วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 23:35 น.

เศรษฐกิจ

คืนชีพป่าชายเลน ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งปากแม่น้ำเวฬุ

วันพฤหัสบดี ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562, 09.55 น.

คืนชีพป่าชายเลน

ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งปากแม่น้ำเวฬุ

ความเขียวขจีของต้นไม้นานาพันธุ์ที่ขึ้นทึบ ต้นโกงกางใบเล็กใหญ่พลิ้วไหวตามแรงลม รากของโกงกางที่กอดรัดกันอย่างแน่นหนาแผ่คลุมผืนดินไว้ พื้นดินและพื้นน้ำเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด อาทิ ปูแสม ปูทะเล ปลาตีน ท้องฟ้าเหนือผืนป่าชายเลนมีเหยี่ยวแดงบินโฉบไปมาอาศัยป่าชายเลนเป็นแหล่งหากิน แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าชายเลนปากแม่น้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรีในปัจจุบัน

พื้นที่ปลูกป่าชายเลน กฟผ. จ.จันทบุรี

หากย้อนเวลาไปราว 5 ปีก่อน สภาพผืนป่าชายเลนจังหวัดจันทบุรีแตกต่างจากปัจจุบันราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ เนื่องด้วยการบุกรุกถางป่าของกลุ่มนายทุนและชาวบ้านนำมาทำเป็นบ่อเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา ทำนากุ้ง อีกทั้งเมื่อทำแล้วขาดทุนบ้าง ไม่คุ้มทุนบ้าง หรือพื้นที่เดิมที่ทำอยู่หมดประโยชน์ก็ทิ้งร้าง เวียนไปทำในพื้นที่อื่น จนมองเห็นเป็นพื้นที่โล่งเตียนไกลสุดลูกตา น้ำจากบ่อกุ้งยังสร้างมลภาวะเป็นน้ำเสียทำลายระบบนิเวศรอบ ๆ จนเสียหาย สัตว์ทะเลเริ่มหายไปเนื่องจากขาดพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งสัตว์ทั้งหลายใช้เป็นบ้านพักเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ กระทบไปถึงชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมง พวกเขาเริ่มจับสัตว์น้ำได้ปริมาณน้อยลง เหล่านี้เป็นสิ่งที่ กฟผ. ได้พบหลังเข้าไปสำรวจพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าชายเลนปากแม่น้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรีเมื่อราวปี 2557 แม้จะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่สภาพป่าชายเลนนั้นถูกบุกรุกทำลายจนเสื่อมโทรม การฟื้นคืนสภาพป่าตามธรรมชาติจึงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากพันธุ์ไม้หลักของป่าชายเลน เช่น โกงกาง โปรง พังกา ฯ หลงเหลืออยู่ในพื้นที่น้อยมาก หากยิ่งปล่อยไว้นานวันจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างมหาศาล

พื้นที่ปลูกป่าชายเลน กฟผ. จ.จันทบุรี

ปี 2558 กฟผ. จับมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ดำเนินการพลิกฟื้นคืนผืนป่าชายเลนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปากแม่น้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรี รวมจำนวน 6,000 ไร่ แบ่งเป็น บริเวณท้องที่ตำบลบ่อ และตำบลบางชัน อำเภอขลุง ในปี 2558 จำนวน 1,000 ไร่ บริเวณท้องที่บ้านทองหลาง บ้านแหลมผี และบ้านอิเทพ ตำบลบางชัน อำเภอขลุง ในปี 2559 จำนวน 2,000 ไร่ และในปี 2560 จำนวน 3,000 ไร่ บริเวณท้องที่ตำบลบ่อ ตำบลบางชัน อำเภอขลุง และตำบลหนองชิ่ม อำเภอแหลมสิงห์ โดยเป็นการปลูก 1 ปี บำรุงรักษา 2 ปี แล้วจึงส่งมอบพื้นที่ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติคืนให้กับ ทช.

ภารกิจฟื้นฟูป่าชายเลนของ กฟผ. ไม่เพียงต้องการพลิกฟื้นผืนป่าเท่านั้น แต่ต้องการพลิกฟื้นจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งอยู่ร่วมกับป่าชายเลน ให้พวกเขาเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและรักษาป่าไว้อย่างยั่งยืนตลอดไป โดยเริ่มจากการทำประชาคมเพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านพร้อมขอคืนพื้นที่จากชาวบ้านเพื่อนำมาปลูกป่า (เนื่องจากมีชาวบ้านบางส่วนเข้ามาทำกินในพื้นที่เขตป่าสงวนฯ) สร้างจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของการรักษาป่าชายเลน ชี้ให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างคนกับป่า สร้างการมีส่วนร่วมให้ชาวบ้านได้ร่วมปลูกและดูแลเพื่อให้เกิดการหวงแหนรักษาป่า โดยไม่ได้ห้ามให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า เพียงแต่ต้องไม่ทำลายป่า

พื้นที่ปลูกป่าชายเลน กฟผ. จ.จันทบุรี

และในวันนี้ได้มีโอกาสกลับไปดูพื้นที่ปลูกป่าชายเลนของ กฟผ. บริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปากแม่น้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรีอีกครั้ง พบว่ามีแต่ความอุดมสมบูรณ์ ป่าชายเลนมีการเติบโตเป็นอย่างดี และมีสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ลูกกุ้ง หอย ปู ปลา เข้ามาพักพิงอาศัยป่าชายเลนแห่งนี้กันอย่างชื่นอุรา ไม่เพียงเท่านี้ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์นี้ยังมีประโยชน์ต่อยอดถึงการสร้างชีวิตและสร้างอาชีพให้กับชุมชนประมงชายฝั่งที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ได้ทำมาหากินแบบเอื้อประโยชน์ต่อกันอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการประมง การท่องเที่ยว รวมถึงการสร้างผลผลิตจากป่าชายเลนให้กลายเป็นสินค้าชุมชน

พื้นที่ปลูกป่าชายเลน กฟผ. จ.จันทบุรี

คงไม่มีใครจะรู้ซึ้งถึงประโยชน์ของป่าไม้ชายเลนได้ดีเท่ากับชาวบ้านซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่ คุณชูชาติ ฉายแสง เครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลนลุ่มน้ำเวฬุ เล่าว่า แต่ก่อนตนเคยประกอบอาชีพประมงและทำนากุ้งรายได้ไม่ค่อยดี หากินไปวัน ๆ ต่อมาพอมีโครงการปลูกป่าของ กฟผ. เกิดขึ้น หลังจากปลูกป่าก็มี กุ้ง หอย ปู ปลามาอาศัยทำให้การทำมาหากินดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ตนจึงเปลี่ยนใจมาสนับสนุนและคอยช่วยดูแลพื้นป่าตรงนี้ไปด้วย ซึ่งแต่ก่อนนั้นก็ไม่ได้เต็มใจกับนโยบายขอคืนพื้นที่ป่าเท่าไหร่ ทั้งนี้อยากจะขอบคุณ กฟผ. ที่ได้มาช่วยเหลือปลูกป่า

ด้าน คุณธนวัฒน์ รักร่วม ชาวบ้านตำบลหนองชิ่ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า ก่อนจะกลับมาอยู่บ้านที่จันทบุรีนี้ อาชีพเดิมเป็นพนักงานโรงงาน ที่ไปทำงานไกลบ้านเพราะว่าไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน ป่าธรรมชาติทรัพยากรมันน้อย ทำให้ทำมาหากินลำบาก ที่ตนกลับมาอยู่ที่บ้านอีกครั้งก็เพราะมีการปลูกป่าแล้วธรรมชาติก็ดีขึ้น ทรัพยากรก็มีพวก ปู ปลา กุ้ง หอย ทำให้หากินได้ง่ายขึ้น ก็พอสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ อยากให้ขอบคุณทาง กฟผ. ที่ทำให้มีพื้นที่ทำมาหากินและทำให้มีธรรมชาติคืนสู่บ้านเรา

 

พื้นที่ปลูกป่าชายเลน กฟผ. จ.จันทบุรี

การพลิกฟื้นป่าใหญ่กว่า 6,000 ไร่ ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งราวกับร่ายเวทมนต์มหัศจรรย์ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความตั้งใจจริงของ กฟผ. ทั้งการปลูกที่ป่าและการปลูกที่ใจชาวบ้าน ทำให้ธรรมชาติกลับมาสดใสอีกครั้ง ก่อเกิดเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างมหาศาล