วันอาทิตย์ ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567 23:30 น.

เศรษฐกิจ

บวท.เผยแนวโน้มการบินของไทยฟื้นตัว เล็งเปิดเส้นทางบินใหม่

วันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567, 19.33 น.

บวท.เผยแนวโน้มการบินของไทยฟื้นตัว เล็งเปิดเส้นทางบินใหม่

 

 นายณพศิษฏ์  จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยถึงขณะนี้สถานการณ์การบินกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ปัจจุบันการเดินทางจากจีนเริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีเที่ยวบินบินเข้าไทยฟื้นตัวประมาณ 80% หากเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงตลาดอินเดียยังเป็นตลาดใหม่มาแรงที่เติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2567 บวท. คาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินบินเข้าไทยรวมกว่า 900,000เที่ยว เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีปริมาณ 800,000เที่ยว และจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติในปี 2568 มีจำนวน 1,000,000เที่ยว เช่นเดียวกับรายได้ของ บวท. ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 12,000ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 10,000 ล้านบาท และจะกลับสู่สถานการณ์ปกติในปี 2568 มีรายได้รวม 13,000ล้านบาท นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างหารือร่วม 3 ประเทศ เพื่อเตรียมนำข้อมูลเสนอไปยังสำนักงานการบินพลเรือนของแต่ละประเทศ ก่อนเสนอไปยังองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) พิจารณาอนุมัติ ตรวจสอบความปลอดภัยด้านการบิน ก่อนประกาศใช้เส้นทางบินใหม่นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ แล้วเสร็จเพื่อประกาศใช้เส้นทางบินใหม่ในต้นปี 2569

 

 

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เห็นสัญญาณว่าในภูมิภาคเอเชียจะมีอัตราการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะตลาดจีน และอินเดีย ปัจจัยจากปริมาณการสั่งซื้อเครื่องบินที่มีรวมมากกว่า 1,000ลำ ส่งผลให้ บวท.ต้องวางแผนบริหารน่านฟ้าให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือร่วม 3 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย ลาว และจีน ศึกษาความเหมาะสมของการเปิดเส้นทางบินใหม่ ที่จะรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 100,000 เที่ยวบินต่อปี เพิ่มเป็น 200,000เที่ยวบินต่อปี 

 

นอกจากนี้ ยังมีความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลโดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน วิทยุการบินฯ ได้จัดทำเส้นทางบินแบบคู่ขนาน (Parallel Routes) ทางด้านเหนือไปยังสนามบิน เชียงใหม่ เชียงราย และเส้นทางบินแยกย่อยไปยังสนามบินต่างๆ ในภาคเหนือ รวมถึงการเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างประเทศเพื่อรองรับเที่ยวบินจากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน เช่น คุนหมิง กุ้ยหยาง เฉิงตู เทียนฟู ฉงชิง ซีอาน ด้านตะวันออก ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศรองรับเที่ยวบินจากกัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย 

 

ในขณะที่ด้านใต้ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานในประเทศรองรับเที่ยวบินไปยังสนามบิน ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ รองรับเที่ยวบินจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ส่วน ด้านตะวันออกอยู่ระหว่างจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ เพื่อรองรับเที่ยวบินจากอินเดีย บังคลาเทศ และยุโรป  ทั้งนี้ การจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานใช้เทคโนโลยี Performance Based Navigation (PBN) ในการนำร่องแบบ RNAV2 ที่มีการกำหนด  ทิศทางการบิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศ ช่วยลดระยะทางการบิน ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศจากทุกทิศทาง