วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 08:34 น.

เศรษฐกิจ

กทท.เปิดผลดำเนินงาน 9ด.ตู้สินค้าขยายตัวสูงต่อเนื่อง

วันพุธ ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2564, 11.20 น.

กทท.เปิดผลดำเนินงาน 9ด.ตู้สินค้าขยายตัวสูงต่อเนื่อง

 

 เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในการให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.)ในช่วงระยะเวลา 9 เดือน ประจำปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 – มิถุนายน 2564) โดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สรุปดังนี้

       ทกท. เรือเทียบท่า 3,020 เที่ยว เพิ่มขึ้น 3.17% สินค้าผ่านท่า 16.199 ล้านตัน ลดลง 0.07% ตู้สินค้าผ่านท่า 1.098 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 1.43%

       ทลฉ. เรือเทียบท่า 7,167 เที่ยว ลดลง 6.26% สินค้าผ่านท่า 66.812 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.26% ตู้สินค้าผ่านท่า 6.204 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 6.94%

       ทชส. เรือเทียบท่า 1,777 เที่ยว ลดลง 16.29% สินค้าผ่านท่า 76,230 ตัน ลดลง 45.09% ตู้สินค้าผ่านท่า 4,269 ที.อี.ยู. ลดลง 36.49%

        ทชข. เรือเทียบท่า 4 เที่ยว ลดลง 97.24% สินค้าผ่านท่า 24 ตัน ลดลง 99.06%

         ทรน.เรือเทียบท่า 183 เที่ยว ลดลง 7.10% สินค้าผ่านท่า 94,707 ตัน เพิ่มขึ้น 20.17% ตู้สินค้าผ่านท่า 3,044 ตู้ เพิ่มขึ้น 18.26%

 

ผลการดำเนินงานของ กทท. ในรอบ 9 เดือน (ตุลาคม 2563 – มิถุนายน 2564) มีเรือเทียบท่าที่ ทกท. และ ทลฉ. รวม 10,187 เที่ยว ลดลง 3.65% สินค้าผ่านท่า 83.011 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.79% และตู้สินค้าผ่านท่า 7.301 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 6.079% คิดเป็นกำไรสุทธิ 4,849 ล้านบาท กล่าวโดยสรุป คือ ผลการดำเนินงานของ กทท. มีทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะด้านการดำเนินงานให้บริการสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่ามีอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาในขณะที่การให้บริการเที่ยวเรือลดลง เป็นผลมาจากขนาดเรือที่เข้าเทียบท่ามีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีการขนตู้สินค้าต่อลำเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การเติบโตของตู้สินค้าผ่านท่าที่ปรับตัวดีขึ้นเกิดจากอัตราการส่งออกของไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักสำคัญของไทยที่เริ่มฟื้นตัว ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้การจ้างงานเติบโตอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสหภาพยุโรปส่งผลให้ภาคงานบริการฟื้นตัวมากขึ้น