วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 15:39 น.

เศรษฐกิจ

ขร.มั่นใจรถไฟเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ เสร็จตามแผน

วันศุกร์ ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567, 21.07 น.

ขร.มั่นใจรถไฟเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ เสร็จตามแผน

 

 

นายพิเชฐ  คุณธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.)  เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางรถไฟเด่นชัย - เชียงราย – เชียงของ ว่าโครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทางรวมประมาณ 323.1 กม. เป็นทางกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge) มีจำนวนสถานีรถไฟทั้งสิ้น 26 สถานี โดยเริ่มต้นที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และสิ้นสุดที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งทางรถไฟมีทั้งรูปแบบทางวิ่งระดับพื้นดิน ทางยกระดับ และอุโมงค์คู่ทางเดี่ยวจำนวน 4 อุโมงค์ ประกอบไปด้วย อุโมงค์สอง ความยาว 1.175 กม. อุโมงค์งาว ความยาว 6.24 กม. อุโมงค์แม่กา ความยาว 2.7 กม. และอุโมงค์ดอยหลวง ความยาว 3.4 กม. นอกจากนี้แล้วยังมีการออกแบบก่อสร้างสะพานรถไฟ (Railway Bridge) ทางยกระดับข้ามทางรถไฟ (Overpass) ทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) และรูปแบบอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟ ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการไปแล้วกว่า 20 %

 

       

“ภายหลังนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการก่อสร้างอุโมงค์ดอยหลวง จ.เชียงรายอุโมงค์งาว จ.ลำปาง ว่ามีความคืบหน้ากว่าแผนที่กำหนด อย่างไรก็ตาม มั่นใจโครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย -เชียงราย-เชียงของนั้น จะแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด ในปี 2571 นอกจากนี้ ในการก่อสร้างโครงการยังได้นำเทคโนโลยีจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาใช้ในโครงการนี้เป็นโครงการแรกของประเทศไทย โดยการก่อสร้างทางลอดใต้ทางรถไฟแบบโค้ง (Railway Arch Culvert / BEBO) ซึ่งนำมาใช้ โดยก่อสร้างด้วยคอนกรีตหล่อเสริมเหล็กแบบโค้งสำเร็จรูปจากโรงงาน ใช้ระยะเวลาติดตั้งฐานราก 12วัน โดยทั้งโครงการมีทั้งหมด 20 จุด นอกจากนี้ จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในโครงการรถไฟทางคู่ บ้านไผ่-นครพนม อีกด้วย ส่วนในโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2นั้น จะต้องมีการศึกษาว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นเส้นทางรถไฟเดิม ซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบได้จึงต้องศึกษาอีกครั้ง”นายพิเชฐ กล่าว

      

อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางรางได้ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำมาตรฐานระบบระบายน้ำโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและจัดทำมาตรการลดความเสี่ยงต่อภัยในระบบราง โดยศึกษาเส้นทางรถไฟบริเวณที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก รวมถึงดินถล่ม ทางทรุด เพื่อนำมาออกแบบงานโครงสร้างเพื่อป้องกันและลดความเสียหายต่อทางรถไฟในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น และมีการศึกษาจากตัวอย่างภัยพิบัติต่อระบบรางและแนวทางการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหากรณีเกิดภัยต่อระบบรางจากต่างประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย จีน และประเทศไทย พร้อมทั้งมีการลงพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดที่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมทางรถไฟ ดินถล่มในอดีต รวมถึงวิเคราะห์และพิจารณาในรายละเอียดของอิทธิพลจากน้ำฝน สภาพภูมิประเทศ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร มีลักษณะเป็นเขตร้อนชื้น มีฝนตก 6 -7 เดือน/ปี จึงทำให้น้ำฝนเป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างมากต่อการเกิดภัยในระบบรางของประเทศไทย ซึ่งจะมีการจัดทำมาตรฐาน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. มาตรฐานโครงสร้างระบบระบายน้ำ สำหรับการแก้ไขภัยพิบัติในพื้นที่ 2. เกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) สำหรับโครงสร้างมาตรฐานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ 3. ระบบแจ้งเตือนที่จะสามารถแจ้งเตือน เมื่อเริ่มมีสัญญาณของการเกิดภัยพิบัติ 

       

ทั้งนี้ สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการออกแบบมาตรฐานโครงสร้างระบบระบายน้ำ รวมถึงได้คัดเลือกจุดที่มีความเสี่ยงสูง 10 จุดนำมาออกแบบและจัดทำรายการประมาณการราคา รวมถึงแผนการดำเนินงานแก้ไขระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อส่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน และนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ในอนาคต อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นส่วนช่วยในการวางแผน เพื่อการออกแบบโครงสร้างทางรถไฟให้สามารถรองรับเหตุภัยบัติเมื่อเกินฝนตกหนักได้