วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 08:01 น.

เศรษฐกิจ

เอ็กโก กรุ๊ป พร้อมผู้จัดหา-นำเข้าแอลเอ็นจี

วันพฤหัสบดี ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 13.00 น.
เอ็กโก กรุ๊ป พร้อมผู้จัดหา-นำเข้าแอลเอ็นจี
 
เอ็กโก กรุ๊ป พร้อมก้าวสู่บทบาทใหม่ “ผู้จัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจี” มุ่งบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าในกลุ่ม
 
 
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป พร้อมก้าวสู่บทบาทใหม่ในฐานะ “ผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ” โดยแจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขอปรับแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ล็อตแรกปลายปี 2564 และวางแผนจะนำเข้าอย่างเต็มรูปแบบในไตรมาสที่ 3  ปี 2565 เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับ 3 โรงไฟฟ้าในกลุ่มเอ็กโก ได้แก่ โรงไฟฟ้าบ้านโป่ง โรงไฟฟ้าคลองหลวง และโรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจน ที่จะทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ในการบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าและต่อยอดโอกาสการลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงในอนาคต
 
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า “เอ็กโก กรุ๊ป พร้อมก้าวสู่บทบาทใหม่ในฐานะผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ภายหลังที่ กกพ. มีมติเห็นชอบการออกใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper License) ในปริมาณการจัดหาและค้าส่งแอลเอ็นจีสูงสุด 200,380 ตันต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อนำเข้าแอลเอ็นจีมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าเอสพีพีในกลุ่มเอ็กโกทั้ง 3 แห่ง โดยล่าสุดเอ็กโก กรุ๊ป แจ้งความประสงค์ต่อ กกพ. ขอปรับแผนนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตแรกปลายปี 2564 ซึ่งการดำเนินการจริงจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกพ. พร้อมกันนี้ ได้วางแผนจะนำเข้าแอลเอ็นจีอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 เป็นต้นไป ด้านแหล่งก๊าซที่จะนำเข้ามาใช้งานยังอยู่ระหว่างเจรจา เบื้องต้นคาดว่าจะนำเข้าจากแหล่งก๊าซในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา”
 
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กำลังผลิตติดตั้งรวม 256 เมกะวัตต์ ใช้ปริมาณแอลเอ็นจี 54,000 ตันต่อปี โรงไฟฟ้าคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี กำลังผลิตติดตั้งรวม 122 เมกะวัตต์ ใช้ปริมาณแอลเอ็นจี 27,000 ตันต่อปี และโรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจน จังหวัดระยอง ที่จะทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม (SPP Replacement) ซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะสิ้นสุดในปี 2567 กำลังผลิตติดตั้งระหว่าง 100-120 เมกะวัตต์ ใช้ปริมาณแอลเอ็นจี 119,000 ตันต่อปี 
 
“บทบาทใหม่ของเอ็กโก กรุ๊ป ในฐานะผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ นอกจากจะส่งผลดีต่อธุรกิจหลักในด้านของการเพิ่มความสามารถในการบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งดังกล่าวแล้ว ยังเปิดโอกาสในการขยายการลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงในอนาคตด้วย” นายเทพรัตน์ กล่าว