เศรษฐกิจ
“ฮิวมิค” วัตถุพลอยได้จากการทำเหมืองแม่เมาะ ธาตุอาหารดินชั้นเลิศ ตัวช่วยเกษตรกรไทยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ตอบโจทย์ BCG Economy Model
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
“ฮิวมิค” วัตถุพลอยได้จากการทำเหมืองแม่เมาะ ธาตุอาหารดินชั้นเลิศ
ตัวช่วยเกษตรกรไทยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ตอบโจทย์ BCG Economy Model
ประเทศไทยได้ประกาศใช้โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยแบบใหม่ หรือ BCG Economy Model ในเวทีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Conference of the Parties: COP26 ปี พ.ศ. 2564 เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตควบคู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
BCG Economy Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมใน 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยนำขยะเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่มิได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญควบคู่กับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ผลิตไฟฟ้าหลักโดยใช้เชื้อเพลิงหลากหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ “ถ่านหินลิกไนต์” จากเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ได้นำ BCG Economy Model มาใช้จนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยการนำ “ลีโอนาร์ไดต์ (Leonardite)” ที่ปะปนอยู่ในหน้าดินจากการเปิดเหมือง ซึ่งมีอินทรียวัตถุสำคัญ ได้แก่ กรดฮิวมิค กรดฟูลวิค และฮิวมิน สามารถนำมาใช้ปรับปรุงดินที่เสื่อมสภาพให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูก และเมื่อนำมาวิจัยคัดแยกสิ่งเจือปนต่าง ๆ จนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ฮิวมิคแบบน้ำ พบว่ามีคุณสมบัติที่ดีมากมาย โดยเฉพาะอินทรียวัตถุที่มีปริมาณสูง มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชหลายชนิด และยังพบว่าปริมาณธาตุโลหะหนักทุกชนิดมีค่าดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปรับปรุงดิน การบำบัดน้ำเสีย หรือใช้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
โรงงานต้นแบบผลิตฮิวมิคแบบน้ำจึงได้รับการจัดตั้งขึ้น โดยมีขนาดกำลังผลิตประมาณ 32,000 ลิตรต่อเดือน ในอนาคตยังมีศักยภาพที่จะขยายกำลังผลิตได้มากกว่า 100,000 ลิตรต่อเดือน ที่ผ่านมาได้นำมาใช้บำรุงต้นไม้ในพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงได้ทดลองจำหน่ายฮิวมิคแบบน้ำในตลาดครั้งแรก 10,000 ลิตร ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากมาย เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายทั่วไปในท้องตลาดแล้ว กฟผ. จำหน่ายในราคาย่อมเยา เพื่อสนับสนุนชุมชนและเกษตรกรให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดค่าใช้จ่ายในการทำเกษตรกรรมลงได้ ในอนาคตปริมาณความต้องการใช้งานฮิวมิคทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละมากกว่า 10% รวมถึงประเทศไทยที่มีการนำฮิวมิคมาใช้อย่างแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น ฮิวมิค กฟผ. จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับเกษตรกรไทยได้เข้าถึงฮิวมิคในราคาที่จับต้องได้ แทนการใช้ฮิวมัส ซึ่งเป็นอินทรียวัตถุที่เกิดจากการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์
- “บริษัทฯ ปลูกสับปะรด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไผ่ รวมประมาณ 3,600 ไร่ ด้วยสภาพดินที่มีความสมบูรณ์ต่ำ จึงหาวิธีพัฒนาดินให้สมบูรณ์ ทราบว่าต่างประเทศได้นำฮิวมัสมาใช้เป็นสารปรับปรุงดินมาเป็นเวลานานและมีประสิทธิภาพ จึงได้นำมาเริ่มทดลองใช้ในแปลงตัวอย่าง โดยใช้ควบคู่กับโปรแกรมการให้น้ำและปุ๋ยเดิม ซึ่งก็พบว่าสภาพดินมีความสมบูรณ์ขึ้น สภาพลำต้นแข็งแรงมากขึ้น อัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ติดดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ฮิวมัสช่วงแรกมีความถี่ค่อนข้างสูง เฉลี่ยทุก 14 วัน ในขณะที่ราคาฮิวมิคก็ค่อนข้างสูง ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ตลอด และเมื่อนำมาคำนวณต้นทุนต่อไร่แล้ว ไม่คุ้มค่ากับผลผลิตที่ได้รับ เมื่อทราบว่ามีผลิตภัณฑ์ฮิวมิคจาก กฟผ. จำหน่ายในราคาที่จับต้องได้ เกษตรกรสามารถใช้งานได้ จึงทำเรื่องเสนอซื้อก็คุ้มค่าค่ะ” – นางสาวเพิ่มศิริ ศิริจินดาพันธ์ รองประธานกรรมการบริษัท ควินท์ แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ใช้ฮิวมิครายหนึ่ง
- “เดิมทีได้ใช้ฮิวมัสในพื้นที่การเกษตรมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่ระยะหลังหาซื้อยาก สินค้าขาดตลาด ผนวกกับทราบข่าวว่า กฟผ. ผลิตและทดลองจำหน่ายฮิวมิคแบบน้ำ และได้รับผลิตภัณฑ์ตัวอย่างมาทดลองใช้เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อทดลองใช้ก็พบว่า พืชผลทางการเกษตรมีผลผลิตสมบูรณ์แข็งแรง โตเร็ว ใบเขียว สวยงาม” – นางสาวเพ็ญศรี ขัตตะ ผู้ใช้ฮิวมิคอีกราย
“ฮิวมิค” ของ กฟผ. นับเป็นการนำวัตถุพลอยได้หรือของที่ต้องทิ้งจากการทำเหมืองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สอดคล้องกับ BCG Model ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมทั้ง 3 มิติ อย่างชัดเจน ผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่