วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 04:26 น.

เศรษฐกิจ

พลังแห่งการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนแม่เมาะ สู่ 5 รางวัล ASEAN Coal Awards 2021

วันศุกร์ ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564, 00.01 น.

พลังแห่งการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนแม่เมาะ สู่ 5 รางวัล ASEAN Coal Awards 2021

 

อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เนื่องจากมีเหมืองถ่านหินลิกไนต์สำหรับผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งช่วยรักษาสมดุลทั้งความหลากหลายของเชื้อเพลิงและต้นทุนค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่เป้าหมายของการขับเคลื่อนสู่ “แม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City)” เพื่อเป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศด้วยนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยกุญแจสำคัญของการขับเคลื่อนดังกล่าวคือ การผสานความร่วมมือจากทั้งพลังชุมชนที่เข้มแข็ง หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่แม่เมาะ 

ปัจจุบันแม่เมาะกลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับและเสียงชื่นชมทั้งในระดับประเทศและระดับสากลจากความพยายามในการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาจากบทเรียนในอดีตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับชุมชน อันนำมาสู่การพัฒนาพลิกโฉมแม่เมาะจนกลายเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี จนสามารถคว้ารางวัล ASEAN Coal Awards 2021 มาได้ถึง 5 รางวัล 

 

จากรางวัล Green CSR เดินหน้าสู่เมืองน่าอยู่ด้วยพลังแห่งความร่วมมือ

 

กฟผ.แม่เมาะ และชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ เปรียบเสมือนเพื่อนสนิทที่พึ่งพาซึ่งกันและกันมานานกว่า 42 ปี ด้วยหลักคิดที่มองสังคมและชุมชนเป็นตัวตั้ง มุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมและคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ เพื่อจับมือเดินหน้าสู่เป้าหมายแม่เมาะเมืองน่าอยู่ไปด้วยกัน ทำให้ไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ASEAN Coal Awards 2021 ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ได้ถึง 4 ปีซ้อน โดยในปีนี้ได้รับรางวัลจากผลงาน “Green CSR” ของ กฟผ. เหมืองแม่เมาะ

 

 

การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาแม่เมาะที่เกิดจากความต้องการของชุมชน ซึ่ง กฟผ. แม่เมาะ ได้ร่วมพลิกฟื้นพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้กลายเป็นพื้นที่ป่าโดยรอบเกือบ 12,000 ไร่ และทุ่งดอกบัวตองขนาดใหญ่ที่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลำปาง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น ควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพให้กับวิสาหกิจชุมชนโดยนำวัตถุพลอยได้จากการทำเหมืองและผลิตไฟฟ้า อาทิ สารปรับปรุงดินจากฮิวมัสล้านปีซึ่งมีแร่ธาตุสูงอยู่ในดินก่อนถึงชั้นถ่านหิน บล็อกประสานจากเถ้าหนักโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองและพัฒนาไปสู่วิสาหกิจเพื่อสังคมในอนาคต รวมถึงการนำความรู้ด้านนวัตกรรมมาพัฒนาแอปพลิเคชัน “Lampang Hotspot” ทำงานร่วมเพื่อให้ชุมชนทราบสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในจังหวัดลำปาง และร่วมกันหาแนวทางรับมือในระยะยาวอย่างยั่งยืน

 

 

 

รางวัลแห่งความมุ่งมั่น...พัฒนาเทคโนโลยีสะอาดขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน

 

ทุกกระบวนการในเหมืองและโรงไฟฟ้าของ กฟผ. แม่เมาะ ยิ่งให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ส่งผลให้ไทยมีผลการดำเนินงานด้านถ่านหินเป็นเลิศในภูมิภาคอาเซียน คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวด ASEAN Coal Awards 2021 ประเภทการทำเหมืองถ่านหินแบบเปิดจากผลงานการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนของ กฟผ. เหมืองแม่เมาะ และประเภทการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จากผลงานนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

 

สำหรับการดำเนินงานขุดดิน ขนถ่านหินของเหมืองแม่เมาะล้วนมีมาตรการควบคุมผลกระทบอย่างเคร่งครัดทั้งฝุ่น กลิ่น เสียง การสั่นสะเทือน คุณภาพน้ำ รวมถึงการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ 

 

“เป็นสิ่งดีที่ชุมชนได้มีส่วนร่วมตรวจติดตามด้านสิ่งแวดล้อมและรับทราบถึงการดำเนินงานในบ่อเหมืองแม่เมาะ เพราะเมื่อพบปัญหาเราสามารถเสนอแนะให้แก้ไขได้ทันที ที่ผ่านมาชุมชนได้รับการสนับสนุนและปัญหาก็ได้รับการปรับแก้เป็นอย่างดี” นายมาย ปักราช ประธานสภา อบต.บ้านดง หนึ่งในผู้แทนชุมชนที่เข้าร่วมตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมเหมืองแม่เมาะกล่าว

 

 

คณะกรรมการการมีส่วนร่วมดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมตำบลบ้านดงร่วมตรวจสิ่งแวดล้อมในพื้นที่บ่อเหมืองแม่เมาะ

 

 

ส่วนกระบวนการการผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้เลือกใช้เทคโนโลยีสะอาดประสิทธิภาพสูงเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ เทคโนโลยีอัลตร้าซูปเปอร์คริติคอล (Ultra Supercritical) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ควบคุมมลสารได้ดีขึ้น การติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) เครื่องกำจัดฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิต (ESP) รวมถึงเครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ส่งผลให้คุณภาพอากาศรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะอยู่ในเกณฑ์ดีกว่ามาตรฐานที่ประเทศไทยกำหนดและดีกว่าค่าแนะนำที่องค์การอนามัยโลกกำหนด 

 

 

รางวัลนวัตกรรม...คิดและทำเพื่อคนไทยทุกคน

 

กฟผ. ยังเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมด้านถ่านหินอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมศักยภาพการผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการประกวด ASEAN Coal Awards 2021 กฟผ. จึงได้รับรางวัลประเภทนวัตกรรมถ่านหินมาถึง 2 รางวัล คือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากผลงานแบบจำลองยีออยด์ MAEMOH2019 ของ กฟผ. เหมืองแม่เมาะ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากผลงานการปรับปรุงกระบวนการลำเลียงวัตถุพลอยได้ด้วยสายพานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

 

สำหรับแบบจำลองยีออยด์ท้องถิ่นเหมืองแม่เมาะ (Geoid Model MAEMOH2019) คือ การปรับปรุงความถูกต้องของค่าพิกัดทางดิ่งจากการรังวัดดาวเทียม เพื่อนำไปใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีสำรวจที่ทันสมัยในการดำเนินงานของเหมืองแทนวิธีดั้งเดิม ทั้งการหาปริมาตรการขุด ขนดินและถ่านหินได้อย่างถูกต้องแม่นยำ การตรวจสอบความเคลื่อนตัวของผนังบ่อเหมืองและพื้นที่ทิ้งดิน การกำหนดตำแหน่งในการติดตั้งเครื่องจักร เครื่องโม่และสายพาน การสำรวจทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศด้วยอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งแบบจำลองยีออยด์ MAEMOH2019 สามารถใช้งานได้ครอบคลุมทั้งเหมืองแม่เมาะและพื้นที่โดยรอบในรัศมีประมาณ 10 กิโลเมตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

ส่วนผลงานการปรับปรุงกระบวนการลำเลียงวัตถุพลอยได้ด้วยสายพานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยการปรับปรุงการเลื่อนของสายพาน ปรับจุดศูนย์ถ่วงของสายพานลำเลียงถ่านหิน ติดตั้งลูกกลิ้งประคองสายพาน (Guide Roller) และควบคุมปริมาณในการขนถ่าย ทำให้ไม่ต้องปรับปรุงโครงสร้างสายพานทั้งระบบ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 1,100 เท่า อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองและการร่วงหล่นตามแนวสายพานอีกด้วย

 

 

รางวัล ASEAN Coal Awards 2021 ทั้ง 5 รางวัล ไม่เพียงสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการดำเนินการโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติเท่านั้น แต่ยังเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความทุ่มเทของทุกภาคส่วนในอำเภอแม่เมาะที่รวมพลังกันช่วยขับเคลื่อนพัฒนาแม่เมาะเพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายแม่เมาะเมืองน่าอยู่ด้วยระบบอัจฉริยะทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน และเศรษฐกิจต่อไป