วันอาทิตย์ ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:48 น.

เศรษฐกิจ

คมนาคม ลงพื้นที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน หนุนการค้าชายแดน 

วันจันทร์ ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566, 17.15 น.

คมนาคม ลงพื้นที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน หนุนการค้าชายแดน 

 

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รชค.) มอบหมายให้ นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเชียงราย และตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 (ทชส.) พร้อมเข้าร่วมการประชุมหารือกับผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคม ส่วนราชการท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรและผู้ประกอบการขนส่งสินค้า โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานในการประชุมหารือ พร้อมรับฟังความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการส่งออก โค กระบือ สินค้าทางการเกษตรส่งออก และติดตามการเพิ่มศักยภาพการขนส่งและการค้าชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง

        

ทั้งนี้ นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. ได้บรรยายสรุปการดำเนินงานและแนวทางการพัฒนาท่าเรือสำหรับการส่งออกสัตว์มีชีวิต ณ ห้องประชุม ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน แห่งที่ 2 (ทชส.) อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อย่างไรก็ตาม ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 (ทชส.) ถือเป็นประตูการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 

 

          

ซึ่งปัจจุบันการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างรวดเร็ว ซึ่ง ทชส. มีศักยภาพและมีบทบาท ในการเชื่อมการขนส่งสินค้าในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานของรัฐ จะต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างเช่น การปรับปรุง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของ ทชส. ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันหาแนวทางดำเนินการให้ประสบความสำเร็จและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผลสูงสุด 

       

กทท. จะเร่งดำเนินการศึกษาแนวทางการพัฒนาและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า ด่านกักกันสัตว์เชียงราย ฯลฯ เพื่อหาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมในการให้ ทชส. เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายโค กระบือ และส่งออกสัตว์มีชีวิต โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศและข้อบังคับ รวมถึงป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ส่วนด่านกักกันสัตว์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็จะได้หารือถึงขั้นตอนการส่งออกเพื่อให้มีความเหมาะสมต่อไป อย่างไรก็ตาม กทท. ก็ยังเน้นย้ำสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อผลักดันให้มีการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ให้มากขึ้นด้วย โดยที่ผ่านมา ผู้ว่าการเมืองจิ่งหง มณฑลยูนนาน ได้เดินทางมาแลกเปลี่ยนข้อหารือกับ จ.เชียงราย และ ทชส. แล้ว

       

นอกจากนี้ “กทท.และ ทชส. ยังมีแผนพัฒนาการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการลงทุน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย เพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้มาตรฐานสากล” โดย ทชส. ได้มีแผนการพัฒนาฯ ปี 2566-2570 โดยมีโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการส่งเสริมความร่วมมือท่าเรือกวนเหล่ย ประเทศจีน โครงการเขตปลอดอากร(Free Zone) และโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต เป็นการสนับสนุนการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การแปรรูปสินค้าเกษตร โดยจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถเชื่อมโยงการค้า จีน-อินเดีย ผ่านทางท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน แห่งที่ 2 ด้วยการบริการในแบบท่าเรือพาณิชย์สากล ทำให้มั่นใจได้ว่าได้รับบริการที่มีมาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและประหยัด