วันอาทิตย์ ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2567 01:53 น.

เศรษฐกิจ

กทพ.ครบรอบ 52ปี เดินหน้าสานต่อโครงการ

วันพุธ ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567, 15.48 น.

กทพ.ครบรอบ 52ปี เดินหน้าสานต่อโครงการ

 

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังครบรอบวันสถาปนา 52ปี โดยมีนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เป็นประธานในงาน ว่ากทพ. ได้เปิดให้บริการทางพิเศษรวม 8 สายทาง รวมระยะทาง 224.6 กิโลเมตร เช่น ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก และทางพิเศษประจิมรัถยา โดยมีรายได้68.7ล้านบาทต่อวัน  ปริมาณรถยนต์ที่ใช้บริการ 1.7ล้านคันต่อวัน ซึ่งภายใน 10 ปีข้างหน้า มีแผนลงทุนสร้างทางด่วนเพิ่มอีก 11 สาย ประมาณ 200 กม. ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด วงเงินรวมประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยทุกเส้นทางมีกำไร สามารถนำส่งรายได้ให้กับรัฐบาลได้ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการ คือ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2568 และโครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) ที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2568

 

สำหรับการก่อสร้างสะพานทศมราชันแล้วเสร็จ 100% โดยคณะผู้บริหาร และพนักงาน กทพ. รู้สึกปลื้มปีติ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานทศมราชัน ในวันที่ 14 ธ.ค. 67 เวลา 17.00 น. หลังจากนั้นจะมีการจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ ให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมเฉลิมฉลอง ส่วนจะเป็นกิจกรรมรูปแบบใด อยู่ระหว่างการพิจารณา

 

 

 “ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อกำหนดวันเปิดใช้งานสะพานทศมราชัน โดยใช้ทางขึ้นลงที่บริเวณสุขสวัสดิ์ก่อน ซึ่ง กทพ. ตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดให้บริการอย่างเร็วที่สุดช่วงปลายปี 67 และอย่างช้าไม่เกินเดือน ม.ค. 68 ปัจจุบันสะพานพระราม 9 มีปริมาณการจราจร 1.5-2 แสนคันต่อวัน เมื่อเปิดให้บริการสะพานทศมราชัน จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบนสะพานพระราม 9 ได้ ปัจจุบันการก่อสร้างทางขึ้นลงมีความคืบหน้าประมาณ 98% งานโครงสร้างเสร็จแล้ว เหลือเพียงเก็บรายละเอียด ส่วนการเปิดใช้งานตลอดทั้งสาย 18.7 กม. ยังคงเป้าหมายเดิมเปิดให้บริการกลางปี 68 ภาพรวมการก่อสร้างโครงการฯ ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 85%”นายสุรเชษฐ์ กล่าว

 

นอกจากนี้ กทพ. มีแผนการขยายเส้นทางทางพิเศษไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2568 และโครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 รวมทั้งการทางพิเศษฯ ยังมีโครงการสำคัญในเขตเมืองที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการทางยกระระดับชั้นที่ 2   (ช่วงงามวงศ์วาน -พระราม 9) โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก และโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และยังมีแผนการขยายเส้นทางทางพิเศษไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ ๑ (ช่วงกะทู้- ป่าตอง) และ ระยะที่ ๒ (ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้) รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี และโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด