วันพุธ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:22 น.

เศรษฐกิจ

โอกาสธุรกิจ!“พาณิชย์” สำรวจตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงล่าสุด อเมริกาโตต่อเนื่อง

วันเสาร์ ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566, 13.47 น.

โอกาสธุรกิจ!“พาณิชย์” สำรวจตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงล่าสุด อเมริกาโตต่อเนื่อง ไต้หวันเตรียมผ่อนคลายกฎระเบียบ ผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไทยรุกทำเงิน 

วันที่ 22 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจากการติดตามสถานการณ์การค้าในต่างประเทศ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นั้น ล่าสุดได้รับรายงานถึงสถานการณ์ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในต่างประเทศจากนางสุปรารถนา กมลเวชช  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ทูตพาณิชย์ รายงานว่า ปัจจุบันชาวอเมริกันมีจำนวน 86.9 ล้านครัวเรือน ซึ่งได้มีการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอย่างน้อยหนึ่งชนิด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในสหรัฐฯ โดยปี 2565 ชาวอเมริกันมีค่าใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.7 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.68 และชาวอเมริกันยังมีความต้องการซื้อสินค้าอาหารและของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นมูลค่าสูงเนื่องจากกระแสการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงแบบมนุษย์ (Pet Humanization)  โดยปัจจุบันตลาดสินค้าอาหารและของใช้สัตว์เลี้ยงสหรัฐฯ มีมูลค่า 7.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.66 ล้านล้านบาท) มีแนวโน้มขยายตัวเป็น 9.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.25 ล้านล้านบาท) ในปี 2571 หรือขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหารสุนัขและแมวมากที่สุดในสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 40.43 ยังเป็นโอกาสในการสนับสนุนการส่งออกสินค้าอาหารและขนมสัตว์เลี้ยง ของใช้สัตว์เลี้ยง รวมถึงการส่งออกสัตว์เลี้ยงไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ในอนาคต

นอกจากนี้ล่าสุดนางสาวกัลยา ลีวงศ์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ซึ่งประจำการอยู่ ณ เมืองไทเป ไต้หวัน ได้รายงานว่าคณะกรรมการการเกษตรของไต้หวัน (Council of Agriculture) เตรียมผ่อนคลายกฎระเบียบการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยง (Quarantine Requirements for the Importation of Dog and Cat food) ซึ่งจะลดขอบเขตสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง จำพวกอาหารสุนัขและแมวจากประเทศสมาชิกของ WTO ที่ต้องควบคุมหรือจัดระเบียบนำเข้า โดยจะผ่อนปรนให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากเนื้อสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อนสูง เช่น อาหารกระป๋อง หรืออาหารแห้งอัดเป็นเม็ด ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในรูปเม็ดหรือแคปซูล ที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมจากโรงงาน ไม่เป็นสินค้าที่ต้องควบคุมอีกต่อไป ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมจากเนื้อสัตว์ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูงและบรรจุในบรรจุภัณฑ์มิดชิดไปไต้หวันโดยไม่มีข้อจำกัด แต่การส่งออกสินค้าอาหารสัตว์ที่ผลิตจากเนื้อสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธีผลิตด้วยอุณหภูมิต่ำยังคงต้องดำเนินขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง เช่น การขึ้นทะเบียนเป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไปไต้หวัน และจะต้องแนบใบรับรองสุขอนามัยผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเปิดให้แสดงความเห็นต่อการแก้ไขระเบียบได้ภายใน 60 วันนับจากวันประกาศ (สิ้นสุดวันที่ 11 สิงหาคม 2566) 

ทั้งนี้ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่สำคัญอันดับ 1 ของไต้หวัน โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 37 ของการนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมดของไต้หวัน การผ่อนคลายกฎระเบียบการนำเข้าโดยลดขอบเขตสินค้าที่ต้องควบคุมหรือจัดระเบียบการนำเข้า นับว่าเป็นผลดีกับการส่งออกของไทยมายังไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันชาวไต้หวันหันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยจากข้อมูลของคณะกรรมการการเกษตรไต้หวันชี้ว่า ปี 2565 มีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมวในไต้หวันรวมทั้งสิ้นเกือบ 3 ล้านตัว และหากรวมถึงสุนัขและแมวที่ไม่ได้รับการฝังชิพ น่าจะมีจำนวนรวมมากกว่า 5 ล้านตัว จึงถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพของไทย

แม้แต่ในตลาดแอฟริกา นายอภิรักษ์ แพพ่วง  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้ รายงานเพิ่มเติมว่า ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในแอฟริกาใต้เป็นตลาดใหญ่เนื่องจากประชากรนิยมเลี้ยงสุนัขและแมว แม้อุตสาหกรรมในแอฟริกาใต้จะมีการผลิตเองในประเทศ แต่ความต้องการยังไม่เพียงพอเนื่องจากมีการส่งออกไปประเทศใกล้เคียงด้วย ดังนั้น ตลาดแอฟริกาใต้จึงเป็นตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่น่าสนใจของผู้ส่งออกไทยที่ต้องการขยายตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมายังภูมิภาคนี้ ซึ่งไทยก็ส่งมาแอฟริกาใต้ แต่มูลค่ายังไม่สูงนัก ปีละประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 68 ล้านบาท)