วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 13:46 น.

เศรษฐกิจ

‘โคก หนอง นา โมเดล วิถีใหม่’ ตอบโจทย์ความอยู่รอดอย่างยั่งยืน

วันพฤหัสบดี ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 00.01 น.

‘โคก หนอง นา โมเดล วิถีใหม่’ ตอบโจทย์ความอยู่รอดอย่างยั่งยืน

 

‘โคก หนอง นา โมเดล วิถีใหม่’ ตอบโจทย์ความอยู่รอดอย่างยั่งยืนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงทวีความรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้ทุกชีวิตต่างต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ด้วยสภาวะเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตภายใต้ข้อจำกัด การกลับไปตั้งหลักชาร์จพลังกายและพลังใจที่บ้านเกิดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ตัวเอง โดยหันกลับมาใช้ชีวิตเรียบง่ายตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชน โดยมุ่งส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง อย่างยั่งยืนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง โดยวางแนวทางการนำ "โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 20 ปี มาต่อยอดกับปรัชญา "โคก หนอง นา โมเดล" เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่ 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันได้เปิดทำการไปแล้วถึง 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนภูมิพล จ.ตาก โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี และ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ อีกทั้งจะทยอยเปิดอีก 4 แห่ง ที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ให้แล้วเสร็จตามแผนครบจำนวน 10 แห่ง ภายในปี 2564

 

 

ศูนย์ศึกษาฯ ทั้ง 10 แห่ง นี้ มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานในรูปแบบที่เรียกว่า โคก หนอง นา โมเดล วิถีใหม่” ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ กับโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กฟผ. โดยเป็นการจัดสรรที่ดินเพื่อบริหารจัดการน้ำและพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อพึ่งพาตนเอง มุ่งเน้นการพัฒนาคนให้เปลี่ยนแนวความคิด จากการเกษตรที่พึ่งพาสารเคมีไปสู่การเกษตรอินทรีย์ ผ่านฐานการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการอย่างน้อย 9 ฐาน ได้แก่ คนเอาถ่าน คนรักษ์ป่า คนมีไฟ คนติดดิน คนรักษ์แม่ธรณี คนรักษ์แม่โพสพ คนมีน้ำยา คนรักษ์สุขภาพ และคนรักษ์น้ำ ซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้องค์รวมตามแบบของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อย่างไรก็ตาม แต่ละพื้นที่ย่อมมีความแตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ ศูนย์ศึกษาฯ แต่ละแห่ง ของ กฟผ. จึงมีการปรับเปลี่ยนฐานการเรียนรู้ได้ตามความเหมาะสม

 

 

ยกตัวอย่างให้เห็นการเชื่อมโยงกับความมั่นคง ‘อาหาร-น้ำ-พลังงาน’ ที่ศูนย์ศึกษาฯ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ในภาคเหนือ ซึ่งมี 9 ฐานการเรียนรู้ ด้านอาหาร จะมีถึง 4 ฐานด้วยกัน ได้แก่ ฐานคนรักษ์แม่โพสพ เรียนรู้การทำนาข้าวอินทรีย์ ฐานคนติดดิน เรียนรู้การทำชีววิถี ปลูกพืชผัก ฐานคนรักษ์ป่า เรียนรู้การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการปลูกไม้ 5 ระดับ ฐานคนรักษ์ แม่ธรณี เรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน ช่วยให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตดี ด้านน้ำ มี 2 ฐาน จะเป็นฐานคนรักษ์น้ำ เรียนรู้ศาสตร์ การจัดการและอนุรักษ์น้ำโดยหลักธรรมชาติ อาทิ โครงการฝนหลวง การขุดคลองไส้ไก่ เครื่องดักหมอก และการบำบัดน้ำเสีย ฐานคนมีน้ำยา เรียนรู้วิธีการทำน้ำยาอเนกประสงค์ใช้เองในครัวเรือน ในด้านพลังงาน มี 2 ฐาน นั่นคือ ฐานคนมีไฟ เรียนรู้การผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ฐานคนเอาถ่าน เรียนรู้การทำถ่านธรรมชาติและประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้ นอกจากนี้ ยังมีฐานคนรักษ์สุขภาพ ซึ่งแม้จะไม่เข้าข่ายในเรื่องอาหาร น้ำ และพลังงาน ได้อย่างชัดเจน แต่ก็เป็นฐานการเรียนรู้ให้ได้ทราบถึงวิธีการมีสุขภาพที่ดี ในแบบพอเพียง จะเห็นได้ว่าทุกฐานมีประโยชน์ต่อการดำรงดำรงชีวิตให้อยู่ดีมีความสุข

 

 

เมื่อผู้ที่มาอบรมได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากฐานการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการของศูนย์ศึกษาฯ และนำไปต่อยอดใช้จริงในพื้นที่ของตนเองแล้ว ประโยชน์ที่ตามมานอกจากจะมีความปลอดภัยในการนำผลผลิตทางการเกษตรไร้สารเคมีมาบริโภคแล้วนั้น ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และสิ่งสำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนในวิถีแห่งความพอเพียงที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

 

จุดเปลี่ยนของการพัฒนาวิถีชีวิตที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากนั่นก็คือเทคโนโลยี ทั้งเทคโนโลยีทำการเกษตร เช่น การสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้รถไถ การอาศัยการพยากรณ์อากาศจากดาวเทียมเพื่อดูสภาพดินฟ้าอากาศที่ช่วยเอื้อต่อการเพาะปลูก การปลูกพืชนอกฤดูกาล การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาไปสู่การเป็น Smart Agriculture หรือ Smart Farming เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเก็บข้อมูล ผ่านแพลตฟอร์มสำหรับจัดเก็บข้อมูลชุมชนในระดับครัวเรือน สำรวจโดยนักศึกษาจบใหม่ที่เข้าร่วมโครงการพลังงานร่วมใจ สร้างงาน พัฒนาชุมชน (New Jobber) กับกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. โดยแพลตฟอร์มนี้จะสามารถวิเคราะห์และประเมินได้ว่าในแต่ละชุมชนมีพื้นฐานเป็นอย่างไร มีความชำนาญการเกษตรด้านไหน กฟผ. ควรส่งเสริมหรือพัฒนาในเรื่องใดเป็นพิเศษ ชุมชนต้องแก้ปัญหาเรื่องอะไรและต้องแก้อย่างไร มีหน่วยงานพันธมิตร หรือเทคโนโลยีใดเข้ามาส่วนร่วมบ้าง ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น แพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับใช้วางแผนและบริหารจัดการงาน CSR ของ กฟผ. ในภาพรวมต่อไปอีกด้วย อาจกล่าวได้ว่า โคก หนอง นา โมเดล วิถีใหม่ เน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ จนถึงขั้นยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด

 

 

กฟผ. ร่วมส่งเสริมและสร้างภูมิคุ้มกันแก่สังคม ผ่านการส่งต่อองค์ความรู้ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ให้ชุมชนเรียนรู้และนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและทำให้เกิดผลสำเร็จจริงได้ สิ่งนี้เองยังช่วยรองรับความผันผวนไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่อาจเข้ามากระทบอย่างไม่คาดคิด ดังเช่นวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งการมองที่เงินและความมั่งคั่ง อาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่ตอบโจทย์ความอยู่รอด หากแต่เป็นการกินดีอยู่ดีของคนในวิถีแห่งความพอเพียง