เศรษฐกิจ
สหภาพบินไทยฮือต้าน “นักการเมือง” หวั่นรัฐบาลโกงกินซ้ำรอยแผลเก่า
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

สหภาพแรงงานการบินไทย-พนักงานลุกฮือต้าน "นักการเมือง" แทรกแซง โวยลั่นเคยบริหารขาดทุนยับเยิน จวกปู้ยี่ปูยำจัดซื้อจัดจ้างจนขาดทุนบักโกรกไปสู่ล้มละลาย แต่พอฟื้นฟูสำเร็จจ้องส่งคนเข้ามาแทรกแซง หวั่นซ้ำรอยแผลเก่าบริหารขาดทุนย่อยยับเอาแต่กอบโกยผลประโยชน์ลอยนวล
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 สหภาพแรงงานการบินไทย ออกแถลงการณ์ "การเมืองต้องหยุดทำลายสายการบินแห่งชาติ" โดยมีรายละเอียดดังนี้ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ขาดสภาพคล่อง ขาดทุนอย่างหนักต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี จนต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง การฟื้นฟูกิจการดำเนินไป ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 จนถึงวันนี้ รวม 4 ปี 5 เดือน ด้วยความร่วมมือร่วมใจ ความสามัคคีของผู้บริหารแผนและพนักงานทุกคนทุกระดับ อดทน มุ่งมั่น ฟันฝ่ากับปัญหาอุปสรรคนานาประการ สามารถพลิกฟื้นวิกฤตการขาดทุนกลับมามีกำไรได้ตามแผน
สหภาพแรงงานการบินไทย ขอยืนยันว่า สาเหตุที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ขาดทุนนับแสนล้านบาท เกิดจาก ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นองค์กรที่ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่โปร่งใส ตรวจสอบ ไม่ได้ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปนั้น เกิดขึ้นจาก "ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล" ทั้งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังที่ถูกส่งเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริษัท (บอร์ค) ทั้งสิ้น เช่น การเปิดเส้นทางบิน กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก การจัดซื้อจัดหา เครื่องบิน A-340 จำนวน 10 ลำ แต่เมื่อใช้บินจริงแล้วไม่คุ้มค่า สร้างภาระการขาดทุนสะสมทุกเที่ยวบิน จนต้องปลด ระวางเครื่องบิน A - 340 การแต่งตั้งโยกย้ายที่ต้องทำตามใบสั่งนักการเมืองผ่านบอร์ด สร้างความขัดแข็งแตกแยกภายใน การทุจริตการจัดซื้อ การกำหนด นโยบายที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้การบินไทยแข่งขันได้อย่างเสรี
การขาดทุนสะสมจากการแสวงหาผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจผ่านตัวแทนรัฐบาลทำให้บริษัทการบินไทยและพนักงานต้องแบกภาระ "การขาดทุน" จนในที่สุดต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ นำมาสู่การเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากกว่าหมื่นคน สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนแสนสาหัสให้กับพนักงานและครอบครัว ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือชื่อเสียงเกียรติภูมิของสายการบินแห่งชาติ ที่คนไทยทุกคนได้ร่วมกันสร้าง สนับสนุน ส่งเสริมด้วยความ ภูมิใจยาวนานกว่า 60 ปี ได้ถูกทำลายลงด้วยนโยบายของ "การเมืองทุจริต"
นับจากปี พ.ศ. 2563 ถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 4 ปีกว่า ที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้บริหารแผน 3 คน ร่วมกับพนักงานทุกระดับได้ ดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการทุก ขั้นตอน จนสามารถรักษาการบินไทย ไว้ได้และประกาศผลประกอบการมีกำไร เพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ และจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในกลางปี 2568 ได้ โดย ไม่ต้องมี"ภาครัฐ" เข้ามาช่วยเหลือ
จากบทเรียนในอดีตที่ฝ่ายการเมืองคือปัญหาที่ทำให้การบินไทยเกือบล้มละลาย จึงเป็นเรื่องที่สหภาพแรงงานการบินไทยไม่อาจยอมรับได้ที่ฝ่ายการเมืองจะส่งผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม 1 คน และจากกระทรวงการคลัง 1 คน เข้าเป็นผู้บริหารแผนเพิ่มขึ้นจากตัวแทนกระทรวงการคลังที่มีอยู่แล้ว 1 คน รวมเป็นตัวแทนจากภาครัฐ 3 คนจะทำให้ "ภาครัฐ"เป็นเสียงข้างมากที่มีอำนาจในการบริหารแผนฟื้นฟู สามารถปรับเปลี่ยนแผนงาน ปรับเปลี่ยนนโยบายที่ได้ดำเนินงานมาด้วยดีไม่มีปัญหาการทุจริต ตลอดระยะเวลา 4 ปีกว่า
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้พนักงานการบินไทยทุกคนต้องทำงานหนักมากเพื่อให้การบินไทยเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน เพื่อให้สายการบิน แห่งชาติมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน ให้คนไทยทุกคนได้ภูมิใจในสายการบินของคนไทย ที่ผู้ใช้บริการทั่วโลกเชื่อมั่นในการบริหารด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
สหภาพแรงงานการบินไทย "ขอคัดค้านการส่งผู้แทนภาครัฐ 2 คนจากกระทรวงคมนาคม และกระทรวง การคลัง เพิ่มเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ" ให้พนักงานบริษัทการบินไทย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจการบิน สะสมประสบการณ์มายาวนานกว่า 60 ปี ได้ใช้ความรู้ ความสามารถโดยอิสระ ปราศจากการแทรกแซง แสวงหาผลประโยชน์จากฝ่ายการเมืองเช่นในอดีต
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้นัดประชุมเจ้าหนี้ผ่านระบบออนไลน์เพื่อพิจารณาแก้ไขแผนฟื้นฟู โดยมีวาระสำคัญ คือขอมติที่ประชุมโหวตเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 คน จากกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย 1.นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และ 2.นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
โดยเป็นการเสนอวาระพิจารณาเพิ่มเติม ก่อนกำหนดประชุมเจ้าหนี้เพียง 3-4 วัน ส่งผลให้ตัวแทนเจ้าหนี้ในกลุ่มสหกรณ์หลายแห่ง เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับการปรับเพิ่มสัดส่วนผู้บริหารแผนฟื้นฟูจากภาครัฐ พร้อมเสนอเลื่อนการประชุมพิจารณาออกไป เป็นวันที่ 29 พ.ย.2567 อย่างไรก็ตามช่วงของการเปิดลงมติ มีเจ้าหนี้บางส่วนเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อขอเลื่อนลงมติออกไปก่อนโดยเฉพาะวาระ 3 เรื่องการพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู เนื่องจากวาระนี้ ถูกเสนอเข้ามาในเวลากระชั้นชิด เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กำหนดเลื่อนการลงมติออกไปทั้ง 3 วาระ เป็นวันที่ 29 พ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม ได้มีสมาชิกสหภาพแรงงานการบินไทย และพนักงานการบินไทยจำนวนหนึ่ง รวมพล ในนาม"คนรักการบินไทย"ที่บริเวณหน้าอาคาร 1 สำนักงานใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อแสดงจุดยืนปกป้องการบินไทยจากภัยการเมือง พร้อมชูป้ายต่างๆ ด้วย
โดยนางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานการบินไทย เรียกร้องให้กระทรวงการคลังปล่อยให้บริษัทการบินไทยเดินหน้าแผนฟื้นฟู กิจการฯโดยไม่แทรกแซงการทำงานผ่านคณะกรรมการบริหารแฟนฟื้นฟูฯซึ่งอาจเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจการเมืองตั้งบอร์ดบริษัท ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง จนสร้างความเสียหายต่อบริษัทการบินไทยเหมือนในอดีต
โดยสหภาพแรงงานการบินไทยแจ้งว่าจากกรณีที่กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้และในฐานะที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท ได้มีหนังสือมายังบริษัทการบินไทยเพื่อเสนอให้เพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูจำนวน 2 ราย จากกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ 8 พ.ย. 2567 เพื่อพิจารณาข้อเสนอ โดยกระทรวงการคลัง ขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 2 ราย ได้แก่นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
โดยเรื่องที่เกิดขึ้น ทางสหภาพแรงงานการบินไทย มองว่าตอนการบินไทยล้ม บาทเดียวก็ไม่ช่วย ไม่จ่าย พอมีกำไร จะมาเพิ่มทุน หากสมาชิกสหภาพการบินไทย และพนักงานยังนิ่งดูดายการเมืองก็จะเข้ามาแทรกแซงและต่อมาก็คงจะเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทต่อไป สหภาพแรงงานการบินไทย จึงเรียกร้องให้คนที่รักและหวงแหนการบินไทย สละเวลาและพร้อมใจกันมาร่วมกันรวมพลังในครั้งนี้
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่