วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 06:43 น.

เศรษฐกิจ

รฟม.พร้อมรับมือCOVID หวั่นระบาดระลอก2 พร้อมอุ้มเอกชนรับผลกระทบ

วันพุธ ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 14.58 น.
รฟม.พร้อมรับมือCOVID หวั่นระบาดระลอก2 พร้อมอุ้มเอกชนรับผลกระทบ
 
       
 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด ว่าที่ประชุมได้มอบหมายให้รฟม.สรุปเรื่องรายละเอียดแผนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าภูมิภาค โดยจะต้องสรุปแผนโครงการให้ชัดเจนว่าจะเริ่มทำในส่วนใดก่อน และขั้นตอนนั้นอยู่ระหว่างดำเนินการอย่างไรแล้วบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมาอาจจะเกิดสับสนเรื่องของโครงการว่าจะดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19นั้น ขณะนี้รฟม.ยังคงระดับมาตรการไว้ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงสุด ทั้งเรื่องเว้นระยะห่าง การทำความสะอาดภายในขบวนรถและสถานีที่ให้บริการ รวมถึงเมื่อผู้โดยสารเข้าสู่ในขบวนรถไฟฟ้าแล้ว ขอความร่วมมือสแกน QR CODE ไทยชนะที่ติดอยู่ในตู้โดยสาร ผู้โดยสารต้องสวมใส่หน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัย ตลอดเวลาที่เข้าใช้บริการรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม รฟม.พร้อมที่จะปฎิบัติตามประกาศคำสั่งอย่างเคร่งครัด
 
         
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า สำหรับแผนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าภูมิภาคนั้น ในช่วงที่ผ่านมารฟม.ไม่สามารถลงพื้นที่เพื่อจะทำประชาพิจารณ์ ขอความเห็นกับประชาชนในพื้นที่ได้ เนื่องจากติดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงจะต้องดำเนินการใหม่ และต้องนำเสนอรายละเอียดกับที่ประชุมบอร์ดอีกครั้ง เนื่องจากแผนทั้งหมดได้รับผลกระทบส่งผลให้เกิดความล่าช้า การลงทุนมีความจำเป็นต้องเลื่อนออกไป ทุกเส้นทางในภูมิภาค โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือGDP ติดลบประมาณ 5-8% นอกจากนี้ ได้มีการเสนอต่อที่ประชุมเพื่ออนุมัติการยกเว้นค่าเช่าพื้นที่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 โดยพิจารณาจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศที่ระบุว่าให้หยุดการประกอบกิจการชั่วคราวยกตัวอย่าง การเช่าพื้นที่จัดเลี้ยง จัดประชุมบริเวณอาคารจอดรถ 9ชั้น ลักษณะนี้คือยกเว้นให้ ทั้งนี้ จะยกเว้นเป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน 2563 ส่วนบางจุดที่เป็นเรื่องของป้ายโฆษณาก็ทำการลดให้ 50% เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารลดลง
         
นอกจากนี้ ในการประชุมบอร์ดได้มีการพิจารณาการขอก่อสร้างทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง โดยกรมธนารักษ์ขอสร้างอุโมงค์เชื่อมศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่กำลังปรับโฉมใหม่กับสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระยะเวลา 15 ปี จ่ายค่าธรรมเนียมให้รฟม. ประมาณ 17 ล้านบาท แต่ล่าสุดได้ขอยกเว้นค่าธรรมเนียม ซึ่งบอร์ดให้รฟม.ไปเจรจากรมธนารักษ์เพิ่มเติม โดยมีอีก 2 สถานีที่เอกชนขอสร้างทางเชื่อม คือ สถานีลุมพินีมีโครงการ”วัน แบงค็อก”จะขอสร้างทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้ากับโครงการ อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด ในเบื้องต้นจะเช่าระยะเวลา 15 ปี วงเงินค่าธรรมเนียม 30 ล้านบาท