดยอด Innovation จากหัวใจที่ไม่เคยหมด Passion

 

แต่ละวันเรามีความฝันได้เป็นร้อย ๆ อย่าง ฝันได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่มีข้อจำกัด ความฝันสร้างทั้งแรงบันดาลใจและแรงผลักดันในการใช้ชีวิต ทำให้เกิดความคิด จินตนาการ และไอเดียแปลกใหม่อยู่เสมอ โดยเฉพาะในยุค Disruptive Technology อย่างในปัจจุบัน ความท้าทายในการปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงมีโจทย์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ จะทำอย่างไรให้เราเท่าทันกับเทรนด์ของโลกและเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดอยู่เสมอ สำหรับองค์กรด้านพลังงานอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แน่นอนว่า กฟผ. ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม โดยมีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนางานด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น ทุกหน่วยงานเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ จากไอเดียของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพื่อจะได้นำนวัตกรรมนั้น ๆ มาใช้แก้ไขปัญหาในการทำงาน ช่วยลดขั้นตอน ลดเวลา และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้กับองค์กร รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรให้มีความกระตือรือร้นร้นและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ

จากการเปิดโอกาสและสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ กฟผ. มีนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งผลงานหลายชิ้นได้รับการยอมรับในระดับสากลและสามารถคว้ารางวัลจากเวทีนวัตกรรมระดับโลกมาได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่องค์กร และถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย โดยหนึ่งในสุดยอดนวัตกรรมแห่งความภูมิใจ ได้แก่ “นวัตกรรมยานสำรวจใต้น้ำ MCR” ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อใช้สำหรับแก้ไขปัญหาในงานสำรวจถังพักน้ำของโรงไฟฟ้า และถูกพัฒนาประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง รวมระยะเวลากว่า 10 ปี กระทั่งปัจจุบัน กฟผ. ได้เริ่มนำไปใช้ให้บริการงานสำรวจถังพักน้ำให้กับหน่วยงานภายนอกในเชิงธุรกิจแล้ว

จุดเริ่มต้นของยานสำรวจใต้น้ำ MCR

 

 

เมื่อพบปัญหาในการงานบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นงานที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและส่งผลกระทบโดยตรงกับการหยุดหรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้า อย่างงานสำรวจตะกอนในถังและท่อส่งน้ำของระบบผลิตน้ำใส เนื่องจากโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งจะมีถังน้ำ (water tank) ประเภทต่าง ๆ อาทิ Service water tank, Demin water tank, RO water tank, UF water tank และ Raw water reservoir ฯลฯ ทำหน้าที่พักน้ำไว้สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าและผลิตน้ำประปาที่ใช้ภายในโรงไฟฟ้า รวมทั้งมีท่อส่งน้ำของระบบผลิตน้ำใสไว้ส่งจ่ายน้ำไปยังแหล่งต่าง ๆ ซึ่งโรงไฟฟ้าจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพน้ำให้ใส สะอาด และไม่มีตะกอนตกค้าง เพื่อให้โรงไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังช่วยรักษาสภาพอุปกรณ์ในโรงไฟฟ้าให้มีอายุการใช้งานยาวนานยิ่งขึ้น โดยจะมีการตรวจประเมินสภาพความสะอาดภายในถังน้ำ จำนวน 4 ครั้งต่อปี ค่าใช้จ่ายครั้งละประมาณ 25,000 บาท

สำหรับการตรวจประเมินฯ แต่ละครั้ง โรงไฟฟ้าจะต้องขอความอนุเคราะห์นักประดาน้ำจากหน่วยงานต่าง ๆ ของ กฟผ. ให้เดินทางมาปฏิบัติงานตรวจประเมินฯ ณ โรงไฟฟ้านั้น ๆ เพื่อนำผลตรวจสอบที่ได้มาวิเคราะห์และประเมินผลสำหรับใช้วางแผนการทำความสะอาดถังน้ำและท่อส่งน้ำต่อไป ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงสูง เพราะถังน้ำที่นักประดาน้ำต้องดำลงไปตรวจประเมินฯ นั้น มีระดับความลึกตั้งแต่ 3-20 เมตร มืด อับอากาศ และมีทางเข้า-ออกบริเวณด้านบนของฝาถังเพียงทางเดียว ดังนั้นก่อนการตรวจประเมินฯ ทุกครั้ง จะต้องมีการวางแผนการทำงานอย่างรัดกุม เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความปลอดภัยสูงสุด และปัญหาที่สำคัญคือ โรงไฟฟ้าจำเป็นต้องหยุดระบบผลิตไฟฟ้าและระบบผลิตน้ำใสในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่งผลให้ กฟผ. สูญเสียโอกาสในการเดินเครื่องและรายได้ทางธุรกิจตลอดทั้งปีไปไม่น้อย

 

 

เมื่อทีมงานร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและสรุปว่า กระบวนการทำงานรูปแบบเดิมนี้มีความยุ่งยาก เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และเสี่ยงชีวิตผู้ปฏิบัติงาน ทีมงานโครงการเดินเครื่องและบำรุงรักษาประจำโรงไฟฟ้า บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ที่หลงรักในงานวิจัยและพัฒนา ผู้ที่มี Passion มีความตั้งใจและทุ่มเทกำลังความคิด ความสามารถ และกำลังใจในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ นำโดย 3 หนุ่มต่างวัยแต่หัวใจเดียวกัน พี่กุ้ง ยิ่งศักดิ์ กำลังใบ, พี่ต้อม ฉัตรชัย ขุนวัง และน้องโอ ปิยวัฒน์ เลิศสันติ พร้อมกับทีมสนับสนุนอีกหลายท่าน ได้ร่วมกันผนึกกำลังคิดค้นสุดยอดนวัตกรรม “ยานสำรวจใต้น้ำ MCR” ตั้งแต่ออกแบบ คิดค้นวัสดุอุปกรณ์ ร่วมกันแก้ไขปัญหาและข้อบกพร่องต่าง ๆ จนกระทั่งยานสำรวจใต้น้ำ MCR สามารถปฏิบัติงานสำรวจตะกอนใต้ถังพักและท่อส่งน้ำแทนนักปะดาน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จอย่างในวันนี้

มาทำความรู้จักยานสำรวจใต้น้ำ MCR

ท่อ PVC รูปร่างเหมือนแคปซูลขนาดยักษ์ ถูกติดตั้งกล้องและมอเตอร์ใบพัดบริเวณใต้ท้องลำ ดูรวม ๆ ลักษณะคล้ายเรือดำน้ำขนาดย่อม จึงถูกตั้งชื่อว่า “ยานสำรวจใต้น้ำ เอ็ม ซี อาร์ หรือ MCR Underwater Surveyor” ซึ่งเป็นการคิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์หรือยานสำรวจใต้น้ำขนาดเล็กเพื่อทำงานแทนมนุษย์ มีขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร (ซม.) ยาว 50 ซม. และสูง 25 ซม. น้ำหนักประมาณ 9 กิโลกรัม ควบคุมทิศทางด้วยระบบรีโมทคอนโทรล ทำหน้าที่ปฏิบัติงานสำรวจสภาพตะกอนใต้น้ำภายในถังพักน้ำต่าง ๆ และท่อส่งน้ำของระบบผลิตน้ำใสในโรงไฟฟ้า ทดแทนวิธีการเดิมที่ต้องใช้นักประดาน้ำดำลงไปสำรวจทุก ๆ 3 เดือน ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ทั้งยังเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูง การคิดค้นนวัตกรรมยานสำรวจใต้น้ำ MCR ขึ้นมาสำเร็จได้นี้ ช่วยทำให้โรงไฟฟ้าสามารถดำเนินการตรวจประเมินสภาพตะกอนในถังพักน้ำได้โดยไม่ต้องหยุดระบบการผลิตไฟฟ้าและหยุดการทำงานของระบบผลิตน้ำใส (Online Process) ไม่ต้องใช้นักประดาน้ำหรือทีมงานจำนวนมากอีกต่อไป ทำให้ กฟผ. ลดภาระงานได้ถึง 4 อย่าง คือ ลดเวลา ลดคน ลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน และลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 100,000 บาทต่อปี

 

 

 

ปัจจุบันยานสำรวจใต้น้ำ MCR ถูกพัฒนาขึ้นมาทั้งหมด 2 รุ่น (Version) คือ รุ่นต้นแบบ “MCR Version1” และรุ่นที่ 2 “MCR Version2” ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดที่นำมาใช้งานในปัจจุบัน และยังคงถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นต่อไป โดย กฟผ. ได้นำ MCR Version2 ไปใช้ในงานสำรวจตะกอนใต้น้ำให้กับโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าวังน้อย โรงไฟฟ้านวนคร ฯลฯ รวมทั้งประยุกต์ใช้ในงานสำรวจอุปกรณ์อื่น ๆ ที่อยู่ใต้น้ำ เช่น การสำรวจ Suction Strainer ของ Pump หรือการสำรวจท่อส่งน้ำต่าง ๆ อีกมากมาย

ส่วนประกอบและคุณสมบัติของยานสำรวจใต้น้ำ MCR

วัสดุอุปกรณ์และส่วนประกอบในการผลิตยานสำรวจใต้น้ำ MCR ทำมาจากสิ่งของเหลือใช้ในโรงไฟฟ้าและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องซื้อ คิดรวมเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 บาทต่อ 1 ชุด ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนแรก ส่วนแบตเตอรี่และวงจรควบคุม ได้แก่ ไฟ LED Lighting สำหรับส่องสว่าง, กล้องมองภาพและกล้องบันทึกใต้น้ำ, รีโมทควบคุมการทำงาน และ จอ LCD สำหรับแสดงภาพในขณะยานอยู่ใต้น้ำ โดยใช้ระบบควบคุมแบบสายที่มีความยาว 20 เมตร

และส่วนที่สอง ส่วนควบคุมการเคลื่อนที่ ประกอบด้วย ใบพัด สำหรับการควบคุมการเคลื่อนที่ในแนวระนาบ (เดินหน้า-ถอยหลัง และ เลี้ยวซ้าย-เลี้ยวขวา) และถังอับเฉา หรือถังควบคุมปริมาตรอากาศสำหรับควบคุมการเคลื่อนที่ในแนวดิ่ง (ขึ้น-ลง)

ยานสำรวจใต้น้ำ MCR มีความสามารถดำน้ำในแนวดิ่งและเคลื่อนที่ในแนวระนาบ ด้วยระบบรีโมทคอนโทรล (Control) ที่ความลึกไม่เกิน 20 เมตร โดยสามารถทำงานในพื้นที่แคบ มืด และอับอากาศแทนมนุษย์ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังมีคุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ ได้แก่ สามารถทำงานในพื้นที่ไม่เรียบได้, สามารถใช้งานได้ยาวนานต่อเนื่อง 1 ชั่วโมง, สามารถบันทึกภาพถ่ายและ VDO ใต้น้ำ หรือบันทึกทั้งสองอย่างพร้อมกันเพื่อนำภาพหรือผลสำรวจที่ได้มาวิเคราะห์และประเมินผลสำหรับใช้วางแผนการทำความสะอาดถังพักน้ำและท่อส่งน้ำของระบบผลิตน้ำใสต่อไป เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถดูแลรักษาน้ำในระบบให้มีคุณภาพ ก่อนนำมาใช้ในกระบวนผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้โรงไฟฟ้าสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ต้องหยุดเดินเครื่องขณะทำการตรวจประเมินฯ เหมือนที่ผ่านมา

ข้อจำกัดที่ยังต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับข้อจำกัดของยานสำรวจใต้น้ำ MCR คือ วงจรควบคุม เนื่องจากยานสำรวจเดิมจะใช้วงจรจากรถบังคับ ซึ่งเป็นวงจรควบคุมที่มีการสั่งการโดยตรง เช่น เดินหน้า – ถอยหลัง ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้งาน หรือพัฒนาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านอื่น ๆ รวมถึงข้อจำกัดด้านระยะการควบคุมที่มีระดับความลึกเพียง 20 เมตร ทางทีมงานจึงวางแผนการพัฒนายานสำรวจใต้น้ำใหม่ โดยจะเปลี่ยนมาใช้ระบบไมโครคอนโทรลเลอร์แทน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ควบคุมที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการควบคุมการทำงานและสามารถรองรับฟังก์ชั่น และการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มขอบเขตระยะทางในการสำรวจให้กว้างมากยิ่งขึ้น โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอโครงการ

 

 

รางวัลสุดภาคภูมิใจ

 

เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา นวัตกรรมชิ้นนี้ สามารถคว้ารางวัลเหรียญเงินจากเวที “47th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และรางวัลพิเศษจากหน่วยงาน Taiwan Invention Association ของไต้หวันในเวทีเดียวกัน ถือเป็นความภาคภูมิใจของทีมงานทุกคนที่ได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. ได้ขอจดทะเบียนสิทธิบัตรทางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์แล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาจากทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา

มากกว่า Innovation ที่ถูกพัฒนาขึ้นจนประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย สิ่งที่น่าชื่นชมและเป็นหัวใจหลักของงานวิจัยและพัฒนา คือ ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วย Passion ผู้ที่ไม่เคยหยุดคิด หยุดพยายาม ไม่ยอมแพ้ให้กับปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ และเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่าทุก ๆ ไอเดียที่เกิดขึ้นจะสามารถทำให้กลายเป็นความจริงได้

กฟผ. จะก้าวข้ามความท้าทายในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ได้ แน่นอนว่า “บุคลากร” ทุกคนเป็นส่วนสำคัญ วันนี้ กฟผ. ต้องการคนที่เชื่อมั่นว่า ไอเดียใหม่ ๆ ของคุณ จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและกำหนดทิศทางอนาคตขององค์กรได้จริง เพราะนวัตกรรมใหม่ ๆ หนึ่งชิ้น ไม่ใช่แค่ช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าหรือทำให้โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่อาจจะสามารถสร้างธุรกิจใหม่มูลค่ามหาศาลให้แก่องค์กรได้ หรือช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในเวทีโลก เช่นเดียวกับนวัตกรรมยานสำรวจใต้น้ำ MCR สุดยอด Innovation จากไอเดียของมนุษย์ผู้ที่ไม่เคยหมด Passion ….