วันพุธ ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 03:33 น.

เศรษฐกิจ

“ยูเนสโก” จ่อตรวจพื้นที่สร้างสถานีอยุธยา ม.ค.68 รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

วันอังคาร ที่ 03 ธันวาคม พ.ศ. 2567, 09.18 น.

“ยูเนสโก” จ่อตรวจพื้นที่สร้างสถานีอยุธยา ม.ค.68 รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

      

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว วงเงิน 9,600 ล้านบาท ว่า องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) โดยได้แจ้งว่าจะตรวจเยี่ยมพื้นที่ก่อสร้างในโครงการ ช่วงสถานีอยุธยาระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2568 ทั้งนี้ ไทยไม่จำเป็นต้องรอให้ยูเนสโกอนุมัติจึงจะสามารถก่อสร้างสัญญา 4-5 ได้ เนื่องจากตามหนังสือที่ยูเนสโกแจ้งมาก่อนหน้านี้ไม่ได้ห้ามก่อสร้าง แต่ให้ไทยจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (HIA) ให้เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการแล้ว และได้นำส่งให้ยูเนสโกแล้ว 

        

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยระบุเช่นเดียวกันว่า ยูเนสโกไม่ได้ขัดขวางและไทยสามารถเดินหน้าการก่อสร้างสัญญา 4-5 ได้ตามแบบเดิม คือมีการก่อสร้างสถานีอยุธยา ดังนั้นจึงต้องขึ้นอยู่กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แล้วว่าจะตัดสินใจลงนามกับผู้รับงาน คือ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ในเครือ บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ว่าพร้อมดำเนินการเมื่อไหร่

           

สำหรับแผนการเดินรถโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทางรวม 606 กิโลเมตร (กม.) นั้น ขณะนี้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้นำส่งกรอบรายละเอียดมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาแล้ว โดยขร.เสนอว่าควรจ้างเอกชนรับงานเดินรถในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ประเภท Gross Cost คือ เอกชนต้องลงทุนจัดหารถ ติดตั้งระบบ พร้อมทำการเดินรถ ซ่อมบำรุง และเก็บค่าโดยสารส่งรัฐ โดยรัฐจะทยอยชำระคืนเงินลงทุนตามระยะเวลาที่ตกลงกัน พร้อมชำระเงินค่าจ้างเดินรถแบบกำหนดราคาคงที่ เช่น เดียวกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ทั้งนี้ ขร.ระบุว่า เหตุที่เสนอให้ใช้วิธี PPP ประเภท Gross Cost นั้น เพื่อให้รัฐสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสารได้ เพราะรถไฟความเร็วสูงเป็นการให้บริการสาธารณะประเภทหนึ่ง 

      

สำหรับขั้นตอนจากนี้ทางกระทรวงคมนาคมจะรายงานเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณเดือนมกราคม 2568 จากนั้นจะมีการศึกษารายละเอียดโครงการตามมาตรา 22 พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562  สำหรับขบวนรถและระบบต้องใช้จากจีน ซึ่งตามแผนแล้วรถไฟไทย-จีนเฟส 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม.จะเปิดบริการประมาณปี 2570 ส่วนเฟสที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. คาดว่าจะได้เปิดประกวดราคากลางปี 2568 และเปิดบริการปี 2571