วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 15:42 น.

เศรษฐกิจ

สภาเอสเอ็มอีเสนอรัฐจัดสรรวงเงิน Soft Loan 100,000 ล้าน ให้กลุ่มนอกระบบธนาคาร

วันพฤหัสบดี ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 10.26 น.

สภาเอสเอ็มอีเสนอรัฐจัดสรรวงเงิน Soft Loan 100,000 ล้านบาท ให้กลุ่ม SMEs นอกระบบธนาคาร ที่มีการจ้างงาน ช่วยผู้ประกอบการ 150,000 ราย รักษาการจ้างงาน 1.5 ล้านราย เป็นการเร่งด่วน

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม 2564 นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) เสนอแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่ไม่ใช่ระบบธนาคารปกติ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ระยะเวลา 10 ปี โดยรัฐเข้ามาช่วยค้ำประกันวงเงินและอุดหนุนค่าดอกเบี้ยบางส่วน เพื่อประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงานเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นจนรัฐบาลต้องออกประกาศล็อกดาวน์ 13 จังหวัด ในพื้นที่สีแดงเข้ม (ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป) และคาดว่าประเทศไทยน่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งเป็นการยากต่อการประคับประคองธุรกิจ SMEs ให้อยู่รอดและรักษาการจ้างงานต่อไป อีกทั้งต้องมีการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่ง SMEs โดยปกติแล้วจะเป็นธุรกิจที่มีเงินทุนไม่มาก (สายป่านสั้น) หากได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ของรัฐก็จะทำให้การประกอบธุรกิจมีปัญหาทันทีหากไม่มีการเตรียมการที่ดีไว้ล่วงหน้า

ทั้งนี้การให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินการธนาคารของรัฐในปัจจุบัน เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านระบบธนาคาร (ระบบปกติในปัจจุบัน) ซึ่งมีผู้เข้าถึงบริการนี้ได้เพียง 468,000 ราย จากจำนวนสถานประกอบการกว่า 3 ล้านราย ทั้งนี้ ข้อมูลการอนุมัติสินเชื่อ Soft Loan ของแบ็งค์ชาติ ที่มีวงเงิน 500,000 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อออกไปได้ 138,200 ล้านบาท ให้กับผู้ที่ได้รับอนุมัติ 77,787 ราย เท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2564) ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูของแบ็งค์ชาติ ได้อนุมัติวงเงินไป 72,392 ล้านบาท ให้กับผู้ขอสินเชื่อจำนวน 23,687 ราย ซึ่งหากรวมจำนวนและวงเงินของทั้ง 2 โครงการ พบว่า มีผู้ได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อประมาณ 100,000 ราย ด้วยวงเงินสินเชื่อรวม 210,000 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีผู้ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมากเกือบ 3 ล้านราย

นอกจากนี้สภาเอสเอ็มอี ยังได้นำเสนอแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต่อทางรัฐบาลด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบธนาคาร “100,000 ล้านบาท ถึง SMEs 150,000 ราย รักษาการจ้างงาน 1,500,000 อัตรา” โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไข ดังนี้โดยเงื่อนไข

1.รัฐจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ไม่เกินร้อยละ 5) วงเงินโครงการ 100,000 ล้านบาท
2.ระยะเวลาโครงการ 10 ปี
3.รัฐสนับสนุนดอกเบี้ย 50% ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ
4.รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันวงเงินให้ SMEs 100% โดยงดเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกันตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ
5.ปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารรัฐ และสถาบันการเงิน เงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ
6.ไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้สินเชื่อ
คุณสมบัติผู้สมัคร
1.เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีทะเบียนการค้า / บริษัทจำกัด / ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่ยังประกอบธุรกิจอยู่  ณ วันที่ยื่นขอ
2.มีการจ้างแรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม (เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาวงเงินสินเชื่อ) โดยจำกัดวงเงินตามปริมาณการจ้างงาน
2.1.วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับ SMEs ที่มีการจ้างแรงงาน 5-10 คน
2.2.วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1,000,000 บาท สำหรับ SMEs ที่มีการจ้างแรงงานมากกว่า 10 คน
3.หากมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน พิจารณาวงเงินเพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 2 เท่า

หากรัฐเร่งผลักดันโครงการนี้ออกมา คาดว่าจะมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกว่า 150,000 ราย รักษาการจ้างงานได้กว่า 1,500,000 คน (ครอบครัว) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐมีข้อมูลอยู่แล้วในระบบประกันสังคมที่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบธนาคารปกติได้ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000,000 ล้านบาทต่อปี