วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 12:32 น.

เศรษฐกิจ

MEA ครบรอบ 62 ปี มุ่งขับเคลื่อน Change to New Normal

วันศุกร์ ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 16.34 น.

MEA ครบรอบ 62 ปี มุ่งขับเคลื่อน Change to New Normal 

 
MEA ครบรอบ 62 ปี พร้อมขับเคลื่อน Change to New Normal พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
 
นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เปิดเผยว่า ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาการไฟฟ้านครหลวง ครบ 62 ปี ในวันที่ 1 สิงหาคม 2563 นี้ MEA มีภารกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) พร้อมพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อประชาชนภายใต้แนวทาง “62 Year MEA CHANGE to NEW NORMAL” 
 
โดย MEA ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภคสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีประวัติศาสตร์ในการก่อตั้งอันยาวนาน โดยได้รับการสถาปนาขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ถือเป็นการไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทย โดยตลอดระยะเวลา 62 ปี ที่ผ่านมานั้น MEA ได้ให้บริการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ มีการเติบโตไปพร้อม ๆ กับสังคม ตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และได้เล็งเห็นถึงผลกระทบจากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา จึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาล ตลอดจนการปรับเปลี่ยนงานบริการต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจ และสังคมในรูปแบบ New Normal ทั้งในด้านการวางมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดเร่งด่วน และการยกระดับคุณภาพงานบริการต่าง ๆ ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อโรค โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 สถิติการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ MEA มีหน่วยพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสะสม ปี 2563 เท่ากับ 50,840.09 ล้านหน่วย โดย MEA ได้ดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 100 มีสถิติความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Maximum Demand) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 จำนวน 9,525.93 เมกะวัตต์ และได้พัฒนาระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเสริมความมั่นคงและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ส่งผลให้มีจำนวนครั้งที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIFI) เท่ากับ 0.469 ครั้ง/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย/เดือน และระยะเวลาที่ไฟฟ้าขัดข้องเฉลี่ย (SAIDI) เท่ากับ 15.412 นาที/ผู้ใช้ไฟฟ้า 1 ราย/6 เดือน (ข้อมูลสะสมถึงเดือน มิถุนายน 2563) 
 
ในด้านการพัฒนาบริการต่าง ๆ MEA ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าออนไลน์ด้วยรูปแบบดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น MEA Smart Life Application ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในด้านการตรวจสอบ จ่ายค่าไฟฟ้าผ่านบัตรเครดิต - Internet Banking และการแจ้งไฟฟ้าขัดข้อง อีกทั้ง ในช่วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา ระบบบริการออนไลน์ MEASY (https://eservice.mea.or.th/measy) ยังเป็นช่องทางหนึ่งที่เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 และช่องทางดังกล่าวยังอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับบริการขอติดตั้งไฟฟ้าใหม่ ขอติดตั้งไฟฟ้าชั่วคราว ขอเพิ่ม-ลดขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ตลอดจนการของดการใช้ไฟฟ้าชั่วคราวก็สามารถรับบริการได้ง่ายยิ่งขึ้น ขณะที่การรับเอกสารต่าง ๆ ของ MEA เช่น ใบแจ้งยอดค่าไฟฟ้า ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี และหนังสือเตือนให้ชำระค่าไฟฟ้านั้น MEA ได้ดำเนินโครงการ 
 
นายกีรพัฒน์ กล่าวว่า MEA e-Bill เปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับเอกสารในรูปแบบเอกสารออนไลน์ ผ่านทาง SMS หรือ Email เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในการได้รับเอกสารอย่างรวดเร็ว ช่วยลดขยะอันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้  MEA ตอบรับนโยบายรัฐบาลมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพการดำเนินงานเป็นตัวแทนประเทศไทยที่เข้ารับการประเมินความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจ หรือ The Ease of Doing Business ด้านความสะดวกในการขอใช้ไฟฟ้า (Getting Electricity) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการจัดอันดับของธนาคารโลก (Doing Business 2020) ประจำปี พ.ศ. 2563 MEA มีคะแนนเป็นอันดับที่ 6 ของโลก เป็นการแสดงถึงคุณภาพบริการของ MEA ที่ส่งเสริมการลงทุน การทำธุรกิจในประเทศไทยจากทั้งนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติอีกด้วย MEA ยังได้มีโครงการพัฒนางานบริการในพื้นที่เขต ทั้ง 18 แห่ง ตามโครงการ Virtual District โดยดำเนินการปรับปรุงการบริการทั้งในด้าน Front Office และ Back Office ให้การบริการมีความสะดวกมากขึ้น
 
 
สำหรับบริการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างยานยนต์ไฟฟ้า (EV) MEA ได้จัดทำ MEA EV Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการตรวจสอบสถานีอัดประจุไฟฟ้า การจองหัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และข้อมูลการชาร์จของผู้ใช้งาน โดย MEA ยังได้ให้ความสำคัญกับการจัดการระบบไฟฟ้า และระบบการให้บริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนและกำหนดหลักเกณฑ์ในการเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้า ส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทให้มีความเพียงพอ มั่นคง ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และปัจจุบัน MEA ยังมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้ารวม 14 สถานี โดยล่าสุด ได้ให้บริการออกแบบและติดตั้งเครื่องชาร์จไฟยานยนต์ไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัยของลูกค้าโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่ง MEA ยังคงสนับสนุนกับทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศ เช่น สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น Nissan MG รวมทั้งกระทรวงพลังงาน เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก และการสร้างฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมในอนาคต
 
ในด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้า MEA ยังคงเดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจตามแผนงาน พร้อมเป็นผู้นำประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบสายสื่อสาร ในพื้นที่ให้บริการ โดยปัจจุบัน กฟน. ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินแล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 48.6 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการ 167 กิโลเมตร ซึ่งโครงการที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2563 ได้แก่  ถนนวิทยุ ช่วงแยกเพลินจิต ถึง ถนนพระราม 4 และโครงการรอบพระตำหนักจิตรลดา รวมถึงโครงการขยายการก่อสร้างอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าใจกลางเมืองซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ถนนชิดลม ถึง ถนนสารสิน (ตลอดแนวถนน) และถนนเพลินจิต (จากสี่แยกชิดลม ถึงสี่แยกเพลินจิต) โดยมีลักษณะเป็นอุโมงค์ยักษ์ขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร อยู่ลึกประมาณ 40 เมตร มีความยาวของอุโมงค์โดยประมาณ 1,800 เมตร ซึ่งจะถือเป็นอุโมงค์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 
 
ทั้งนี้การพัฒนาระบบไฟฟ้าไปสู่การเป็น มหานครอัจฉริยะ Smart Metro Grid ในปัจจุบัน MEA ยังได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการดำเนินโครงการ เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (CHULA Smart City) ตลอดจนการเตรียมพร้อมรองรับระบบไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ และสถานีกลางบางซื่อ ซึ่ง MEA ได้ดำเนินการสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางบางซื่อเพื่อรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้สูงสุด 1,200 เอ็มวีเอ (MVA) เทียบเท่าประมาณ 5 เท่าของศักยภาพระบบจ่ายไฟฟ้าให้กับนิคมอุตสาหกรรมบางปู โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2563 ในปี 2563 MEA จึงได้ติดตั้ง smart meter จำนวน 33,265 ชุด  และการใช้เทคโนโลยีในการรับส่งข้อมูลและสถานะของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบได้แบบสองทาง (two-way communication) มีคุณสมบัติในการ monitor และแสดงผลได้ทันที (real time) ช่วยให้ทราบถึงพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า และเก็บข้อมูลพร้อมบันทึกการใช้พลังงานไฟฟ้าจาก smart meter ทั้งปัจจุบันและย้อนหลังเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ สามารถหาสาเหตุของปัญหาเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น ขณะที่ในด้านเทคโนโลยีการควบคุมระบบไฟฟ้า  MEA ยังมีแผนดำเนินการปรับปรุงศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า Supervisory Control and Data Acquisition (SCADA) เพื่อทำหน้าที่ควบคุมจัดการระบบไฟฟ้า ตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูลสั่งการที่ทันสมัย ช่วยในเรื่องการบริหารจัดการควบคุมแรงดัน รวมถึงการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย พร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้สามารถตรวจสอบและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที และเพื่อการวางระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแห่งอนาคตสำหรับเมืองมหานครให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
 
นอกจากนี้ ในด้านการวางมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในรูปแบบ New Normal นั้น MEA ได้ปรับปรุงรูปแบบงานบริการในทุกที่ทำการเพื่อให้มีมาตรฐานที่ชัดเจน และเป็นไปตามข้อบังคับด้านสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วยการตั้งจุดตรวจคัดกรองผู้ปฏิบัติงานและบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อก่อนเข้าอาคาร MEA รวมถึงบริเวณห้องชำระค่าไฟฟ้า ด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย (Thermoscan) ทำความสะอาดพื้นที่ พร้อมทั้งฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในบริเวณให้บริการลูกค้าและภายในอาคารสำนักงาน เพื่อสร้างความปลอดภัย รวมถึงได้ออกประกาศคำสั่งภายในเพื่อให้พนักงานปฎิบัติตามนโยบายรัฐบาลอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังได้ให้ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเชื้อ COVID-19 คำแนะนำวิธีปฏิบัติตนผ่านช่องทางสื่อสารของ MEA เพื่อให้พนักงานและประชาชนมีความเข้าใจและสามารถดูแลตนเองและคนใกล้ชิดได้อย่างถูกวิธี พร้อมร่วมรณรงค์ให้ทุกคนมีวินัยในการใช้ชีวิตแบบ New Normal โดยสวมใส่หน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ข้างนอก เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และสแกนเข้าและออกจากสำนักงานทุกแห่งผ่านแพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" 
 
สำหรับงานด้านสังคมสิ่งแวดล้อม MEA ได้นำเสาไฟฟ้าจากการนำสายไฟลงใต้ดินไปทำประโยชน์ในรูปแบบ MEA’s Model โดยนำเสาไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานและยางรถยนต์เก่านำมาทำเป็นแนวกันคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน และป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ และโครงการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า เพื่อลดการกัดเซาะชายฝั่ง คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเลไทย ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยส่งมอบโซลาร์เซลล์ และโคมไฟส่องสว่างในชุมชน ปรับปรุงระบบไฟฟ้าในชุมชนเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัย สร้างบ่อซีเมนต์เพาะเลี้ยงปลาดุก พร้อมสนับสนุนพันธุ์ปลา อาหารปลาอุปกรณ์สนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานสะอาด มุ่งสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน และ MEA เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการช่างไฟฟ้ามืออาชีพ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งสู่ชุมชน เข้าอบรม ทดสอบและประเมิน (สัมภาษณ์) ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันอันตรายรวมถึงความเสี่ยงของช่างไฟฟ้าในระหว่างการปฏิบัติงาน และเสริมสร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 เพื่อขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 ให้สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพงานด้านช่างไฟฟ้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่านการอบรมยังมีโอกาสได้รับการอบรมการติดตั้งระบบชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า EV Charger รวมถึงร่วมให้บริการด้านไฟฟ้าแบบครบวงจรผ่าน Application MEA e-Fix เสริมสร้างรายได้เป็นเครือข่ายตัวแทน MEA ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ อีกด้วย
 
ในด้านการบริหารองค์กร MEA ได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใส จากการประกาศรางวัล NACC Integrity Awards) จากสำนักงาน ป.ป.ช. ในครั้งที่ 4 เมื่อปี 2556 และยังได้รับรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใสต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน ได้แก่ ครั้งที่ 7 ปี 2560 ครั้งที่ 8 ปี 2561 และล่าสุดเป็นครั้งที่ 9 นอกจากนี้ MEA ได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กร ที่ระดับ AAA ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดด้วยแนวโน้มอันดับเครดิตอยู่ที่ระดับ Stable ที่สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตอย่างต่อเนื่องสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ตลอดจนนโยบายทางการเงินที่รอบคอบ รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ตอกย้ำว่า MEA เป็นองค์กรโปร่งใส มีคุณธรรมอย่างยั่งยืน
 
นอกจากนี้ มีโครงการความร่วมมือระหว่าง MEA และ อต.ขับเคลื่อนโครงการพี่เลี้ยง สนับสนุนรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร  ยกระดับคุณภาพรัฐวิสาหกิจไทย ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดย MEA เป็นพี่เลี้ยงให้แก่องค์การตลาด ทั้งมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ(Workshop) แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันจัดทำและทบทวนแผนการดำเนินงานเพื่อยกระดับการบริหารจัดการองค์กรขององค์การตลาดสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
 
MEA ยังคงมุ่งมั่นภารกิจสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมรองรับกับการเปลี่ยนของเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต ด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงพอ มั่นคง และปลอดภัย ซึ่งในวันนี้ MEA มีความพร้อมที่จะก้าวสู่ยุคดิจิทัลในการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นับเป็นการยกระดับงานบริการพร้อมกับการวางมาตรฐานป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคม New Normal ทั้งนี้ เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป