วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 06:48 น.

เศรษฐกิจ

แรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ลุกฮือค้านควบรวมทรู-ดีแทคผูกขาดถาวร

วันพฤหัสบดี ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 17.21 น.

เครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ลุกฮือ ค้านควบรวมทรู-ดีแทคผูกขาดถาวร ชี้รัฐสูญรายได้ 8,800 ล้านบาทต่อปี หวั่นถึงจุดจบ NT ดึงสติ กสทช. ตัดสินยุติควบรวมเพื่อประโยชน์ชาติ

เครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ประกอบด้วย กลุ่มผู้นำแรงงานบริษัท NT , กลุ่มพลังรักษ์องค์กรทีโอที , ชมรมศิษย์เก่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย , ชมรมศิษย์เก่า กสท. และ ประธานดำเนินการจัดตั้ง , เลขาธิการ , ที่ปรึกษา , กรรมการสหภาพแรงงาน NT ได้ออกแถลงการณ์ “คัดค้านการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคเป็นการผูกขาดตลาดการแข่งขันโทรคมนาคม” เพื่อให้สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยับยั้งดีลควบรวมที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมเดินทางยื่นหนังสือถึง กสทช.ให้ยุติการควบรวมครั้งนี้

นายประสาน จ่างูเหลือม ประธานกลุ่มผู้นำแรงงาน บริษัท NT ตัวแทนเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT กล่าวว่า การควบรวมกิจการระหว่าง ทรูและดีแทค มีผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบกิจการของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และมีผลกระทบต่อตลาดแข่งขันเสรีในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศ ซึ่งการควบรวมกิจการทั้งสองบริษัทฯ ส่งผลให้ตลาดธุรกิจสื่อสารมีสภาพกึ่งผูกขาดเพราะไม่หลงเหลือแรงจูงใจให้แข่งขันในธุรกิจอีกต่อไป ทั้งนี้ รัฐ และ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) จะได้รับผลกระทบจากควบรวม ดังนี้

1.สูญเสียรายได้เงินปันผลจาก NT ที่ถือหุ้นดีแทค ราว 200 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากการบริหารงานของทรูกับดีแทคมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเมื่อเทียบผลประกอบการ 5 ปี ย้อนหลังดีแทคมีกำไรเฉลี่ย 5,000 ล้านบาทต่อปี แต่ทรูบริหารงานแบบไม่มีกำไร และมีงบการเงินที่ติดลบมาโดยตลอด ซึ่งคาดว่าเมื่อเกิดการควบรวมแล้ว การบริหารงานของทรู จะส่งผลกระทบให้ผู้ถือหุ้นไม่มีเงินปันผลเหมือนที่เคยถือหุ้นดีแทคอีกต่อไป และหากนับย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา ดีแทคให้เงินปันผล NT แล้วมากกว่า 1,200 ล้านบาท

2.สูญเสียรายได้ค่าเช่าเสาจากดีแทคราว 1,900 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากทรูมีกองทุน Infra Fund ซึ่งมีเสาที่ให้บริการโทรคมนาคมจำนวนมาก จึงไม่จำเป็นต้องเช่าใช้เสาของ NT ต่อไป

3.สูญเสียรายได้จากการลดปริมาณการโรมมิ่งของดีแทคในโครงข่าย 2300 MHz ราว 4,500 ล้านบาทต่อปี หากเมื่อควบรวมธุรกิจกันแล้วเสร็จ จำนวนคลื่นที่สามารถนำมาให้บริการของทั้ง ทรูและดีแทค จะมีจำนวนมากเพียงพอในการให้บริการลูกค้าตนเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศกับ NT ซึ่งคาดว่า ดีแทคจะลดปริมาณการโรมมิ่ง หรืออาจถึงขั้นยุติการโรมมิ่งในโครงข่าย 2300 MHz ของ NT ทำให้ NT สูญเสียรายได้จากการให้บริการจากสัญญาดีแทค 4,500 ล้านบาทต่อปี

4.สูญเสียรายได้จากการลดปริมาณการซื้อความจุโครงข่าย 850 MHz ของเรียลมูฟ (บริษัทในเครือทรู) ราว 2,200 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากทรูและดีแทคจะมีคลื่นจำนวนมากเพียงพอในการให้บริการลูกค้าตนเองได้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความจุโครงข่าย 850 MHz ของ NT อีกต่อไป

นอกจากนั้น การควบรวมกันครั้งนี้จะเกิดผลกระทบต่อภาคประชาชนและสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ ดังนี้

1.เมื่อสภาพตลาดไม่มีการแข่งขันเนื่องจากเหลือผู้เล่นน้อยรายจะทำให้ไม่อาจใช้กลไกทางการตลาดเป็นตัวบริหารจัดการผู้เล่นในตลาดได้ ค่าบริการอาจมีค่าสูงขึ้นและคุณภาพของการให้บริการจะแย่ลง ไม่มีการแข่งขันด้านราคาหรือปรับปรุงคุณภาพการให้บริการให้ดีอยู่เสมอเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ ไม่ให้ย้ายค่าย

2.ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 40 การผูกขาดที่ไม่เป็นธรรม และ มาตรา 75 การคุ้มครองผู้บริโภค

3.การควบรวมกิจการขัดต่อเจตนารมณ์ของประกาศคณะกรรมการโทรคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ที่สำคัญคือ ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเกณฑ์ “เชิงปริมาณ” ในการวัด “ระดับการครอบงำตลาด” อย่างชัดเจนโดยการพิจารณาจากค่าดัชนีการกระจุกตัว HHI

4.การควบรวมกิจการระหว่าง ทรูและดีแทค ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค ที่ผลการศึกษาเบื้องต้นของสำนักงาน กสทช. เอง ระบุว่าจะทำให้ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น GDP ของประเทศลดลง ในทางกลับกัน การควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค ดูจะเป็นประโยชน์แต่ตัวบริษัทมากกว่า โดยทรูจะกลายเป็นผู้เล่นในตลาดที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด และมีอำนาจครอบงำตลาดได้จากข้อได้เปรียบที่มีธุรกิจในเครือเดียวกัน เช่น  ค้าปลีก ค้าส่ง ให้การสนับสนุน

5.ในอดีตรัฐได้ปรับเปลี่ยนจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มาเป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อลดการผูกขาดการให้บริการโดยรัฐแต่เพียงผู้เดียวและสร้างตลาดแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภค ที่จะใช้บริการที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นแต่ในราคาค่าบริการที่ถูกลง เนื่องจากกลไกการตลาดแข่งขันเสรีจะช่วยทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ แต่การควบรวมกิจการครั้งนี้ส่งผลให้ตลาดกึ่งผูกขาด ซึ่งส่งผลให้มีการพยายามสร้างอำนาจผูกขาดกลับคืนมา

ตัวแทนเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ย้ำว่า “อยากให้ สำนักงาน กสทช.พิจารณาการควบรวมครั้งนี้ อย่างตรงไปตรงมา มองถึงประโยชน์ของผู้บริโภคและประเทศชาติเป็นที่ตั้งสำคัญ เนื่องจากหากดีลนี้เกิดขึ้นจริง คงต้องเรียกว่า ถึงจุดจบของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และถึงจุดจบการแข่งขันอย่างเสรีของโทรคมนาคมไทยอย่างแน่นอน ที่สำคัญเหนืออื่นใด หาก NT ต้องล้มหายตายจากไปอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแล้ว การให้บริการโทรคมนาคมทั้งหมดในประเทศไทยก็จะดำเนินการโดยภาคเอกชนแต่เพียงผู้เดียว ก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในระบบโทรคมนาคมของประเทศในส่วนของภาครัฐ ตลอดจนการดำเนินการตามแนวนโยบายต่างๆ ที่ต้องอาศัยระบบโทรคมนาคมเป็นเครื่องผลักดัน”

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า จากนั้น กลุ่มตัวแทนเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT ได้เดินทางไปยัง สำนักงาน กสทช. เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการควบรวมทรูและดีแทค ถึงประธาน กสทช. โดยมีนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม เป็นผู้แทนรับมอบเอกสารในครั้งนี้