วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 12:05 น.

เศรษฐกิจ

เจ้าท่าเดินหน้าแผนบูรณาการ ยุทธศาสตร์ 20 ปี

วันศุกร์ ที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 18.49 น.
เจ้าท่าเดินหน้าแผนบูรณาการ ยุทธศาสตร์ 20 ปี
 
         
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า (จท.) ครบรอบ 163 ปี พร้อมทั้งเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ จท. เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ และเตรียมความพร้อมมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในโอกาสที่ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
         
ทั้งนี้ ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการคมนาคมทุกมิติ โดยได้มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางน้ำ ด้วยการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุดที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ (Land brige) ชุมพร - ระนอง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่ง จท. จะต้องเร่งศึกษา พัฒนา และปรับปรุงระเบียบข้อกฎหมายต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมและทันสมัย รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ เพื่อปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จท. ได้ปรับปรุงและพัฒนาหน่วยงาน รวมทั้งพัฒนาภารกิจมาอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล มุ่งสู่ “MD NEXT 2023” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับความสะดวก ทั่วถึง และปลอดภัย อาทิ การพัฒนาศักยภาพการขนส่งทางน้ำ การพัฒนามาตรการความปลอดภัยของการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวี การพัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ การพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา และการผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวีให้มีคุณภาพ
 
           
อย่างไรก็ตาม ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ ภายใต้โครงการระบบตรวจการณ์ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างและอันดามัน (VTS 3) เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย การตรวจตรา ดูแล และติดตามเส้นทางการเดินเรือทั้งในและต่างประเทศ ป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในทะเล และเป็นศูนย์กลางในการประสานระบบสื่อสารทางทะเล พร้อมบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการขนส่งทางน้ำเพื่อประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งช่วยสนับสนุนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มศักยภาพเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือ เชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศไทยและสนับสนุนการพัฒนาประเทศ สอดคล้องตามอนุสัญญาความตกลงระหว่างประเทศ  ที่ประเทศไทยให้สัตยาบันเป็นภาคีในอนุสัญญาต่าง ๆ กับองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) โดยมีสถานีลูกข่ายในชายฝั่งอ่าวไทย 12 สถานี สถานีลูกข่ายในชายฝั่งอันดามัน 11 สถานี และศูนย์ปฏิบัติการระบบตรวจการณ์ 2 แห่ง เมื่อเชื่อมโยงกับระบบตรวจการณ์เดิมในระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เฉพาะอ่าวไทยตอนบน และมีสถานีลูกข่าย 10 สถานี จะทำให้มีสถานีลูกข่ายตรวจการณ์เป้าในทะเลของประเทศ รวมทั้งสิ้น 33 สถานี และศูนย์ปฏิบัติการฯ รวม 3 แห่ง รวมทั้งสร้างโอกาสในการแข่งขันของประเทศ
         
โดยในปี 2566 ประเทศไทยจะเข้ารับการตรวจการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยให้สัตยาบันไว้กับ IMO ซึ่งความพร้อมในระบบต่าง ๆ ของศูนย์ปฏิบัติการฯ จะแสดงให้ผู้ตรวจสอบได้เห็นว่า ประเทศไทยได้นำระบบมาใช้กำกับ ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติของเรือ ท่าเรือ และการตรวจสอบมาตรฐานคนประจำเรืออย่างต่อเนื่อง ตามมาตรฐาน IMO และในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก