เศรษฐกิจ
เซ็นแล้ว 5 สัญญา รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
วันพฤหัสบดี ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563, 16.36 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

เซ็นแล้ว 5 สัญญา รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงคุณธรรมและลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) จำนวน 5 สัญญา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทคู่สัญญา วงเงินลงทุนรวม 40,275 ล้านบาท ว่าเพื่อการดำเนินการให้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ที่สำคัญเชื่อมไทยสู่โลกและเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ เชื่อมความสัมพันธ์กัน ซึ่งรัฐบาลให้ความสนใจและเร่งรัดติดตามความก้าวหน้าของโครงการมาโดยตลอด และจะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า Belt and Road Initiative หรือเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงยุโรปด้วยทางรถไฟ โดยกระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดโครงการให้เดินหน้าจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) โดยเร็ว ล่าสุดได้มีการลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจีนพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา
“สำหรับโครงการดังกล่าวจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการอีกระยะ โดยกรมขนส่งทางราง (ขร.) จะเป็นหน่วยงานที่จะบริหารจัดการร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการตามแผนก่อสร้างในส่วนใดที่เกิดปัญหาอุปสรรคก็ได้แก้ไข ตัวอย่างที่สถานีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ติดปัญหาเรื่องของโบราณสถานขณะนี้ก็ได้ประสานและแก้ไขร่วมกับกรมศิลปากรเรียบร้อย ส่วนในจุดอื่นๆที่มีปัญหาก็อยู่ระหว่างดำเนินการเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 14 สัญญา มีความจำเป็นต้องดูทั้งหมดเพื่อดำเนินการไปพร้อมกัน ซึ่งระยะเวลาถือว่าพอที่จะดำเนินการในการแก้ไขปัญหา สำหรับการลงพื้นที่จากนี้นั้นจะต้องดำเนินการตามสัญญาเงื่อนไขที่ระบุโดยกำหนดจะต้องภายใน 90 วันหลังลงนามสัญญา นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้รับอนุมัติให้จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อทำการศึกษารูปแบบการเดินรถ โดยอาจะเปิดให้เอกชนร่วมดำเนินการได้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณปี 2564 ให้กระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินการเรียบร้อย ซึ่งเป็นมติที่ประชุมเมื่อวันที่11 ก.ค.2560 ทั้งนี้ องค์กรดังกล่าวจะมีหน้าที่จัดหาผู้รับผิดชอบเพื่อเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง” นายชยธรรม์ กล่าว
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. เปิดเผยว่า การลงนามในสัญญาก่อสร้างานโยธา 5 สัญญาวันนี้ ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ดำเนินการ โดยบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างอุโมงค์ยาวรวม 8 กิโลเมตร และการก่อสร้าง ทางรถไฟระยะทางรวม 12.23 กิโลเมตร สัญญาที่ 3-3 งานโยธาสำหรับช่วงบันไดม้าลำตะคอง ดำเนินการโดย บริษัท ไทยเอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งมีงานก่อสร้างสถานีปากช่อง และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทาง รวม 26.10 กิโลเมตร สัญญาที่ 3-4 งานโยธาสำหรับช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ดำเนินการโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจุดเด่น คือ มีงานก่อสร้างทางรถไฟระยะทางยาวที่สุดในโครงการถึง 37.45 กิโลเมตร สัญญาที่ 3-5 งานโยธาสำหรับช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ดำเนินการโดยบริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด ประกอบด้วย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทิมเชคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดีจำกัด และบริษัท บิน่า พรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมาและการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.38 กิโลเมตร และสัญญาที่ 4-7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี-แก่งคอย ดำเนินการโดย บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างสถานีสระบุรี และการก่อสร้างทาง รถไฟระยะทางรวม 12.99 กิโลเมตร
สำหรับ 5 สัญญาที่ลงนามวันนี้ มีระยะทางรวม 101.15 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 40,275 ล้านบาท เมื่อโครงการเสร็จและคาดว่าเปิดให้บริการปี 2568 จะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทยให้มีความก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมของไทยระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทางโครงการ
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่