วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 02:13 น.

เศรษฐกิจ

ราช กรุ๊ป ผุดโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นระยอง 98 เมกะวัตต์

วันพฤหัสบดี ที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2564, 14.50 น.
ราช กรุ๊ป ผุดโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นระยอง 98 เมกะวัตต์ 
 
ราช กรุ๊ป เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นระยอง 98 เมกะวัตต์ พร้อมเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมษายน 2565
 
ราช กรุ๊ป ฯ เผยโครงการโรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง (NRER) กำลังการผลิตติดตั้ง 98 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรม เอสเอสพี อินดัสเทรียล พาร์ค อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วโดยบริษัท เน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง จำกัด (“NRER”) ซึ่งถือหุ้นร่วมกันระหว่างราช กรุ๊ป กับบริษัท Nexif Energy Thailand B.V. สัดส่วนร้อยละ 49 และ 51 ตามลำดับ โครงการนี้จะดำเนินการก่อสร้างเป็นระยะเวลา 24 เดือน และกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายน 2565 ทั้งนี้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการฯ 90 เมกะวัตต์จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 25 ปี และไฟฟ้าส่วนที่เหลือจะจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรมเอสเอสพี อินดัสเทรียล พาร์ค ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
 
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้า NRER มูลค่าประมาณ 135 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซรุ่นใหม่ล่าสุดที่พัฒนาประสิทธิภาพให้เหมาะสำหรับโรงไฟฟ้า SPP ประเภทโคเจนเนอเรชั่น ช่วยให้การผลิตมีเสถียรภาพมากขึ้น สำหรับการก่อสร้างโครงการฯ คืบหน้ากว่าร้อยละ 30 และกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารและฐานรากของเครื่องจักร คาดว่าในปลายปีนี้การติดตั้งเครื่องจักรจะแล้วเสร็จและเริ่มทดสอบเครื่องจักรและขนานเครื่องเข้าระบบในต้นปี 2565 ก่อนที่จะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายน 2565  
 
“แม้จะต้องเผชิญความท้าทายจากวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา บริษัทฯ และพันธมิตรก็จับมือกันเดินหน้าโครงการฯ จนประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้ และจัดจ้างบริษัทออกแบบวิศวกรรม จัดหาเครื่องจักรและก่อสร้าง จนกระทั่งลงมือก่อสร้างโครงการฯ ในปัจจุบัน บริษัทฯ มีความมั่นใจว่า โครงการฯ จะแล้วเสร็จพร้อมจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด และจะช่วยให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมั่นคงสามารถตอบสนองภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในด้านเศรษฐกิจและการลงทุนด้วย” นายกิจจา กล่าว