วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 18:03 น.

เศรษฐกิจ

ดรีมทีมคณะกรรมการลุ่มน้ำครบเครื่องเรื่องบริหาร 22 ลุ่มน้ำ

วันเสาร์ ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 16.53 น.

ดรีมทีมคณะกรรมการลุ่มน้ำครบเครื่องเรื่องบริหาร 22 ลุ่มน้ำ

 

 

พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มีองค์กรขับเคลื่อนเรื่องน้ำหลักๆ อยู่ 2 ส่วนองค์กรสูงสุดระดับนโยบาย ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 

 

ในพื้นที่ระดับลุ่มน้ำ มีคณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 คณะ  มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่เลือกกันเองภายในพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนองค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนโดยตำแหน่ง เป็นต้น คณะข้างต้น จะมีตัวแทนจาก สทนช. นั่งเป็นกรรมการและเลขานุการ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของ สทนช. ในฐานะหน่วยงานกลาง ประสาน บูรณาการ และขับเคลื่อนเรื่องน้ำอย่างชัดเจน

 

โครงสร้างนี้ จะเพิ่มบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 

เพราะโดยกฎหมาย กำหนดบทบาท หน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการลุ่มน้ำในการบริหารจัดการน้ำในเขตลุ่มน้ำ  จัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง ภาวะน้ำท่วม เสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ

 

พิจารณาการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ และจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำ ควบคุมการใช้น้ำตามกรอบหลักเกณฑ์ที่ กนช. กำหนด เสนอและให้ความเห็นต่อ กนช. เกี่ยวกับแผนงานและโครงการ

 

    แต่หน่วยงานที่จะมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการลุ่มน้ำ ย่อมหนีไม่พ้น สทนช. ที่มี สทนช. ภาคเป็นเลขานุการ

    ฝ่ายเลขานุการ จะทำหน้าที่ตั้งเรื่องหรือชงเรื่อง ตรงนี้ สทนช. ภาค ซึ่งมีด้วยกัน 4 ภาค จึงต้องเข้มแข็งถึงจะมีพลังในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำ

    ภาพของคณะกรรมการลุ่มน้ำดูจะใหญ่โตกว้างขวางตามพื้นที่ลุ่มน้ำ 22 แห่งทั่วประเทศ พื้นที่ดูแลจึงกว้างขวางตามขอบเขตของลุ่มน้ำ ซึ่งมีมากกว่าแค่พื้นที่ปกครอง  มักครอบคลุมหลายจังหวัด

    จริงๆ แล้ว  คณะกรรมการลุ่มน้ำยังมีตัวช่วย ได้แก่ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ซึ่งมีทุกจังหวัดครอบคลุม 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเป็นองค์กรที่ สทนช. ผลักดันมาแต่ต้น

 

    อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ถือเป็นหน่วยเล็กสุดในระดับจังหวัด ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและ สทนช. ภาคเป็นกรรมการและเลขานุการร่วม

 

    เป็นบทบาทของ สทนช. เช่นกัน แต่แยกย่อยลงมาเป็นรายจังหวัด รู้สภาพปัญหาในพื้นที่ได้ดีกว่าคณะกรรมการลุ่มน้ำ 

 

    จึงขึ้นอยู่กับ สทนช. จะเลือกใช้อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดเป็นตัวช่วยหรือไม่  ถ้าใช้ก็เป็นข้อดีตรงที่มีความรู้เรื่องน้ำในพื้นที่ละเอียดกว่า และเปิดช่องให้จังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมอีกด้วย น่าจะเป็นผลดีมากกว่าคณะกรรมการลุ่มน้ำไม่ต้องแบกรับเรื่องการบริหารจัดการน้ำไว้เพียงหน่วยเดียว ในขณะที่ขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำกว้างขวางมาก แต่ติดปัญหาตรงที่บุคลากรของ สทนช.ภาคมีจำกัดที่จะกระจายคนลงไปรับผิดชอบในแต่ละจังหวัดนั้นจึงแทบจะเป็นไปได้ยาก ซึ่งทางออกหนึ่ง คือ การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศด้านน้ำเพื่อให้บุคลากรของจังหวัดสามารถใช้งานได้ง่าย

  

  แต่ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร โดยโครงสร้าง โดยบทบาทการเป็นหน่วยงานกลางด้านทรัพยากรน้ำ  สทนช. คือหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ และมีส่วนสำคัญต่อบทบาทของคณะกรรมการลุ่มน้ำด้วยโดยปริยาย

 

    โครงสร้างของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ  นอกจากกรรมการโดยตำแหน่งแล้ว จะมีกระบวนการคัดเลือกตามกฏหมาย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ

 

    สทนช. จัดให้มีการคัดเลือกคณะกรรมการลุ่มน้ำเสร็จสิ้นทั้ง 22 คณะไปแล้ว 

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมมอบนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำ และการอบรม “คณะกรรมการลุ่มน้ำและเครื่องมือขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้องทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 คณะ และหน่วยงานท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมมากกว่า 1,200 คน

 

ท่ามกลางความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดผลกระทบด้านน้ำอย่างรุนแรง ไม่ว่าน้ำแล้งหรือน้ำหลาก  บทบาทของคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 คณะ จึงเป็นที่จับตาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ตามมาด้วยฝนตกหนักในภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพฯ เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมหลายจังหวัดชิมลาง

 

แต่นี้ต่อไป โจทย์ในการบริหารจัดการน้ำ อยู่ในมือคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 คณะโดยสมบูรณ์ ทั้งบทบาท หน้าที่ และอำนาจ  น่าจะเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา

โปรดให้กำลังใจและอดใจรอชม