วันอังคาร ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:03 น.

เศรษฐกิจ

ทช.ครบรอบ18ปี เดินหน้าภารกิจงานทางทั่วประเทศ

วันศุกร์ ที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2563, 15.50 น.

ทช.ครบรอบ18ปี เดินหน้าภารกิจงานทางทั่วประเทศ

 

 

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยภายหลังนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งครบรอบ 18 ปี ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ซึ่งภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ พิธีสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคลของบุคลากรของ ทช. พิธีมอบโล่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการดีเด่น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่

 

นอกจากนี้ ปัจจุบัน ทช.มีถนนโครงข่ายในความรับผิดชอบทั่วประเทศ จำนวน 3,267 สายทาง ระยะทางรวม 47,960 กิโลเมตร สำหรับในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ทช.ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 45,138.6288 ล้านบาท สิ้นปีงบประมาณ 2563 เบิกจ่ายไปแล้ว จำนวน 37,426.4840 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.91 ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 มีโครงการที่ ทช.ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ อาทิ ถนนทางหลวงชนบทสาย นย.3001 แยก ทล.305 – บ้านบางน้ำเปรี้ยว จ.นครนายก, ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 32.975 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 2,116.695 ล้านบาท, ถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4058 แยก ทล.3138 – ทล.344 อ.บ้านค่าย, วังจันทร์ จ.ระยอง ระยะทาง 32.807 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 159.948 ล้านบาท,ถนนสาย จ1 และจ2 ผังเมืองรวมเมืองพะเยา และสาย ค ผังเมืองรวมชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา และถนนส่วนต่อเชื่อมทางเลี่ยงเมืองจ.พะเยา ระยะทาง 8.899 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 473.811 ล้านบาท, ถนนสาย ค ผังเมืองรวมเมืองนครสวรรค์ (บริเวณถนนมหาเทพ) จ.นครสวรรค์ ระยะทางรวม 1.855 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 93.700 ล้านบาท, สะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟ กับถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1014 แยก ทล.4 - บ้านเขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใช้งบประมาณรวม 162.442 ล้านบาทและสะพานข้ามทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนนสาย พบ.1016 แยก ทล. 4 – บ้านปึกเตียน ต.หนองจอก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรีใช้งบประมาณรวม 135.568 ล้านบาท

 

 

ทั้งนี้ ยังมีโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ ถนนทางหลวงชนบทสาย ชพ.4012 แยก ทล.4198 – เทศบาลปากน้ำหลังสวน อ.ทุ่งตะโก, หลังสวน จ.ชุมพร ระยะทาง 23.589 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 195.478 ล้านบาท, ถนนทางหลวงชนบทสาย ชพ.4008 แยก ทล.4001 – บ้านโพธิ์แบะ อ.เมือง จ.ชุมพร ระยะทางรวม 24.569 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 180.780 ล้านบาท โดยทั้งสองโครงการ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2564 รวมทั้ง โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.7 – ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ระยะทางรวม 10.570 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 1,499.2550 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2564, โครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001แยก ทล.314 – ลาดกระบัง จ.ฉะเชิงเทรา, กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 20.329 กิโลเมตร ใช้งบประมาณรวม 3,712.8090 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณปลายปี 2563 นี้ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนต่อไป

 

 

สำหรับในปีงบประมาณ 2564 ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 48,789.8421 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามภารกิจและนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ ถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต ถนนเพื่อการแก้ไขปัญหาจราจรในปริมณฑลและภูมิภาค,ถนนในเขตผังเมืองรวม, ถนนสนับสนุนการท่องเที่ยว, ถนนเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้, ถนนเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่ง, ถนนเพื่อสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยมีการก่อสร้างจากถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต จำนวน 365 โครงการ ระยะทาง 834.620 กิโลเมตร สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วประเทศ จำนวน 222 โครงการความยาวรวม 18,517 เมตร ตลอดจนงานซ่อมบำรุงโครงข่ายทางหลวงชนบททั่วประเทศและอำนวยความปลอดภัยทางหลวงชนบท เป็นต้น

 

ส่วนโครงการสำคัญในปีงบประมาณ 2564 เช่น โครงการขยายถนนราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี ระยะทาง 6.800 กิโลเมตร งบประมาณ 903 ล้านบาท, ถนนสายแยก ทล.3452 – สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี (ตอนที่ 1) ระยะทาง 7.200 กิโลเมตร งบประมาณ 900 ล้านบาท, ถนนสายแยก ทล.3452 - สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี (ตอนที่ 2) ระยะทาง 18.456 กิโลเมตร งบประมาณ 900 ล้านบาท, ถนนสาย สป.4002 แยก ทล.3344 – บ้านบางพลีใหญ่ อ.เมือง,บางพลี จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 8.192 กิโลเมตร งบประมาณ 793.400 ล้านบาท, ถนนสายแยก ทล.1020 – บ้านกิ่วแก้ว อ.เทิง,จุน จ.เชียงราย,พะเยา ระยะทาง 43.709 กิโลเมตร งบประมาณ 1,200 ล้านบาท, ถนนสาย มห.3019 แยก ทล.212 – บ้านบางทรายใหญ่ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ระยะทาง 14.211 กิโลเมตร งบประมาณ 804.330 ล้านบาท, ถนนสาย ข1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการจ.สมุทรปราการ ระยะทาง 1.925 กิโลเมตร งบประมาณ 158.100 ล้านบาท, ถนนสาย ข9 ค3 ผังเมืองรวมชุมชนโคกกลอย – ท้ายเหมืองจ.พังงา ระยะทาง 4.229 กิโลเมตร งบประมาณ 330 ล้านบาท ฯลฯ

 

รวมทั้ง การใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ได้เน้นย้ำในเรื่องการนำยางพารามาเป็นส่วนผสม ในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ ซึ่งมีโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) เป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มแผ่นยางธรรมชาติ และหลักนำทางยางธรรมชาติ มาติดตั้งใช้งานจริงบริเวณพี้นที่ดังกล่าว เพื่อสร้างความปลอดภัย ลดความสูญเสียในการใช้รถใช้ถนน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม เพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศึกษาและวิจัยพบว่ามี 2 ผลิตภัณฑ์ ที่มีปริมาณยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมาก สามารถลดความรุนแรงของการชนปะทะได้ คือ “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” (Rubber Fender Barrier : RFB) และ “หลักนำทางยางธรรมชาติ” (Rubber Guide Post : RGP) โดยมีผลการทดสอบจากสถาบันที่ได้รับการยอมรับในประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี พบว่าผู้ขับขี่ได้รับค่าแรงกระแทกน้อยกว่าค่ามาตรฐานสามารถลดอัตราความรุนแรงที่ทำให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตได้