วันศุกร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 01:24 น.

เศรษฐกิจ

ผู้ว่าการรถไฟฯเชื่อปลายมี.ค.นี้ เซ็นรถไฟไทย-จีนสัญญา4-5ได้

วันอาทิตย์ ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2567, 22.08 น.

ผู้ว่าการรถไฟฯเชื่อปลายมี.ค.นี้ เซ็นรถไฟไทย-จีนสัญญา4-5ได้

       

นายนิรุฒ  มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงนามในสัญญา โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว คาดว่าจะได้ลงนามภายในเดือนมีนาคม2567 ภายหลังเคยกำหนดว่าปลายปี2566 อย่างไรก็ตาม เอกชนผู้รับงานไม่ได้ติดใจในปัญหางานก่อสร้างสถานีอยุธยากรณีผลกระทบมรดกโลก โดยยอมรับเงื่อนไขการมีหรือไม่มีสถานีอยุธยาในภายหลังได้และรฟท.ได้ระบุเงื่อนไขนี้ในสัญญาซึ่งฝ่ายอัยการได้ตรวจสอบครบถ้วนแล้ว 

         

“เหตุที่การลงนามล่าช้าเนื่องจากเอกชนยังอยู่ระหว่างการตรวจความเรียบร้อยและแก้ไขถ้อยคำในสัญญา ซึ่งขณะนี้ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ประกอบกับเอกชนได้แจ้งยืนราคาถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งรฟท.เชื่อว่าเอกชนคงไม่แจ้งขยายเวลายืนราคาออกไปอีก ส่วนเรื่องการก่อสร้างสถานีอยุธยา ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลก เพื่อชี้แจงให้องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เข้าใจ” นายนิรุฒ กล่าว

         

นอกจากนี้ สำหรับความคืบหน้าโครงสร้างร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 กับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนั้น ขณะนี้รฟท.อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้รับงาน คือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CP) , บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD , China Railway Construction Corporation Limited, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM) เพื่อให้เอกชนเป็นผู้ก่อสร้างช่วงโครงสร้างร่วมดังกล่าว ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เอกชนต้องรับผิดชอบประมาณ 9,000 ล้านบาท 

         

ล่าสุดเอกชนได้เสนอเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกับการรับงานก่อสร้างโครงสร้างร่วมดังกล่าว โดยขอเจรจาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และการขอให้ฝ่ายรัฐทยอยจ่ายเงินค่าร่วมลงทุนให้เร็วขึ้น ซึ่งคาดว่าการเจรจาจะได้ข้อยุติภายในเดือนเมษายนนี้ จากนั้น รฟท.จะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)ตามขั้นตอนต่อไป